ไม่พบผลการค้นหา
‘ปิยบุตร’ เสวนา ‘การเมืองแห่งความหวัง’ เล่าที่มาผลงานหนังสือเล่มล่าสุด ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ หวังอยากเห็นนักเขียนสายอนุรักษ์นิยมที่ให้ความรู้มากกว่ากล่าวหาคนอื่นว่า ‘ชังชาติ’ หรือ ติดอยู่ในยุคสงครามเย็น

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ร่วมงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ ‘การเมืองแห่งความหวัง’ ที่ร้านหนังสือก็องดิด ซึ่งเล่าเรื่องราวของการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เห็นว่าวิธีคิดแบบอนาคตใหม่มันไม่ได้อันตรายต่อสังคม แต่ตรงกันข้ามมันจำเป็นสำหรับประเทศไทย โดยเนื้อหารวบรวมจากบทสัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ และผ่านประสบการณ์ในการใช้ทักษะต่างๆ ของตนในการพูดทั้งเวทีปราศรัยและในรัฐสภา การฟังประชาชน และสมาชิกพรรค รวมทั้งการอ่านสื่อต่างๆ

อย่างไรก็ตาม นายปิยบุตรกล่าวว่าเสียใจที่รวมเรื่องที่ตนอภิปรายเรื่อง พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ เข้าไปในหนังสือไม่ทัน

พร้อมกับระบุว่า ตนตั้งใจจะเขียนหนังสือปีละเล่ม ซึ่งพอหลังจากทำงานการเมืองก็ไม่มีเวลาเขียนเหมือนเมื่อก่อน ก่อนหน้านี้วางแผนจะเขียนหนังสือ 3 เล่มเป็นซีรีส์เกี่ยวกับ รัฐธรรมนูญ, ศาลรัฐประหาร, และการมองเผด็จการผ่านปรัชญา เพื่อให้คนอ่านได้คิดใหม่เกี่ยวกับบทบาทของศาลและรัฐธรรมนูญ ว่าไม่ใช่เหมือนที่เคยเรียนและท่องจำมา

หลังจากปี 2557 ทำให้ตนได้เห็นว่าจะมองศาลรัฐธรรมนูญ เผด็จการ และทหารแบบเดิมไม่ได้ เช่น รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของบทบัญญัติ แต่เป็นเรื่องการร้องเรียนและคดีความ มองในมุมของอำนาจและการมีชีวิตของรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยที่เปลี่ยนรัฐธรรมนูญไม่จบไม่สิ้น ไม่ใช่เพราะนักการเมืองโกง แต่มันอยู่ที่ว่าอำนาจในการเขียนรัฐธรรมนูญอยู่ที่ใคร? ซึ่งเล่มสุดท้ายยังเขียนไม่เสร็จ และมีโครงการเขียนหนังสืออีกหนึ่งเล่มเล่าประสบการณ์ในทางการเมือง การเอาความรู้ทางวิชาการมาอภิปรายในสภา การใช้เทคนิคลูกเล่นในการอภิปรายและชิงไหวชิงพริบในทางการเมือง

ต่อมาเรื่องศาล ซึ่งเป็น political actor เป็นผู้เล่นตัวหนึ่งในทางการเมืองที่เข้าไปใช้อำนาจ แบ่งปันอำนาจ เหมือน ครม. NGOs ศาลมีชุดความคิดของศาลขึ้นอยู่กับแนวคิดของตุลาการว่าเป็นอนุรักษ์นิยม หรือก้าวหน้า

อ.ปิยบุตร เล่าหนังสือ

เมื่อพิธีกรถามถึงงานเขียนของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายปิยบุตร กล่าวว่า นายวิษณุ คือนายภาษา เป็นนักเล่าเรื่อง ฟังไปเรื่อยๆ แล้วเคลิ้มตาม ซึ่งนายวิษณุเขียนหนังสือ 3 กลุ่มคือ ตำรากฎหมายช่วง พ.ศ. 2520-2530 หลังจากนั้นเข้าสู่วงการการเมือง, กลุ่มที่สองคือเล่านิทาน คือ เรื่องราวในอดีตโยงมารับใช้อุดมการณ์การเมืองของผู้เขียน ถ้าคนอ่านหลักไม่แน่น อ่านแล้วจะเคลิ้ม จนอาจจะไม่ชอบคณะราษฎรได้, กลุ่มที่สามคือเรื่องเล่า เป็นประวัติศาสตร์ของคนที่อยู่ในเหตุการณ์จริงๆ จะเล่าหมดหรือไม่หมดอยู่ที่เขา อาจเล่าเกินเล่าขาดก็ได้ เป็น oral history ซึ่งเล่มที่ตนชอบคือ ครัว ครม.

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ปกติงานเขียนด้านนี้มีสองสายคือสนับสนุนพระราชอำนาจและสนับสนุนคณะราษฎร ซึ่งจำเป็นที่ต้องอ่านงานสองสาย โดยเฉพาะงานสายที่ตรงข้ามกับแนวคิดของตัวเอง น่าเสียดายที่งานอนุรักษ์นิยมและจารีตนิยมมีน้อยลง แล้วที่ปรากฎตัวในสื่อส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยให้ความรู้ มีแต่คำว่าชังชาติ ล้มเจ้า และสงครามเย็น ตนจึงขอแนะนำผู้เขียนงานในสายนี้ที่น่าอ่านคือ ศาสตราจารย์ ไชยันต์ ไชยพร, รศ.ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์, และวินทร์ เลียววาริณ ทั้งนี้ตนก็อยากให้มีนักคิดนักเขียนสายอนุรักษ์นิยม ชวนกันสู้ทางปัญหา เลิกคิดแบบกล่าวหาผู้อื่นว่าชังชาติ

ขณะเดียวกันนายปิยบุตร ยังกล่าวถึง สังคมไทยว่าในอดีตชนชั้นนำเอาความรู้ตะวันตกมาสนับสนุนอำนาจของตัวเอง แต่พอปัจจุบันนี้ชนชั้นกลางเอาความรู้พวกนี้มาบ้างกลับไม่ยินยอม ซึ่งไม่ถูกต้องเพราะความรู้จะเกิดขึ้นก็เมื่อเรานำความรู้เหล่านี้เอามาประยุกต์ใช้และมาคิดต่อ

นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส. กทม. พรรคแนาคตใหม่ ถามนายปิยบุตร ว่า ถ้าอาจารย์แนะนำหนังสือให้ฝ่ายรัฐบาลอ่านได้จะแนะนำหนังสือเรื่องไหน นายปิยบุตร กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลดูซีรีส์ Game of Thrones มากกว่าเพราะหนังสือค่อนข้างยาว โดยเฉพาะตอนที่ลอร์ดวาริสคุยกับแลนนิสเตอร์ ถามถึงคนที่มีอำนาจที่สุดระหว่างกษัตริย์ นักบวช เศรษฐี แต่แลนนิสเตอร์กลับตอบว่ากองโจรเพราะมีกำลังคนและอาวุธ แต่ลอร์ดวาริส กลับอธิบายว่าอำนาจของกองโจร บางครั้งก็แค่ตัวเล็กนิดเดียว แต่แค่ไปอยู่ในเงามืดที่ใหญ่เฉยๆ

อ.ปิยบุตร เล่าหนังสือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :