ไม่พบผลการค้นหา
‘พรรคเพื่อไทย’ ปลุกเร้าต่อเนื่อง ล่าสุดมีการตั้งศูนย์ปฎิบัติการเลือกตั้ง ส.ส. พรรคเพื่อไทย ขึ้นมา มีชื่อผู้บริหารศูนย์กว่า 55 คน แต่ที่ถูกโฟกัสคือชื่อ 2 ที่ปรึกษา คือ ‘โอ๊ค’พานทองแท้ ชินวัตร และ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เท่ากับว่า ‘บ้านชินวัตร’ เอาจริงกับศึกเลือกตั้งครั้งหน้า

อีกด้านก็เป็นเสมือนการ ‘ผ่องถ่าย’ สิ่งต่างๆจาก ‘รุ่นพ่อ’ คือ อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร กับ มาสู่ ‘รุ่นลูก’ มากขึ้น ในการสอนต่อภารกิจ ‘พรรคเพื่อไทย’ ต่อไป

ฝั่งพรรคเพื่อไทยรู้ถึง ‘ชะตากรรม’ ในการจัดตั้งรัฐบาล หากไม่สามารถ ‘แลนด์สไลด์’ ได้ โอกาสจัดตั้งก็จะกลับไปที่ ‘ขั้วอำมาตย์’ ผ่านเครือข่าย ‘ระบอบ 3ป.’ เช่นเดิม แต่อยู่ที่ว่าจะชูใคร ขึ้นเป็นนายกฯ เพราะในขณะนี้เริ่มมีการพูดถึง ‘นายกฯพลเรือน’ ขึ้นมาบ้างแล้ว ทำให้ชื่อตกไปที่ ‘เสี่ยหนู’อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย หรือชื่อ ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ แห่งพรรคสร้างอนาคตไทย 

หากยังไม่พ้นมือ ‘3ป.’ ชื่อที่มาแรงคือ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่จะรับไม้ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อไป แต่สุดท้ายในบรรดาพี่น้อง ‘3ป.’ ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ ท่ามกลางสัมพันธ์ที่ ‘ระส่ำ’ ภายในของ ‘3ป.’ ด้วยกันเอง เกิดข่าว ‘ง้อ-งอน’ เกิดขึ้น

ประวิตร.jpg

หากชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเป็น นายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ต่อไป อีกสิ่งที่ พล.อ.ประวิตร ต้องเผชิญคือ ‘เลือดไหล’ ออก เพราะ ส.ส.บ้านใหญ่ ต่างประเมินแล้วว่าชื่อ ‘บิ๊กตู่’ ขายยากในการเลือกตั้งครั้งหน้า มีเพียง ส.ส.นกแล หรือ ส.ส.สมัยแรก ที่ไม่มีฐานเสียงในมือ ยังคงเกาะชื่อ ‘บิ๊กตู่’ หาเสียงต่อไป

แต่บรรดา ‘บ้านใหญ่’ เห็นทางลมนี้ดี จึงมีท่าทีจะ ‘ย้ายพรรค’ ซึ่งหนึ่งในพรรคที่จะย้ายกลับไปคือ ‘พรรคเพื่อไทย’ หากไล่เรียง ‘แกนนำ พปชร.’ ส่วนใหญ่ ล้วนเคยอยู่ ‘ไทยรักไทย-เพื่อไทย’ มาก่อน

ภาพของ พปชร. ในปัจจุบันจึงไม่ต่างจากอดีต ‘พรรคไทยรักไทย’ ที่แบ่งเป็นหลายมุ้ง-ก๊ก ในยุคไทยรักไทยมีถึง 16 กลุ่ม เช่น กลุ่มวังน้ำยม กลุ่มวังน้ำเย็น กลุ่มวาดะห์ กลุ่มวังบัวบาน เป็นต้น

ดังนั้น พปชร. จึงต้องการคนที่คุมพรรคให้เป็น ‘เอกภาพ’ ได้ นั่นก็คือ พล.อ.ประวิตร นั่นเอง แต่ในทางการเมืองชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ มีฐานแฟนคลับมากกว่า พล.อ.ประวิตร แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มี ส.ส.-บ้านใหญ่ในมือ แต่ พล.อ.ประวิตร มีขุนพล ส.ส. ในมือ และมีคอนเน็กชั่นถึงขั้วการเมืองต่างๆมากกว่า เพราะ พล.อ.ประวิตร เติบโตในยุคที่การเมืองกำหนดทิศทางกองทัพ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ในยุครัฐบาลไทยรักไทย ขึ้นเป็น รมว.กลาโหม ครั้งแรกในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ ต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. เพราะมีพี่ปูทางให้ 

ประยุทธ์ อนุพงษ์ เพชรบูรณ์ -9168-4BD3-8528-8B34C18A680E.jpeg

ภายหลัง พล.อ.ประวิตร ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ก็ทำให้ทหารสาย ‘บูรพาพยัคฆ์’ ผงาดใน ทบ. โดยมีจุดตัดสำคัญ คือ รัฐประหาร 2549 ที่ทำให้ ‘บิ๊กป๊อก’พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เพื่อน ตท.10 กับอดีตนายกฯทักษิณ ได้ขึ้นเป็น ‘แม่ทัพภาคที่ 1’ หลังรัฐประหารไม่นาน เพื่อทำหน้าที่คุมกำลังภาคกลาง-กทม. นั่นเอง เพราะว่ากันว่าหาก พล.อ.อนุพงษ์ ไม่ร่วมทำรัฐประหารอาจโดนเด้งเข้ากรุไปประจำ บก.ทบ. แล้ว ต่อมา พล.อ.อนุพงษ์ ก็ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ต่อจาก ‘บิ๊กบัง’พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ด้วย

ดังนั้นเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 จึงเป็นจุดที่ทำให้ ‘ขั้วอำนาจ 3ป.’ ผงาด และ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขึ้นเป็น แม่ทัพภาคที่ 1 และขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ครบถ้วนทั้ง 3ป.

สำหรับ พล.อ.อนุพงษ์ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ในช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ต่อเนื่องมาถึงยุครัฐบาลพรรคพลังประชาชน ที่มี ‘สมัคร สุนทรเวช’ เป็นนายกฯ และ ‘สมชาย วงศ์สวัสดิ์’ เป็นนายกฯ

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ช่วงปลายรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนประคองตัวเองอยู่รอดในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และลงมือกระทำการรัฐประหาร 2557 อีกครั้ง

เท่ากับว่า ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ อยู่ในทุกช่วงเวลากับ ‘ขั้วทักษิณ’ เปรียบเสมือน ‘คู่กรรม’ ต่อกัน

ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ 358740.jpg

ในฝั่ง ‘ขั้วอำมาตย์’ ก็มีการมองทิศทางหาก ‘ทักษิณ’ กลับไทยมา จะเป็นอย่างไร ? ซึ่งมองกันว่าเป็น ‘ความเสี่ยง’ ที่ขั้วอำมาตย์ไม่อาจ ‘แบกรับ’ ได้

ดังนั้นการปลุกกระแส ‘แลนด์สไลด์’ จึงถูกจับตาจาก ‘ขั้วอำมาตย์’ และเป็นหนทางเดียงที่ ‘ขั้วเพื่อไทย’ จะสามารถอำนาจต่อรองบน ‘เกมแห่งอำนาจ’ ได้มากที่สุด

จึงเกิดคำถามขึ้นว่าหากปีหน้ามีการเลือกตั้ง แล้วมีการ ‘พลิกขั้ว’ ขึ้นมา ‘กองทัพ’ จะขยับหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ ‘บิ๊กบี้’พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. กล่าวว่า “ในหัวมีแต่ประชาชน ช่วยเหลือประชาชน ตอนนี้คิดถึงประชาชนก่อน”

หากย้อนไป 2 ปีก่อน (7 ต.ค. 2563) หลัง พล.อ.ณรงค์พันธ์ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ได้กล่าวว่า “โอกาสของการทำเรื่องพวกนี้ทุกอย่างเป็นศูนย์หมด บนพื้นฐานที่อย่าให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสร้างเงื่อนไขปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรง และกระทบต่อความเดือดร้อน”

“อยากให้ทุกคนร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ด้วยการขจัดเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ให้หมดไปจากประเทศไทย และติดลบ เพราะศูนย์ก็ไม่พอ แต่การจะติดลบได้ทุกคนต้องช่วยกัน” พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าว 7ต.ค.2563

ทว่าการทำ ‘รัฐประหาร’ ไม่ง่ายเหมือนในอดีต เพราะ ทบ. มีการเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยใหม่ โดย ร.1 ทม.รอ. และ ร.11 ทม.รอ. ได้โอนออกนอก ทบ. ไปหมดแล้ว

รวมทั้ง พล.1 รอ. , พล.ร.2 รอ. และ พล.ม.2 รอ. ที่เป็น ‘ขุมกำลังปฏิวัติ’ ก็กลายเป็น ‘ทหารคอแดง’ รวมทั้งการนำเอา ‘รถถัง’ หรือ ‘ยุทโธปกรณ์หนัก’ ออกนอกพื้นที่ กทม. ไปแล้วด้วย

ทำให้การทำรัฐประหารมี ‘เงื่อนไข’ ที่เปลี่ยนไป อาจนำมาสู่ ‘วิธีการ’ ที่เปลี่ยนไป ในวันที่สถานการณ์ต่างๆ ไม่เหมือนเดิม แต่ ‘ตัวละคร’ ยังไม่เปลี่ยนแปลง