ไม่พบผลการค้นหา
หมอผ่าตัดไทยผู้มีประสบการณ์ดูแลคนไข้ด้วยกัญชาทางการแพทย์ ย้ำกัญชา 'เป็นประโยชน์' แต่ใช้บรรเทา ไม่ใช่ 'ยาวิเศษ' รักษาอาการ ต้องใช้คู่แผนปัจจุบัน แนะไทยกระจายอำนาจจัดการกัญชา แยกใบอนุญาตปลูก-สกัด-แล็บตรวจสอบ ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน

'สหรัฐอเมริกา' เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่มีกฎหมายรองรับการใช้และครอบครอง 'กัญชา' โดยปล่อยให้เป็นอำนาจของหน่วยงานปกครองของแต่ละรัฐว่าจะมีมาตรการกำกับดูแลและกำหนดเงื่อนไขอย่างไร โดยเริ่มจากการอนุญาตให้ปลูกกัญชาได้เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว แต่กำหนดให้ปลูกได้แค่ 7 ต้น ก่อนที่หลายรัฐจะทยอยประกาศหนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์, เพื่อการสันทนาการ และเปิดการค้าเสรีในฐานะ 'พืชเศรษฐกิจ' 

'นายแพทย์ก้องกฤษฎ์ ไชยเศรษฐ' หรือ 'คุณหมอเก็ต' ศัลยแพทย์ชาวไทยที่ไปทำงานในสหรัฐฯ นานกว่า 20 ปี และปัจจุบันประจำอยู่ที่โรงพยาบาลวิลเลียมโบมอนต์ในเมืองรอยัลโอ๊ก มลรัฐมิชิแกน คุยกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ในฐานะผู้มีประสบการณ์การใช้ 'กัญชาทางการแพทย์' ในชีวิตจริง เพราะต้องช่วยเหลือผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังหลายราย ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไร Operation CURE Sciences เพื่อวิจัยเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ จึงได้เจอทั้ง 'ข้อดี-ข้อเสีย' ของนโยบายกัญชาในสหรัฐฯ พร้อมเสนอความคิดเห็นเผื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยที่กำลังเดินหน้าเรื่องกัญชาอย่างแข็งขัน


วิกฤตยาแก้ปวดตระกูลฝิ่น-หนุนส่ง 'กัญชาทางการแพทย์' 

หลายปีที่ผ่านมา ชาวอเมริกันจำนวนมากเสียชีวิตจากการใช้ยาแก้ปวดที่มีอนุพันธุ์ของฝิ่น หรือยาในกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) จนมีคำเรียกสถานการณ์นี้ว่า 'วิกฤตโอปิออยด์' ซึ่ง 'นพ.ก้องกฤษฎ์' บอกกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า เหตุผลหนึ่งเกิดจากผู้ป่วยต้องใช้ยากลุ่มดังกล่าวรักษาอาการปวดเรื้อรัง นำไปสู่การเสพติด แม้หายปวดแล้วก็ยังใช้ยาต่อ จนกลายเป็นเสพยาเกินขนาดและเสียชีวิต

รัฐบาลสหรัฐฯ สั่งควบคุมยากลุ่มโอปิออยด์ตั้งแต่ปี 2016 แต่มีผลข้างเคียงเกิดขึ้น เพราะผู้ต้องการใช้ยาดังกล่าวหันไปใช้ตัวยาใกล้เคียงจากต่างประเทศแทน จนกลายเป็นวิกฤตยาเถื่อนที่มีผู้ลักลอบนำเข้าสู่สหรัฐฯ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ 'กัญชาทางการแพทย์' ถูกพูดถึงมากขึ้นในฐานะทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วย นอกเหนือจากการใช้ยากลุ่มโอปิออยด์แต่เดิม

ในกรณีของ 'รัฐมิชิแกน' มีการระบุอย่างชัดเจนว่า กัญชามีข้อบ่งชี้ 17 ประการที่สามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ขณะที่ 'นพ.ก้องกฤษฎ์' เป็นศัลยแพทย์ตกแต่งผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะขั้นรุนแรง รวมถึงการผ่าตัดเสริมสร้างแก่ผู้ป่วยที่รักษาโรคมะเร็ง ทำให้เขามีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสังเกตอาการผู้ป่วยหลายรายที่ใช้สารสกัดจากกัญชาบรรเทาอาการปวดเรื้อรัง และมีคำยืนยันจากผู้ป่วยว่า 'ดีกว่า' การใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ ทั้งยังทำให้ครอบครัว 'ผู้ป่วยระยะสุดท้าย' ได้ใช้เวลาช่วงบั้นปลายอย่างมีคุณภาพมากขึ้น

"ข้อบ่งชี้ของการใช้กัญชาในรัฐมิชิแกนมี 17 ประการ อันหนึ่งคือ 'ปวด' เพราะฉะนั้น ประสบการณ์ของผมส่วนใหญ่จะใช้กัญชาในคนไข้ที่เป็นโรคปวดเรื้อรังหลังจากการผ่าตัด หรือผ่าตัดไปแล้วในคนไข้มะเร็ง ช่วยบรรเทาอาการปวด โดยเฉพาะคนไข้ที่เป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย ทำให้ผมเข้าใจประโยชน์ของกัญชา" นพ.ก้องกฤษฎ์ระบุ 

"หลังจากการผ่าตัดใหม่ๆ เราจะไม่ได้ใช้กัญชาทันที แต่ใช้ยาแก้ปวดปกติ ใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ กลุ่มมอร์ฟีน หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็นแบบกินทางปาก แก้ปวด ส่วนใหญ่คนไข้ที่ผ่าตัดก็จะหยุดที่เวลา 7 วันถึง 10 วัน ก็เลิกกินยาแก้ปวดละ แต่คนไข้บางกลุ่มที่เป็นโรคป่วยเรื้อรังจากประสาทโดนกดทับ หรือจากมะเร็งที่ยังมีอยู่ กลุ่มนี้ถ้าเขาใช้ยาแก้ปวดแบบโอปิออยด์ในระยะยาว จะมีปัญหาในเรื่องคุณภาพชีวิต บางคนง่วงนอน บางคนมึน บางคนติด...เพราะฉะนั้นข้อดีของกัญชาคือว่า เอามาช่วยเพื่อลดขนาดยาของกลุ่มโอปิออยด์ลง สุดท้ายคนไข้บางคน หยุดยากลุ่มโอปิออยด์ไปเลย ใช้แต่กัญชาอย่างเดียว แต่คนไข้ที่เป็นมะเร็งหนักจริงๆ ต้องใช้ทั้งคู่อยู่ คือทั้งโอปิออยด์แล้วก็กัญชา" 

Reuters-หน่วยแพทย์ฉุกเฉินในสหรัฐฯ ช่วยผู้หมดสตีเพราะเสพยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์เกินขนาดในห้องน้ำซูเปอร์มาร์เก็ต ปี 2017.JPG
  • หน่วยแพทย์ฉุกเฉินในสหรัฐฯ ช่วยผู้หมดสติเพราะเสพยากลุ่มโอปิออยด์เกินขนาดในห้าง

"ในอเมริกาเองก็มีปัญหา มันเริ่มจากหมอจ่ายยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ พอเสร็จแล้วหมอเลิกจ่าย คนไข้ยังติดอยู่ ก็ต้องไปแอบซื้อในตลาดมืด เพราะว่าหมอส่วนใหญ่จะจ่ายแค่ 30 วัน คนไข้บางคนนะ นี่เป็นเรื่องจริง ได้มาแล้วไม่ใช้ ก็เอาไปขายในตลาดมืด บางคนมาจากจีน เอายากลุ่ม Fentanyl นำเข้ามาจากจีน แล้วก็ไปขายกันในตลาดมืด"

"สารกลุ่มโอปิออยด์เป็นกลุ่มที่ไปปิดกั้นระบบประสาทรับความรู้สึก ในระดับสมอง พวกนี้แก้ปวดได้ดีมาก แต่ข้อเสียมันใหญ่ที่สุดเลย คือ ทำให้มีอาการติด พอติดเสร็จ บางทีกินโดยที่ไม่ปวด เพราะว่าเวลาติดน่ะ มันรู้สึกมีความสุข กินแล้วรู้สึกคล้ายๆ กับเฮโรอีน...บางคนใช้มากไป แล้วก็เกิดโอเวอร์โดส เพราะฉะนั้นในอเมริกา ว่ากันว่าทุก 19 วินาทีจะมีคนเสียชีวิตจากโอปิออยด์... การแพร่ระบาดและวิกฤตโอปิออยด์ในอเมริกาถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก วิธีหนึ่งที่จะลดจำนวนผู้ป่วยที่ตายจากการติดยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ก็คือการใช้กัญชาเข้ามาช่วย"

"กัญชาเนี่ยกระตุ้นให้คนไข้กินได้ดีขึ้น กัญชาทำให้เขาไม่เครียด more relax กัญชาทำให้เขากินยากลุ่มโอปิออยด์น้อยลง คนไข้ที่ปวดกระดูกหรือปวดอะไรก็ตามเนี่ย กัญชาจะทำให้เขาใช้โอปิออยด์ลดลง เขาก็ไม่ค่อยง่วง เขาก็จะมองว่ามีสติ สามารถพูดคุยกับญาติ มีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัวเขาได้มากกว่าที่จะนอนจมอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น คนไข้ผมหลายคนก็จะเป็นอย่างนี้ มีศักดิ์ศรี ก็คือว่าสามารถที่จะให้เขาไปอย่างสงบ ครอบครัวที่อยู่ก็ไม่เจ็บปวด เพราะรู้ว่าเขาไปอย่างสงบ"


"ไม่อยากให้คนเชื่อว่ากัญชาคือยามหาวิเศษ"

แม้สหรัฐฯ จะมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนเรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์ ขณะเดียวกันก็มีข้อห้ามบรรยายสรรพคุณกัญชาในฐานะยารักษาอาการเจ็บป่วย แต่กำหนดว่าสามารถใช้กัญชาเป็น 'ส่วนเสริม' ของการแพทย์แผนปัจจุบันได้ ซึ่ง 'นพ.ก้องกฤษฎ์' ย้ำว่า ข้อห้ามนี้มีไว้เพื่อป้องกันการโฆษณาชวนเชื่อ รวมถึงการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วย สังคมจึงควรทำความเข้าใจว่า 'กัญชา' ใช้เพื่อการบรรเทา แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ 

นพ.ก้องกฤษฎ์ระบุด้วยว่า กฎหมายของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ยังให้กัญชาอยู่ในบัญชียาเสพติดกลุ่มเดียวกับ 'เฮโรอีน' และ 'โคเคน' หรือ Schedule 1 แต่กฎหมายในบางรัฐอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์และสันทนาการได้ด้วยการสกัดสารที่สำคัญในกัญชาออกมา ได้แก่ สาร CBD ที่นำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และสาร THC ที่นำไปใช้เพื่อสันทนาการ โดยสารทั้งสองตัวมีอยู่ทั้งในกัญชาและกัญชง (hemp) 

"กัญชงสกัดออกมาได้สาร CBD กัญชาสกัดออกมาก็ได้สารสองอันหลักๆ แต่ยังมีอีกเยอะนะ สารอื่นๆ มีเทอร์ปีน อะไรอีก แต่สารหลักๆ คือ THC กับ CBD ทีนี้กัญชงสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี (โดนัลด์) ทรัมป์ ก็ได้ปลดล็อกสิ่งที่เรียกว่า Farmers Act ปีที่แล้ว 2018 ให้ชาวบ้านปลูกกัญชงได้อย่างอิสระ แล้วก็สามารถสกัดและสามารถขายกัญชง หรือ CBD ได้ แต่ FDA (สำนักงานอาหารและยา) ของอเมริกายังเตือนว่า หมอหรือใครก็ตาม ยังไม่สามารถเคลมได้ว่ากัญชงรักษาโรค จะใช้คำว่า cure ไม่ได้ ใช้คำว่า treat ไม่ได้ แต่ใช้คำว่า 'อาจ' เพื่อไม่ให้เกิดการโฆษณาชวนเชื่อ ฉะนั้น ในอเมริกา ตลาด CBD product ก็จะเยอะ" 

"ส่วนกัญชามันมีสารที่เรียกว่า THC ซึ่งทำให้เกิดความหลอนได้นะครับ ทีนี้ถ้าคนไข้หรือว่าชาวบ้านไปใช้กัญชาเยอะ แล้วแถมกินเหล้าอีก ผมว่าอุบัติเหตุอะไรจะเยอะ ในรัฐโคโลราโด ซึ่งกัญชาเพื่อความบันเทิงได้รับการปลดล็อกแล้ว อัตราการเกิดอุบัติเหตุก็เยอะขึ้น อุบัติเหตุจากรถนี่ ครึ่งหนึ่งเป็นการใช้กัญชา ครึ่งหนึ่งเป็นการใช้แอลกอฮอล์ เพราะงั้นก็ถูกแล้วที่มีการควบคุม ถูกต้อง แต่ว่าควบคุมโดยที่คนไข้ไม่สามารถไปหามาใช้ได้ มันก็ไม่แฟร์กับคนไข้"

"ที่ดีที่สุดตอนนี้คือเชื่อว่า กัญชาใช้บรรเทา แล้วก็ต้องใช้ตลอด รักษาหายขาดไม่ได้ การบันเทิงเองก็ต้องมีลิมิตนะครับว่าได้กี่ออนซ์ต่อวัน ไม่ใช่ว่าบันเทิงนี่สูบได้ทั้งวัน ในตัวกฎหมายในแต่ละรัฐเอง เขาก็มีกฎว่า carry (ครอบครอง) ได้เท่านี้กรัม ได้กี่ออนซ์ต่อวัน ไม่ใช่ว่าจะซื้อกันสามสิบกิโลฯ นี่ก็ไม่ได้ ตัว THC นี่ก็อันตรายถ้าใช้ไม่ถูก"

AFP-cannabis oil-น้ำมันกัญชา.jpg
  • สารสกัดจากกัญชาได้รับการยืนยันว่าเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ไม่ใช่ยารักษาอาการ

"ในประสบการณ์ของผมเลยโดยตรง คือยาแก้ปวด มีโอกาสได้เห็นได้สัมผัส เด็กที่เป็นโรคลมชัก หรือได้คุยกับเพื่อนการแพทย์ด้วยกันที่ได้ใช้ในคนไข้ที่เป็น muscle spasm (กล้ามเนื้อกระตุกหรือหดเกร็ง) ในด้านต่างๆ ปรากฏว่ากัญชาหรือสาร CBD มันบรรเทาอาการกล้ามเนื้อแข็ง กล้ามเนื้อเกร็งให้ relax ได้ คนบางคนที่เป็น ADHD หรือสมาธิสั้น เด็กๆ บางคนได้ใช้สาร CBD สามารถทำให้เขาทำกิจกรรมได้มากขึ้น โฟกัสได้ดีขึ้น" 

"แต่ต้องเข้าใจนะครับว่าโรคพวกนี้ไม่ใช่รักษาขาด ต้องใช้กัญชาตลอดเวลา เพราะมันเริ่มมาจากว่ากัญชาแค่บรรเทา ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ กัญชาไม่สามารถกลับไปแก้เด็กที่เป็นออทิสติกได้ กัญชา 'อาจจะ' แต่ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานว่ากัญชาฆ่ามะเร็งได้ และสำหรับผมมันยากที่จะเชื่อว่ากัญชาฆ่ามะเร็งได้ เพราะขณะนี้แม้แต่ chemotherapy ที่ดีที่สุดก็ยังไม่สามารถการันตีคนไข้มะเร็งได้ว่าจะหายร้อยเปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นเราต้องระวังเรื่องกัญชากับโรคมะเร็ง ผมไม่อยากจะให้คนเชื่อว่ากัญชาคือยามหาวิเศษ อันนั้นเป็นประโยคที่อันตราย"

"บอกว่าเป็นมะเร็งแล้ว กัญชาจะรักษามะเร็ง ประโยคนี้น่ากลัวที่สุดเลย ผมไม่สามารถที่จะสนับสนุนประโยคนั้นได้ เพราะถ้าคุณเป็นมะเร็ง คุณจะต้องหาแผนปัจจุบัน ถ้าจะต้องตัดก็ต้องตัด คีโมฯ ก็ต้องคีโมฯ ฉายแสงก็ต้องฉายแสง เพราะว่าสุดท้ายแล้วคนไข้จะต้องมีชีวิตอยู่เพื่อจะเจอครอบครัว ภรรยา และลูก เพราะงั้นบางทีมัวแต่ไปรักษากัญชาอยู่ 6 เดือนหรือ 1 ปี กว่าจะรู้มันก็สายไปแล้ว มะเร็งจะโต ผมว่ากัญชาควรจะเป็น supplement (ส่วนเสริม) ของการแพทย์แผนปัจจุบันมากกว่า"


ปลดล็อกกัญชา-มุ่งหน้าสู่พืชเศรษฐกิจ ระวัง 'ผลประโยชน์ทับซ้อน'

เมื่อสอบถามกรณีที่รัฐบาลท้องถิ่นในสหรัฐฯ หลายแห่ง ปลดล็อกกัญชาในฐานะ 'พืชเศรษฐกิจ' ส่งเสริมให้ภาคเอกชนขับเคลื่อนธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นกลไกตลาด และรัฐเป็นเพียงผู้กำกับดูแล มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ไทยสามารถถอดบทเรียนจากสหรัฐฯ ได้หรือไม่ 'นพ.ก้องกฤษฎ์' ระบุว่า การเปิดตลาดเสรี คือ ให้มีการแข่งขันอย่างเสรี รัฐบาลควรควบคุมแค่ปัจจัยเรื่องกฎหมายและการตรวจสอบคุณภาพ

"กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจได้ แต่ต้องรู้ว่าเศรษฐกิจคือ 'ต้องทำมาหากิน' ใครจะมาซื้อก็ต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องมาคุยกัน ในสหรัฐอเมริกา รัฐมิชิแกนเปิดตลาดเสรี แต่ตัวรัฐมิชิแกนน่ะ ควบคุมนะ เขาให้ข้อกำหนดมาว่า คนที่จะขอใบและได้รับอนุญาตจะต้องมีเงื่อนไขใดๆ บ้าง"

"อันหนึ่งคือ background check (ตรวจสอบประวัติ) ต้องดูบัญชีธนาคารย้อนหลังไป 5 ปี ดูว่าเราเคยติดคุก เป็นพวกจิ้งจอกสังคมไหม ถ้ามีอะไรที่ไม่ผ่านเขาก็ไม่อนุญาต อันที่ 2 ก็คือแต่ละเมือง ในรัฐ จะต้องเห็นด้วย คือต่อให้เรา qualified (มีคุณสมบัติครบถ้วน) แต่เมืองไม่อนุมัติก็ไม่ได้ ต้องหาเมืองที่เขายอมให้เราไปทำธุรกิจด้านกัญชา คือนอกจากเรื่อง license (ใบอนุญาต) ตัวบริษัทเราถูกกฎหมายอยู่แล้ว เมืองที่เราจะไปเปิดก็ต้องยอมรับด้วย รัฐบาลกับเมืองก็เก็บภาษี" 

"รัฐมิชิแกนไม่มีลิมิตว่าจะมีกี่ license เพราะการสมัครจะเริ่มที่ 5,000 เหรียญ แต่ถ้าผ่านแล้วก็คงหมื่นเหรียญ แล้วก็คงเก็บภาษีทุกปี และยอดขายที่ได้แต่ละปีจะเก็บอีก 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นภาษี ฉะนั้น คำว่าเปิดตลาดเสรี ให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรี โดยที่รัฐบาลมาควบคุมแค่ปัจจัย ไม่มาควบคุมว่าจะมี license ได้กี่อัน ใครนายสีนายสาหรือนายทุนใหญ่ เขาไม่มองตรงนั้น เขามองว่าถ้า qualified ก็สามารถสมัครได้"

"ใบอนุญาต (license) ในอเมริกามี 5 อัน อันที่หนึ่ง คือ ปลูก อันที่ 2 ใบอนุญาตในการขนส่ง คือ ปลูกเสร็จไม่ใช่คนปลูกขับเอาไปให้คนสกัดนะ ต้องมีอีกใบอนุญาตหนึ่งในการขับรถ เพราะว่าเขาต้องมีระบบรักษาความปลอดภัย ต้องมีคนขับสองคน ใบที่ 3 ก็คือ processing หรือว่าสกัด อันที่ 4 ก็คือขาย retails หรือ dispensary คือร้านขายปลีก ใบที่ 5 ก็คือแล็บ เป็นตัวที่ควบคุมคุณภาพ"

"มันเริ่มจากว่า กัญชาต้นที่ 1 เขาก็จะมีบาร์โค้ดให้เลย แล้วบาร์โค้ดนี่ก็จะตามไปตั้งแต่ขนส่ง ตามไปถึงสกัด ตามไปถึงขายปลีก แล้วเขาจะได้ติดตาม track ได้ เก็บภาษีได้ ตามตั้งแต่ต้นเลย จนถึงจบ แล้วคนที่ทำธุรกิจด้านนี้ก็ต้องมีซอฟต์แวร์ที่จะ track บาร์โค้ด ทุกครั้งก็ต้องปิดบัญชี รัฐเขาจะรู้หมดว่าขายเท่าไหร่ มันก็เลยควบคุมได้ในแง่นั้น"

Reuters-แล็บปลูกกัญชาที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมิชิแกนของสหรัฐฯ.JPG
  • บริษัท Choice ในรัฐมิชิแกน ทดลองปลูกกัญชาหลายพันธุ์

"กลุ่มที่ทำเรื่องตรวจสอบ ไม่ควรจะมีผลประโยชน์กับกลุ่มที่ปลูกหรือกลุ่มที่ขาย กลุ่มที่ตรวจสอบต้องเป็นห้องแล็บอิสระ แล้วหารายได้จากการที่ว่า ทุกครั้งที่ผลิตภัณฑ์ออกมานี่นะ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ปลูกหรือคนที่สกัดจะต้องส่งไปที่แล็บ ส่วนแล็บก็จะต้องรับรอง (verify) แล้วก็ได้รายได้จากตรงนั้น ไม่ไปยุ่งกับการปลูก ไม่งั้นก็เป็น conflict of interest (ผลประโยชน์ทับซ้อน) แล็บเองก็ต้องมีดีเทลเยอะ...ต้องมีเครื่องมือเทคโนโลยีนิดนึง ที่สามารถตรวจสอบได้ว่า THC มีเท่าไหร่ มี THCA เท่าไหร่ CBD เท่าไหร่ แล้วสารตัวอื่นอีก เทอร์ปีนอีกเท่าไหร่ มันมีโลหะหนักมั้ย มีแบคทีเรียมั้ย มีสารปนเปื้อนมั้ย เพื่อให้รู้ว่าลูกค้าหรือคนไข้ได้สารที่ดีจริงๆ"

"คือถ้าเป็นโลหะหนักก็ไม่ดีน่ะครับ มันจะไปสะสมในตับ หรือบางโลหะเกิดอีกโรคหนึ่งมาเลย เหมือนกับเราทานผลไม้แล้วมียาฆ่าแมลง...อย่าลืมว่ากัญชานี่มันชอบดูด ดูดโลหะ เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ที่จะมีการปนเปื้อน เรื่องคุณภาพการปลูกเป็นเรื่องสำคัญมาก ระบบเกษตรก็มี 2 แบบ ปลูกแบบปิดกับแบบเปิด มีข้อดีข้อเสีย แบบปิดก็คือคนควบคุมได้หมดเลย แต่ว่า cost (ต้นทุน) จะสูงมาก เพราะว่าทั้งค่าน้ำค่าไฟ อุณหภูมิต้องคุมตลอดเวลา แบบเปิดข้อดีก็คือว่า cost ต่ำ แต่พอดีว่าเราควบคุมธรรมชาติไม่ได้ ฝนตก แล้ง กวางมากิน หรือแมลงมากิน มันก็มีข้อดีข้อเสีย"


แนะไทยกระจายอำนาจเรื่องกัญชา-เข้าถึง 'คนไข้ชายขอบ'

นพ.ก้องกฤษฎ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า สหรัฐฯ มีกฎหมายที่เรียกว่า Caregiver Law ตั้งแต่ปี 2008 เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า บุคคลที่ต้องการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์สามารถขอใบอนุญาตปลูกได้ แต่ต้องไม่เกิน 7 ต้น ทำให้คนที่เริ่มปลูกกัญชาในครัวเรือนตั้งแต่ตอนนั้นสะสมประสบการณ์ด้านนี้มาได้ระดับหนึ่ง เมื่อแต่ละรัฐปลดล็อกข้อห้ามปลูกกัญชาเพื่อเศรษฐกิจ และสนับสนุนการค้าเสรี คนกลุ่มนี้จึงปรับการผลิตขึ้นมาเป็นระดับใหญ่ได้

หากไทยต้องการส่งเสริมการแข่งขันในด้านนี้จริง รัฐบาลควรทำแบบเดียวกันกับสหรัฐฯ คือ กระจายอำนาจบริหารจัดการเรื่องกัญชาให้กับท้องถิ่น เพราะ "เป็นเรื่องยาก" ที่รัฐบาลจะควบคุมดูแลเรื่องกัญชาได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ นพ.ก้องกฤษฎ์ ยังระบุด้วยว่า รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ยังไม่ปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชีสารเสพติดร้ายแรงในระยะเวลาอันใกล้นี้แน่ๆ การผลิตสารสกัดจากกัญชาจึงมีอยู่ในไม่กี่รัฐที่อนุญาตกระบวนการเหล่านี้ แต่สหรัฐฯ ก็คงไม่อาจหยุดยั้งอิทธิพลของกลุ่มทุนใหญ่ในตลาดกัญชาได้ เพราะเขาเชื่อว่าบริษัทยาใหญ่ๆ กำลังลงทุนลงแรงเพื่อพัฒนากระบวนการสกัดสารวงศ์ THC และ CBD ออกมา ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จ อาจจะทำให้เกิดการค้ากำไรจากสารสกัดเหล่านี้

