ไม่พบผลการค้นหา
จากความพยายามแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง จนถึงปัญหาน้ำท่วมในช่วงหน้าฝน บริเวณพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยม ในอดีตอาจจะคุ้นเคยกับกรณีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่มีปัญหาระหว่างชาวบ้านและหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่ลงพื้นที่ไปรับฟังแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว และรับให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการงาน จนเกิดเป็นแนวทางการทำงานที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ จังหวัดแพร่ ติดตามและแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน เนื่องจากแม่น้ำสายหลักของประเทศเกือบทุกสายมีเขื่อน ยกเว้นพื้นที่ลุ่มน้ำยม ที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้เกิดปัญหาอุกทกภัยในฤดูฝน และเกิดปัญหาภัยแล้งในฤดูแล้ง ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ซึ่งแนวคิดการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมีมาหลายสิบปี จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุป โดยให้หน่วยงานลงไปศึกษาหาทางออกแบบมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่

นายสมมิ่ง เหมืองร้อง อายุ 63 ปี ประธานคณะกรรมการคัดค้านการสร้างเขื่อนเก่งเสือเต้นแม่น้ำยมตอนบน เปิดเผยว่า การต่อสู้เรื่องเขื่อนมีมานานกว่า 30 ปี เรียกได้ว่าเป็นการต่อสู้จากรุ่นสู่รุ่น ในอดีตความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงถึงขั้นทำลายทรัพย์สิน หรือเกิดการกระทบกระทั้งกัน เพราะจากผลการศึกษาหากสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบกับชาวบ้านบริเวณดังกล่าว ทำให้ไม่มีที่อยู่กว่า 2,000 ครัวเรือน และยังทำให้พื้นที่ป่าและพื้นที่ทำกินของชาวบ้านหายไป แต่ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมา มีเหตุมีผลพูดคุยกันมากขึ้น หาทางออกร่วมกัน มีคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร มาเป็นสื่อกลางพูดคุย ซึ่งสิ่งที่ชาวบ้านต้องการแน่นอนว่า ต้องการยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น จึงเป็นที่มาของรูปแบบ “สระเอียบโมเดล” ที่ชาวบ้านให้การยอมรับและคิดว่าการบริหารจัดการน้ำน่าจะเป็นไปได้มากกว่าการสร้างเขื่อนมีผลกระทบน้อยกว่า

“สามข้อที่ชาวบ้านต้องการ 1.ปิดตำนานเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยมีมติคณะรัฐมนตรีรองรับ 2.ทำอ่างเก็บน้ำสองแห่งของสะเอียมโมเดลให้สำเร็จ 3.ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ” นายสมมิ่ง กล่าว


นายสมมิ่ง เหมืองร้อง

สมมิ่ง เหมืองร้อง อายุ 63 ปี ปธ.คกก.คัดค้านการสร้างเขื่อนเก่งเสือเต้นแม่น้ำยมตอนบน

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงศ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ในฐานะที่เป็นตัวแทนภาครัฐร่วมผลักดันการดำเนินโครงการศึกษาหาทางออกแบบมีส่วนร่วม เกี่ยวข้องในลักษณะภาคีเครือข่าย เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ประกอบด้วยกรมชลประทาน กองทัพภาคที่3 กรมป่าไม้ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จังหวัดแพร่ พะเยา ลำปาง ประชาชนในพื้นที่และสถาบันการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร จากความร่วมมือดังกล่าว ส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่และรัฐบาล ในกรณีของเขื่อนแก่งเสือแต้น ที่เป็นปัญหาพื้นที่มาอย่างยานานยุติลง นำไปสู่ยุคของการร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำตามแนวทาง “สะเอียบโมเดล” ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบความสำเร็จในการจัดการน้ำโดยชุมชน สอดคล้องกับแนวทางบริหารจัดการน้ำของ สนทช. และรัฐบาล ในการสร้างการมีส่วนร่วมและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่ง สนทช.พร้อมให้การสนับสนุนและขยายผลการจัดการน้ำโดยชุมชน เพื่อเกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและยังยืนในพื้นที่อื่นด้วย


สมเกียรติ ประจำวงศ์

สมเกียรติ ประจำวงศ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

นายเดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยและพัฒนาบูรณาการเกษตรและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาพแวดล้อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง เช่น น้ำแล้ง น้ำท่วมฉับพลัน การแก้ไขปัญหาคือการฟื้นฟูธรรมชาติ ให้มีแหล่งเก็บกักน้ำเป็นภูมิคุ้มกันไมให้รุนแรงกว่าเดิม ซึ่งปัญหาที่ลุ่มน้ำยม เดิมมีความขัดแย้งระหว่างโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เราจึงได้นำโมเดลการพัฒนาให้ลำน้ำสาขาสามารถเก็บกักน้ำได้ ประกอบกับการฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศน์ควบคู่กันไป

นายเดช กล่าวว่า แนวทางนี้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยังยืน ที่สำคัญประชาชนยังได้ใช้ประโยชน์จากป่าไม่ได้ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตไปจากเดิมมากนัก ซึ่งคณะทำงานได้หาวิธีกับภาคประชาชน เพื่อขยายแนวคิดสะเอียบโมเดล สู่การปฏิบัติ โดยสำรวจหาตำแหน่งแหล่งเก็บกักน้ำตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม ในพื้นที่ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ทำการสำรวจและศึกษาความต้องการของประชาชนแล้วจึงระบุตำแหน่งก่อสร้างแหล่งเก็กกักน้ำในรูปแบบของฝาย ทำนบ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก แก้มลิง ทำให้ความพยายามแก้ไขปัญหาเขื่อนแก่งเสือเต้นที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ แต่มีแนวทางที่สามารถตอบโจทย์การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมได้ 


นายเดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ

เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ ผอ.หน่วยวิจัยและพัฒนาบูรณาการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: