นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกมนตรี กล่าวถึงผลหารือร่วมกันระหว่าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับฟังรายงาน การแก้ไขปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ โดยมีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ 2-3 เรื่อง เรื่องแรกเป็นการจัดงานสวดพระอภิธรรมศพของพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ เจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี พร้อมพระภิกษุอีก 1 รูปในวัดถึงมรณภาพ ซึ่งต้องจัดให้สมเกียรติเหมาะสม กับที่ท่านเป็นพระนักพัฒนากิจการพระพุทธศาสนาในภาคใต้ 2.คือการดูแลพระที่บาดเจ็บ2 รูป 3.พิจารณาการเยียวยาทั้งหมดเท่าที่จะช่วยได้ จากกองทุนต่างๆ กองทุนไหนที่สามารถช่วยได้ตามสิทธิของพระทั้งที่มรณภาพและบาดเจ็บ
ทั้งนี้ในมิติด้านความปลอดภัยได้ประสานหน่วยงานความมั่นคงดูมาตรการทั้งชุดลาดตระเวน และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า หรือ กอร.มน.ภาค 4 ส่วนหน้าและหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ ได้ดำเนินการดูแลพระสงฆ์ในทุกวัดของพื้นที่เสี่ยงแล้ว และเพิ่มมาตรการดูแลเข้มงวดมากขึ้น แต่ในรายละเอียดต้องไปถามหน่วยงานความมั่นคง
ขณะที่การดูแลในระยะยาวจะพิจารณางบประมาณซ่อมแซมเสนาสนะของวัดที่ไม่มีรั้ว ซึ่งได้สั่งการให้ปรับแผนงบประมาณในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่เร่งด่วนอันดับแรกในการแปลงงบประมาณ เพื่อซ่อมแซมในสิ่งที่เป็นกายภาพ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการให้ดีที่สุดตามหน้าที่
ส่วนข้อกังวลว่า พระภิกษุสงฆ์ในพื้นที่จะสามารถบิณฑบาตได้หรือไม่นั้น นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในพื้นที่ แต่คณะสงฆ์ประสงค์ที่จะทำกิจของสงฆ์ให้ครบถ้วนตามพระธรรมวินัย ซึ่งเราประสงค์เช่นนั้น แต่ต้องคำนึงถึงรายละเอียดในพื้นที่ด้วย
ทั้งนี้ ในฐานะผู้กำกับดูแลหน่วยงานทางพระพุทธศาสนา ได้ประเมินถึงจุดมุ่งหมายของผู้ก่อการร้ายไว้หรือไม่ นายสุวพันธุ์ กล่าวว่าไม่ทราบ ส่วนสาเหตุหรือเบื้องหลังของการก่อการร้ายให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงในการตรวจสอบ
นายสุวพันธุ์ ยังไม่กังวลว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับความขัดแย้งทางศาสนาเพราะทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี เรื่องความรุนแรงอาจจะเกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มบุคคล และการใช้ความรุนแรงไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องที่ดีและไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง
ส่วนการปล่อยข่าวลือ เพื่อหวังผลให้เกิดความหวาดกลัว และหวาดระแวงระหว่างศาสนา นั้น นายสุวพันธ์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของภาคราชการ ที่ต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งภาครัฐ พยายามจะดำเนินมาตรการด้านต่างๆ เพื่อเป็นหลักประกัน จะสร้างความปลอดภัย
เลขาธิการ สมช. ประณามเหตุรุนแรง 3 จังหวัด
พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เลขาธิการ สมช. ขอประณามเหตุการณ์ความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กระทำกับผู้บริสุทธิ์ ทั้งเด็ก พระสงฆ์ และผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ โดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้เน้นย้ำหน่วยในพื้นที่ให้เฝ้าระวัง มีมาตราการเข้มงวด ดูแลประชาชนในพื้นที่
ส่วนผู้ก่อเหตุเราได้เน้นย้ำให้มีการจับกุมมาดำเนินคดีตามกฏหมาย ส่วนจะต้องเน้นย้ำกลุ่มเป้าหมายที่���ปราะบางหรือไม่นั้น พล.อ.วัลลภ ระบุว่า เดิมฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงจะดำเนินการต่อกลุ่มเป้าหมายที่ไม่อ่อนแอ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐ และทหาร แต่ปัจจุบัน 4-5 เหตุการณ์ ก็เปลี่ยนเป้าหมาย มาดำเนินการต่อเป้าหมายอ่อนแอ ทั้งเด็กและประชาชนผู้ไม่บริสุทธิ์ รวมถึงพระสงฆ์ ซึ่งหลังจากนี้ภาครัฐจะต้องเข้มงวดและมีมาตราดูแลเป้าหมายอ่อนแอให้มากขึ้น ส่วนกระแสข่าวที่ทราบตัวผู้กระทำความผิดแล้วนั้น พลเอกวัลลพ ตอบเพียงสั้นๆ ว่าอยู่ระหว่างการสอบสวน คงจะติดตามให้ได้ตัวมาอย่างโดยเร็ว
ส่วนการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เพื่อเรียกร้องความชัดเจน ของวันเลือกตั้งนั้น ตนไม่กังวลที่จะนำไปสู่ความรุนแรง เพราะทุกคนทราบดีว่าการเลือกตั้ง จะต้องมีการเกิดขึ้นภายในเวลาที่กำหนด แต่ว่าจะช้าหรือเร็วต้องดูความเหมาะสม ไม่ให้กระทบกับพระราชพิธี ให้ 2 งานใหญ่ไปพร้อมกันอย่างราบรื่น ย้ำว่ารัฐบาลไม่ได้ถ่วงเวลาหรือทำให้ชักช้า ทุกฝ่ายตั้งใจจะให้มีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด
ส่วนที่มีกลุ่มเห็นต่างออกมาเคลื่อนไหว จะทำให้เห็นภาพการเมืองเก่าๆ กลับมาหรือไม่นั้น พลเอกวัลลภ กล่าวว่า ก็เป็นการแสดงความเห็นของทุกฝ่าย อยากจะขอให้แต่ละฝ่ายมีความเห็นต่างได้ แต่อย่าใช้ความรุนแรง ให้เกิดปัญหาซึ่งกันและกัน เพราะถ้าหากมีอะไรเกิดขึ้นบ้านเมืองจะไม่สงบสุข และไม่เป็นผลดีต่อการเลือกตั้ง
สำหรับการชุมนุมวันที่ 26 ม.ค.นี้ จะเพิ่มมาตราการดูแลความปลอดภัยหรือไม่นั้น ฝ่ายความมั่นคงจะดูแลให้อยู่ในกรอบของกฏหมาย ทั้งนี้ การข่าวไม่พบว่ามีการจ้องที่จะสร้างสถานการณ์ก่อเหตุรุนแรง ตามที่บางกลุ่มตั้งขอสังเกตุไว้ พร้อมย้ำว่าเจ้าหน้าที่จะดูแลให้ดีที่สุด
นายกฯ ออกแถลงการณ์ประณามผู้ก่อเหตุ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ ว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะนี้ กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมีความพยายามในการสร้างสถานการณ์เอื้อประโยชน์ต่อตนเอง และพยายามดึงเข้าสู่เงื่อนไขความขัดแย้ง อันจะทำให้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยไปสู่สากล ให้เกิดการรับรู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยการใช้การเสนอข่าวของสื่อมวลชน และสื่อโซเชียล เป็นเครื่องมือ ในขณะที่ประชาชนทั่วประเทศกำลังให้ความสนใจกับสถานการณ์ทางการเมืองที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้
กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมีความพยายามใช้เหตุการณ์ความรุนแรงที่อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2562 ทำลายขวัญกำลังใจ ความอดทนในการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีของไทย มุ่งหวังจะให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเข้าสู่เงื่อนไขสากล นำไปสู่การปฏิบัติการขององค์การระหว่างประเทศ
ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายพื้นที่ ในหลายประเทศ สังคม สื่อมวลชน สื่อโซเชียล และสื่อต่างๆ ควรเข้าใจในประเด็นนี้ และช่วยกันสร้างความเชื่อมั่น เพิ่มการเฝ้าระวัง แจ้งข่าวสาร ไม่สนับสนุนความพยายามดังกล่าว ประชาชนซึ่งถือเป็นเป้าหมายอ่อนแอ
เช่น ครู นักเรียน พระสงฆ์ ผู้นำศาสนา ประชาชนทั่วไป รวมถึงเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย ล้วนแต่ได้รับการดูแลและเฝ้าระวังอยู่แล้ว แต่ต้องยอมรับว่า จากจำนวนและความกว้างขวางของพื้นที่ รวมถึงห้วงเวลาในการดำเนินชีวิตปกติของประชาชนนั้น ทำให้ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง หรือร้อยเปอร์เซ็นต์ หากพื้นที่ใดต้องการให้มีการดูแลเป็นพิเศษ ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร หรือ กอ.รมน.ภาค 4 ได้โดยตรง ตลอดจนขอให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวังและให้ข้อมูลข่าวสารกับเจ้าหน้าที่ด้วย
อย่างไรก็ตามรัฐบาล และคสช. ขอให้ทุกคนให้กำลังใจประชาชนทั่วไป ผู้นำศาสนาทุกศาสนา ครู นักเรียน รวมถึงเจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร ทุกคนในพื้นที่ เพราะเขาอยู่ในพื้นที่เสี่ยง อันตราย และขอให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ เคารพกฎระเบียบ กติกาที่ฝ่ายความมั่นคงกำหนด เพื่อความปลอดภัยของทุกคน
ส่วนการพูดคุยสันติสุข ยังคงดำเนินการต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้ประชาคมโลกได้ทราบว่าเราได้ทำทุกมาตรการ ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงบางกลุ่มอาจไม่เห็นด้วย จึงสร้างสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น อยากให้ประชาชนและสังคมได้เข้าใจมาตรการการแก้ไขปัญหาของรัฐทั้งภายในประเทศและต่างประเทศด้วย ซึ่งที่ผ่านมา องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC ก็ให้การสนับสนุนแนวทางของไทยมาโดยต่อเนื่อง สำหรับนักสิทธิมนุษยชนและกลุ่ม NGO ต่าง ๆ ขอให้เข้าใจและดูแลทั้งประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐด้วย
รัฐบาล และ คสช. ขอส่งกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ และขอให้พี่น้องประชาชนมีความสุข ปลอดภัยทุกคน