"ผมทำนายว่า บริษัทยาใหญ่ๆ จะผลิตวงศ์ THC ออกมาเองเลย เพื่อโรคต่างๆ ซึ่งตอนนี้ก็น่าจะมีอยู่แล้วนะครับ...แต่ในอนาคต การสกัดนั่นจะใช้ได้ในประเทศที่เขารวยแล้ว ประเทศที่จนอย่างเรา ประเทศไทยน่ะ จะเอาจากไหนไปซื้อ เพราะเวลาบริษัทยาใหญ่ๆ มา เขามีเงินเยอะ เขาต้องเอากำไรคืน เพราะฉะนั้นคนไทยก็ต้องตื่นตัว องค์การเภสัชฯ ต้องก้าวไปอีกหนึ่งสเต็ป ถ้าสกัดเองได้เลยก็ยิ่งดี ถ้าไม่ได้ก็ต้องรีบปลดล็อกให้เร็ว เพราะว่าเรามีเงินไม่พอที่จะเอาเงินไปซื้อ THC สกัดที่อเมริกา" 

"โตมาที่เมืองไทย เรียนแพทย์ที่เมืองไทย ผมก็จบเชียงใหม่มา คนไทยน่ะจน คนไข้ที่เป็นมะเร็งเขาจน ทีนี้ถ้ารัฐบาลไม่ one step ahead จะไปรอให้สารสกัดมา ซึ่งราคาแพง หรือทำอะไรไม่ได้เลยเนี่ย ตลาดมืดก็จะโต เพราะฉะนั้นมันจะต้องเป็นระดับรัฐบาล ระดับกระทรวงสาธารณสุข มันต้องขึ้นมาเลย ควรจะต้องรีบทำ...แล้วหมอก็ควรจะต้องทำงานใกล้ชิดกับคนไข้และองค์การเภสัชฯ" 

"ปัญหาก็คือว่ารัฐบาลไทยน่ะ centralize (รวมศูนย์อำนาจ) และควบคุมทุกอย่างอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่สามารถไปสัมผัสได้ว่าคนไข้ในบ้านนอกเป็นยังไง แล้วพอควบคุมทุกอย่าง แต่รัฐบาลไม่มีกำลังคนพอ ไม่มีผู้เชี่ยวชาญพอที่จะไปดูแลคนไข้เป็นล้านๆ ที่ต้องการกัญชา วิธีที่หนึ่งก็คือต้อง decentralize (กระจายอำนาจ) นะครับ ให้ระดับจังหวัดเขาทำกันเอง ให้จังหวัดขออนุญาตกันเอง คุมกันเอง รัฐบาลเก็บภาษี แล้วตั้งข้อกำหนดมาว่าต้องเป็นยังงี้ๆๆ แล้วให้แต่ละจังหวัดทำกันเอง ปลูกกันเอง เสียภาษีท้องถิ่นกันเอง"

"ถ้ายังควบคุมทุกอย่างอยู่ ประชากรกว่า 60 กว่าล้านคนทำอะไรก็ไม่มีประสิทธิภาพ ที่อเมริกาได้ผลก็เพราะว่าให้ภาคเอกชนขับเคลื่อน แต่ละรัฐก็คุมกันเอง บ้านเราเรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐานยังต้องมีอีกเยอะ"

"ตอนนี้ได้ข่าวว่ากัญชาเมืองไทยต้องปลูกกับมหาวิทยาลัยเท่านั้น มหาวิทยาลัยก็ต้องพร้อม มีบุคลากรที่พร้อม มีโครงสร้างพร้อม มีดินที่พร้อม มีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อม เข้าใจธรรมชาติของแต่ละพันธุ์ เพราะว่าสายพันธุ์ บางอุณหภูมิ น้ำมากไป น้อยไป แล้งไป พวกนี้มีผลหมด"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: