ไม่พบผลการค้นหา
เนื่องในวันช้างไทย Voice ถือโอกาสถ่ายทอดสุ้มเสียงของประชาชนรอบผืนป่าตะวันออก ผ่านเรื่องราวของเกษตรกรจากจังหวัดฉะเชิงเทรา จันทบุรี ระยอง และครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิต

4-5 ปีมาแล้ว ที่คนแถบผืนป่าตะวันออกต้องเผชิญหน้ากับพิบัติช้างป่ารุนแรง เกษตรกรต้องประสบกับการทำลายพืชผลของช้างที่หิวโหย หนี้สินพอกพูกท่วมหัว หลายครอบครัวสูญเสียเสาหลัก ชุมชนประสบกับภาวะหวาดกลัว ขณะที่ช้างก็ขาดแคลนแหล่งอาหารที่เหมาะสมป่า 

ปัจจุบัน ช้างป่ากระจายตัวอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 96 แห่ง จากทั้งหมด 189 แห่ง คิดเป็น 37% ของพื้นที่อนุรักษ์ทั้งประเทศ และรุนแรงที่สุดในกลุ่มป่าตะวันออก หรือ ‘ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด’ รองลงมาคือ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าแก่งกระจาน-กุยบุรี กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าเขาหลวง-เขาบรรทัด  กลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก และกลุ่มป่าภูเขียว-น้ำเขียว

ป่าตะวันออก เผชิญความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่ารุนแรงที่สุดในประเทศไทย จากการประเมินของอาสาสมัครและชาวบ้าน พบว่า มีช้างอยู่ในพื้นที่ประมาณ 600 ตัว และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น ร้อยละ 8.2 ต่อปี สวนทางกับป่าที่รองรับช้างได้ประมาณ 325 ตัว

นี่คือร่องรอยการก่อตัวและพัฒนาของทุนนิยม นับตั้งแต่ยุคสัมปทานป่าไม้ การตัดไม้เพื่อการส่งออก การบุกเบิกที่ดินเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว การขยายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการตั้งถิ่นฐานและขยายตัวของเมือง ที่สุดแล้ว พื้นที่ป่าหดแคบลง เกิดเป็นพรมแดนทับซ้อนระหว่างที่ดินทำกินของมนุษย์กับแหล่งหากินตามธรรมชาติของสัตว์ป่า  

กล่าวได้ว่า ป่าที่เราเห็นในปัจจุบัน คือผลของนโยบายการพัฒนา และการบริหารทรัพยากรของรัฐที่ผิดพลาด โดยมีชีวิตของประชาชนถูกสังเวย 

ปี 2559-2565 มีผู้เสียชีวิตจากช้างป่า 135 คน บาดเจ็บ 116 คน 

ปี 2563 และ2564 เสียชีวิตปีละ 24 คน

ปี 2565 เสียชีวิตมากที่สุด 27 คน บาดเจ็บ 22 คน

ทางออกของปัญหาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ทว่าปัจจุบัน ทิศทางการแก้ปัญหาของรัฐกลับยังไม่เหมาะสมเพียงพอเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเรื่องระบบการเยียวยาเกษตรกรและผู้สูญเสียจากภัยพิบัติช้าง และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหา ตลอดจนการวางยุทธศาสตร์ในระยะยาวที่ยั่งยืน  

13 มีนาคม เนื่องในวันช้างไทย Voice ถือโอกาสถ่ายทอดสุ้มเสียงของประชาชนรอบผืนป่าตะวันออก ผ่านเรื่องราวของเกษตรกรจากจังหวัดฉะเชิงเทรา จันทบุรี ระยอง และครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิต พวกเขาหวังเพียงว่า ชีวิตพวกชุมชนจะปลอดภัย ศพของญาติพี่น้องจะเป็นเหยื่อรายสุดท้าย ในความขัดแย้งที่พวกเขาไม่ได้ก่อ  


1

“ดูเหมือนช้างเขาใจร้ายนะที่เขาทำร้ายคน แต่คนที่ทนมองเห็นช้างทำร้ายคนด้วยกัน เขาใจร้ายกว่า ถ้าเขามองเห็นชีวิตของเรามีค่า แม้แต่สักวินาทีเดียว เขาจะไม่ปล่อยให้เราอยู่ร่วมกับช้าง พอเกิดเหตุขึ้น คุณก็มาถ่ายรูป มอบพวงหรีดแล้วก็ไป ศพแล้วศพเล่า”

https://lh5.googleusercontent.com/p7Nx171iYsGKGux5Chn4NQ5ea-tWD4cwRPdj8AK8YF8HZL126BIdpv7tsbynir6jqGfgSDIDScH6Kmr4ZkN4ryZv-7tfezjml623ZkVoOLsiWJrDgkmRzOZTQx5jmqNWSi__gwf1lB7d5NRLtlD3Pog

ปิยวรรณ ดาวนันท์ เกษตรกร รับจ้างร้อยโมบาย และภรรยาของผู้เสียชีวิต

“ถ้าไปย้อนดูข่าวคุณสรยุทธ์ เขาออกข่าวว่า แฟนเราไปเก็บของป่าแล้วโดนช้างเหยียบตาย ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว แฟนเราตายในสวนมะม่วงหิมพานต์หลังบ้านของตัวเอง

“มันเป็นบาดแผลในใจ ไปไหนเขาก็ถามว่า แฟนไปเก็บของป่าไม่ใช่เหรอ ลูกก็โดนเพื่อนถามว่า ‘พ่อมึงไปเก็บของป่าเหรอ เป็นเจ้าหน้าที่ป่า ไปเก็บของป่าได้ยังไง’ คำพูดมันจุกอกเรา แฟนเราทำงานรักษาป่ามาตลอด แต่เขาหาว่าแฟนเราบุกรุกป่า มันคือตราบาปของคนที่สูญเสีย มันไม่เหลืออะไรให้เราภูมิใจเลย

“เมื่อก่อนเรากับแฟนทำงานโรงงานที่สมุทรปราการ เขาเป็นหัวหน้าช่าง เงินเดือนค่อนข้างเยอะ มีอยู่วันหนึ่ง เราต้องกลับบ้านมาที่ชุมชนอ่างเสือดำ ตำบลท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อมาดูแลยายที่แก่มากแล้ว แฟนเราเขาติดลูกมาก ทำงานเสร็จจากสมุทรปราการก็ขับรถกลับบ้านมาหาลูก จนวันหนึ่งเขาหลับใน รถไปประสานงากับรถพ่วง รักษาตัวอยู่นานกว่าจะดีขึ้น ยายก็เลยบอกว่า ให้แฟนกลับมาทำงานอยู่ที่บ้านด้วยกัน เพราะรู้ว่าเขารักลูกมาก ไม่อยากห่างจากลูก 

“แฟนออกจากโรงงาน มาทำงานเป็นพนักงานชั่วคราวป้องกันสัตว์ป่า เงินเดือน 9,000 บาท แก เขาทำงานนี้มา 7 ปี จนช่วง 3-4 ปีให้หลังมีเรื่องช้างเข้ามา เราขอร้องให้แกลาออก แกก็บอกว่า ‘แกรักงานตรงนี้ไปแล้ว แกออกไม่ได้’ เราเลยปล่อยเขา จนกระทั่งแกสอบบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ในส่วนกรมอุทยานแห่งชาติเขาอ่างฤาไนยได้ปีกว่า เราก็ดีใจ คิดว่าแกไม่ต้องมาเสี่ยงอันตรายลาดตระเวนแล้ว

“วันที่เกิดเหตุ 12 พฤษภาคม 2565 แฟนเขาลางานกลับบ้าน เขาบอกว่าบัตรประชาชนหมดอายุ จะมาทำบัตรใหม่ แต่จริงๆ แล้วเขาคิดถึงลูก อยากกลับมาหาลูก พอทำบัตรเสร็จ เขากลับมาบ้านประมาณเที่ยงๆ เขาก็ว่าจะเข้าไปดูสวนมะม่วงหิมพานต์หลังบ้านสักหน่อย จะไปเก็บเม็ดมาขาย เพราะมันเป็นรอบสุดท้าย ไม่อย่างนั้นก็ต้องรอปีหน้า

“เป็นปกติที่แกจะเข้าสวนทุกวัน เราก็มัวแต่ทำกับข้าว ทำงานไปไม่ได้สนใจ เข้าใจว่าแกกลับมาแล้ว เพราะแกไม่เคยออกจากสวนหลังบ่าย 3 พอประมาณ 5 โมงครึ่ง หัวหน้างานของเขามาหา บอกให้เราตามแฟนให้หน่อย เผอิญว่าวันนั้นเขาไม่ได้เอาโทรศัพท์ติดตัวไป เราก็เลยให้หลานไปตาม หลายก็ตามหาแกไม่เจอ

“ตอนแรกยังไม่เอะใจ แอบเคืองๆ ว่าทำไมไม่เอาโทรศัพท์ติดตัวไปด้วย จนเราขี่มอเตอร์ไซต์ออกไปตามเอง เราบีบเเตรทั่วไร่ก็ไม่มีเสียงตอบรับ ร้องเรียกก็ไม่เจอ เราเลยวกรถกลับบ้าน จนกระทั่งเราเหลือบไปเห็นรองเท้าบูทที่แกสวม กับกระป๋องที่แกถือเข้าสวนอยู่ไกลๆ เราก็ยังไม่ได้คิดมาก   คิดว่าเขาคงหาเห็ดอยู่แถวนี้

“พอวกรถกลับมา เราก็เริ่มเอะใจ ว่าถ้าเขาไปหาเห็ด เขาจะถอดรองเท้าไว้ในสวนทำไม เขาจะเดินเท้าเปล่าเหรอ เราเลยวกรถกลับไปอีกรอบ เข้าไปใกล้ๆ เราเห็นรองเท้าร่วงอยู่ กับหูกระป๋องสภาพบิดเบี้ยว รอบๆ มีรอยตีนช้างเต็มเลย เราก็รู้แล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะก่อนหน้านี้คนหมู่บ้านหนองปรือเพิ่งตายเพราะช้างเหยียบ

“เรารู้ทันที แต่ก็ไม่กล้าเข้าไปลึกกว่านี้เพราะมันโพล้เพล้แล้ว เลยขี่รถกลับมาตามญาติ ตอนขี่รถเราแทบจะล้มเลย ใจมันหวิวไปหมด รีบกลับมาบอกญาติว่า ‘หนูหาแฟนไม่เจอ เจอแต่กระป๋อง รองเท้า กับรอยตีนช้าง’ ทุกคนที่ได้ยินก็รู้หมดว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เขาก็พยายามบอกเราว่า ‘คงไม่ใช่หรอก’ แต่ในใจเรารู้แล้วว่า ถ้าช้างเขาทำ เขาไม่ทำแค่เจ็บหรอก

“พอกลับไปที่สวนอีกครั้ง เราเดินดิ่งๆ เข้าไป เหลือบมองข้างทางก็เห็นกองเสื้อเปื้อนเลือดตกอยู่ พอเดินไปอีกก็เจอกางเกง เพื่อนที่เดินล่วงหน้าไปก่อนเขาก็เดินกลับมาแล้วดึงเราไว้ เหมือนเขาไม่อยากเห็น เราก็บอกเพื่อนว่า "ไม่เป็นไรๆ เราจะไปดูแฟน เราดูได้" พอไปถึงสุดชายป่า ก็เจอแกนอนคว่ำหน้าอยู่ เลือดเต็มไปหมด ขาขาดข้างนึง

“ในใจเรามีแต่คำว่า ไม่ใช่ เรามั่นใจมาตลอดว่าแกเอาตัวรอดได้ มันต้องไม่ใช่สิ เราทรุดตัวลงกอดแก ถามแกว่า "ทิ้งหนูไปทำไม แล้วหนูกับลูกจะอยู่กับใคร" ความรู้สึกตอนนั้นมันเจ็บปวดที่สุด เราไม่รู้ว่าจะกลับมาบอกลูกยังไง จะบอกลูกว่าพ่อตายแล้ว คนเป็นแม่มันเจ็บปวดมากนะถ้าเห็นลูกต้องเจ็บปวด  เราคิดตลอดทางว่าถ้าเขารู้จากปากคนอื่น เขาจะช็อกไหม เราอยากรีบกลับมาบอกลูกด้วยตัวเอง แต่เราก็ทิ้งศพแฟนไว้ไม่ได้ เราก็นั่งอยู่กับร่างของแก แต่ใจก็คิดแค่ว่า "จะบอกลูกว่ายังไง จะบอกลูกว่ายังไง"

“ความฝันของแฟนเรา คืออยากเห็นใบปริญญาลูก วันที่แกเสีย คือวันที่เราลุ้นกันอยู่ว่าลูกจะสอบติดที่ไหน คุยกันตลอดว่าเราจะไปส่งลูกด้วยกันนะ แต่วันที่ผลสอบลูกออก คือวันที่ครอบครัวเราเผาศพแกนั่นแหละ

“คืนก่อนที่แฟนจะเสีย แกยังไม่ทันได้นอนกับลูกเลยนะ เพราะแกไปเก็บแมวจรมาตัวนึง แมวตัวนี้ยังเข้ากับแมวตัวอื่นๆ ไม่ได้ แกก็เลยไปนอนกับแมว เพราะคงคิดว่าหยุดกลับบ้านตั้ง 5 วัน พรุ่งนี้ค่อยนอนกับลูกสาวก็ได้  สุดท้ายแกก็ยังไม่มีโอกาสได้นอนกับลูกเลย ทั้งๆ ที่ในชีวิต ลูกคือสิ่งที่แกรักและสำคัญที่สุด

“ครอบครัวเราไม่ร่ำรวย หาเช้ากินค่ำ เราพออยู่ได้ ไม่ได้ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ แฟนเรา ปลูกผักเต็มไปหมด สวนแกก็ทำคนเดียว ก็ไม่เคยให้ลูกเมียเข้าไปเพราะกลัวอันตราย พอแกจากไป เราต้องเป็นเสาหลักครอบครัว มันก็ลำบากกว่าเดิมนะ บางทีไปรับส่งลูกที่โรงเรียน เราก็กลัวช้าง แต่ก็ต้องไป เราพยายามจะเป็นทั้งพ่อทั้งแม่ให้ลูก แต่เอาจริงๆ เราแทนที่พ่อเขาไม่ได้หรอก

“ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดา จะได้เงินเยียวยาจากมูลนิธิฯ ศพละ 5,000 และเงินกองทุนช้างจากอำเภอศพละ 20,000 บาท เขาว่ากันอย่างนั้น แต่สามีของเราได้แค่ 10,000 บาท แล้วก็งบจาก อบต. ที่จะให้เงินหากผู้ตายเป็นหัวหน้าครอบครัว ได้ 50,000 บาท แต่ถ้าไม่ใช่หัวหน้าครอบครัว จะได้ 25,000 บาท แค่นั้นแหละที่หน่วยงานรัฐเยียวยาพวกเรา พอเราไปเรียกร้อง เขาก็มองว่าเราหิวเงิน แต่ถ้ามันเลือกได้ เราอยากให้สามีเรากลับมามากกว่า

“แม้กระทั่งหน่วยงานของสามี เขาเคยบอกว่าหากเสียชีวิตในหน้าที่ จะได้เงินทำศพ 150,000 บาท ถ้านอกเหนือหน้าที่ จะได้ 15,000 บาท แต่เอาเข้าจริง เราไม่ได้สักบาท ไม่มีเลย

“ภาครัฐบอกกับชาวบ้านตลอดว่า คนอยู่ร่วมกับช้างได้ แต่มันไม่จริง เราไม่เคยจับต้องได้ สิ่งที่เราได้คือ โกฐกระดูกของคนในครอบครัว เงินเยียวยานิดหน่อยที่เขาให้ แล้วก็พวงหรีด

“เจ้าหน้าที่เขาบอกให้งดออกจากบ้าน แต่ชาวบ้านในพื้นที่ต้องออกไปทำกิน เพราะหนี้ ธกส. ก้อนโตค้ำคออยู่ สุดท้ายสถานการณ์ก็บีบให้เราออกไปทำมาหากิน ถ้าเช้าไม่ไปหา ค่ำก็ไม่มีกิน คนที่เสียชีวิตส่วนมากจะเป็นหัวหน้าครอบครัว ถามว่าเขาออกไปทำกินนอกบ้าน เขากลัวช้างไหม เขากลัว แต่สิ่งที่กลัวที่สุดคือ กลัวลูกเมียอดตาย

“เราไม่เคยคิดว่ามันคือความผิดของช้าง ช้างเขาก็เหมือนเรานี่แหละ ถ้าเขามีอาหาร มีที่อยู่อาศัย เขาก็ไม่ออกจากป่าหรอก คุณบอกว่าคุณอนุรักษ์ช้าง แล้วคุณดูแลอาหารการกินของเขาเพียงพอไหม คุณอนุรักษ์ช้างแต่ไม่สนใจความเป็นอยู่ของเขา เขาก็ต้องออกมาเร่ร่อนเพราะไม่อยากอดตาย ถามหน่อยว่าช้างที่ไหนจะอยากออกมาเร่ร่อน แต่ถ้าเขาอยู่ในป่าที่ไม่มีอาหาร เขาก็อดตาย ไม่ต่างอะไรจากมนุษย์เลย

“คนภายนอกจะมองว่า เราไปรุกป่า รุกที่ช้าง ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราอยู่กันมาตั้งแต่รุ่นตารุ่นยาย  แต่คุณก็มาตราหน้าว่าเราบุกรุกป่า รุกที่ช้าง ทั้งๆ ที่ตรงนี้ เป็นที่ๆ รัฐจัดสรรให้เราทำมาหากิน รัฐให้เราเสียภาษี เราก็เสียภาษีทุกปี เราไม่ได้รุกล้ำป่า หรือทำนอกเหนือกฎหมาย แม้กระทั่งเงินเยียวยาพืชผลทางการเกษตรจากการถูกช้างทำลาย เราก็ไม่เคยได้รับ เพราะเงินเยียวยาจะได้เฉพาะผู้ที่มีเอกสารสิทธิ์ แต่เราเป็นแค่ผู้เช่าที่ดินของรัฐ นี่คือความเหลื่อมล้ำ เราไม่เคยได้รับอะไรเลย แถมต้องมาเจอกับคำที่ว่า คุณบุกรุกที่ช้าง

“เมื่อก่อน เราเจอช้างอยู่ข้างทาง เราไม่เคยกลัวเขาเลย เพราะเรามีความเชื่อว่า 'ถ้าเราไม่ทำร้ายเขา เขาก็จะไม่ทำร้ายเรา' แต่หลังจากแฟนเราเสียชีวิต ความเชื่อนี้หมดไปเลย เราหมดศรัทธากับคำว่า 'สัตว์คู่บ้านคู่เมือง'  หรือคำว่า 'ถ้าเราไม่ทำร้ายเขา เขาก็จะไม่ทำร้ายเรา'  เพราะแฟนของเราเป็นคนที่รักสัตว์มากที่สุด แกไปไล่ช้าง แกก็ไปทำตามหน้าที่ พอแกกลับมาบ้านก็จะมาบ่นว่า วันนี้ไปไล่ช้างแม่ลูกอ่อน จุดลูกบอลแล้วช้างไหลลงคู ช้างเขาก็พยายามเอางวงอุ้มลูกเขาไว้ แกไม่เคยสบายใจเลยที่ต้องไปไล่ช้าง แม้กระทั่งมะม่วงข้างบ้าน พอช้างจะมากิน แกปิดไฟรอบบ้านหมดเลย กลัวช้างไม่กล้ากิน แกบอกว่า 'ให้เขากินไปเถอะ ดีกว่าร่วงทิ้ง' หรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์ในสวน แกเก็บมาแต่เม็ดนะ ส่วนเนื้อของมัน แกเอาไว้ให้ช้างกิน

“เราไม่เคยโกรธ ไม่เคยเกลียดช้าง แต่เหนื่อยใจกับรัฐ เราเชื่อว่าปัญหานี้แก้ไขได้ อยู่ที่ว่าเขาจะแก้ไขไหมเท่านั้น

“ดูเหมือนช้างเขาใจร้ายนะที่เขาทำร้ายคน แต่คนที่ทนมองเห็นช้างทำร้ายคนด้วยกัน เขาใจร้ายกว่า ถ้าเขามองเห็นชีวิตของเรามีค่า แม้แต่สักวินาทีเดียว เขาจะไม่ปล่อยให้เราอยู่ร่วมกับช้าง พอมันเกิดเหตุขึ้น คุณก็มาถ่ายรูป มอบพวงหรีดแล้วก็ไป ศพแล้วศพเล่า”

“ดูเหมือนช้างเขาใจร้ายนะ แต่คนที่ทนเห็นช้างทำร้ายคนด้วยกัน เขาใจร้ายกว่า”


2

"หนูนั่งคิดนอนคิดกับตัวเองว่า ทำไมพ่อเราต้องมาเจออะไรแบบนี้ คนทำงานอยู่แท้ๆ ก็ต้องมาตาย พอเห็นสภาพพ่อก็สงสารเขา"      

https://lh3.googleusercontent.com/OKdkvWze747rBXTrKca9nhQzvZ9QPKM_h-yYrOFjMzFS_7S8-ISaS_XMQwUh2FnoPx0-kmBljOj6-0m8utHxt_KkPPH5nHoegMjfsr0myt3CWzoTpqB-CG9l6ahDaxYV1DQdXUkApfxSxm2HC74Ts0M

จิดาภา อุลัย (ลูกสาวของคนที่เสียชีวิต) เกษตรกรสวนยางพารา

“วันที่เกิดเหตุ พ่อไปฉีดหญ้าที่สวน หนูก็อยู่บ้านกับน้องและแม่ วันนั้นมีคนโทรมาบอกว่า ให้ระวังช้างด้วยนะ เขาอาจจะมาซอยทางบ้านหนู วันนั้นพ่อหนูเขาก็ทำงานในสวน ประมาณเที่ยงๆ พ่อก็กลับมากินข้าวแล้วก็ออกไปทำงานต่อ หนูคิดว่าเสียงที่ฉีดหญ้ามันคงดัง พ่อเขาก็กำลังตั้งใจทำงาน เขาคงไม่ได้ยินเสียงช้าง หมาก็ไม่เห่าอะไร แล้วช้างเขาเดินเงียบมาก พ่อเขาคงวิ่งไม่ทันแน่ๆ เพราะก้าวคนกับก้าวช้างมันห่างกันมาก

“ตอนแรกหนูไม่ได้เอะใจว่าพ่อหายไปไหน ปกติช่วงเย็นๆ พ่อเขาก็จะชอบออกไปนั่งคุยอยู่บ้านเพื่อนตามประสา หนูก็เลยไม่ได้ตาม จนรุ่งเเช้าของอีกวัน หนูก็ไปหยอดน้ำกรด แม่ก็ไปกรีดยาง  พอทำงานกันเสร็จ หนูเลยไปถามเพื่อนพ่อ เขาก็บอกไม่เห็นพ่อเลย หนูเริ่มใจไม่ดี เริ่มโทรหาคนอื่นๆ ให้ช่วยตามหาพ่อ 

“หนูออกไปตามหาพ่อในสวนยาง เห็นถังฉีดหญ้าหักอยู่ เดินไปอีกหน่อยก็เริ่มเห็นฝูงหมามารุมล้อม พอเดินไปถึงพุ่มหญ้า เราก็เจอพ่อร่างพ่อนอนคว่ำอยู่ 

“ตอนนั้นหนูรู้เลยว่าเป็นช้าง เพราะก่อนหน้านี้เพิ่งมีคนต่างหมู่บ้านโดนช้างทำร้ายเหมือนกัน หนูรู้เลยว่าต้องใช่ช้าง เพราะรอบๆ มีแต่รอยเท้าช้าง เพื่อนบ้านเขาก็มีช่วย มันกะทันหันมาก หนูนึกอะไรไม่ออกเลยตอนที่เห็นสภาพพ่อ

“ชีวิตมันเปลี่ยน หนูกับแม่ต้องกลายเป็นเสาหลัก เมื่อก่อนพ่อเขาจะทำงานทุกอย่าง ทั้งดูแลบ้าน ดูแลสวน เป็นหัวหน้าครอบครัว แต่พอไม่มีพ่อ หนูยังนึกไม่ออกเลยว่าจะต้องใช้ชีวิตยังไงต่อ เราต้องทำงานหนักขึ้น ตัดยาง กรีดยาง ทำเองทั้งหมด มันก็ลำบาก เราก็คงต้องค่อยๆ ทำไป แล้วก็ต้องดูแลน้องสาวด้วย น้องอยู่ ป.4 แล้ว

“สวนผืนนี้เป็นความภูมิใจของพ่อ เขาเก็บเงินซื้อมาเอง ดูแลมาอย่างดี มันเป็นที่ดินของพ่อ เขาทำเองทุกอย่าง ถางหญ้า ปลูกเอง ทำเอง เขารักของเขา ทำสวนทุกวัน หนูก็อยากดูแลสวนของเขาต่อ

“เงินเยียวยาและเงินที่หน่วยงานต่างๆ มอบให้ได้ รวมๆ แล้ว ไม่ถึงสองแสนบาท เงินนี้เอามาจัดงานศพพ่อ ตอนนี้กำลังรออีกหน่วยงาน เขาบอกว่ารออีกสักพักนึง แล้วเขาจะให้เงินสงเคราะห์ครอบครัว กรณีหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต ประมาณ 50,000 บาท 

“ตอนนี้หนูไปอยู่บ้านพี่สาวแม่ที่ระยอง ไปช่วยเขาตัดยาง หาเงินพออยู่ได้ หนูไม่กล้าอยู่บ้านที่แก่งหางแมว (จันทบุรี) เพราะสภาพบ้านมันไม่ปลอดภัย ถ้าพ่อยังอยู่ หนูอยู่ได้ แต่พอพ่อไม่อยู่แล้ว หนูกลัว ตอนกลางคืนยิ่งน่ากลัว 

“หนูนั่งคิดนอนคิดดกับตัวเองว่า ทำไมพ่อเราต้องมาเจออะไรแบบนี้ คนทำงานอยู่แท้ๆ เห็นสภาพพ่อก็สงสารเขา 

3

"เราไล่ช้าง ช้างเขาไปนะ แต่แป๊บเดียวเขาก็กลับมา ถ้าคนไปยิงช้างตายก็มีความผิด โดนจับติดคุก แต่ถ้าช้างฆ่าคนตาย ไม่มีความผิด เอาผิดกับใครไม่ได้ จับเขาไปปล่อยในป่า ไม่กี่วันเขาก็กลับมาที่เดิม ส่วนคนตายแล้วก็ตายเลย"

https://lh4.googleusercontent.com/MvR6Xb7EhOHwy16xAt4yD7Y9zUhiTrIRaMjNvE1x50nOXWn2k5tc6AkRaCe6nnuT-fYkDrmpo5huWLylpN2ZHEeSZmpPQ73purdOoFWZWGetmpe2qXOAEnmh2_XloHOvQyUYMCbSVVlxq8-OCTQwgNg

สมพร จันทร์เผื่อน เกษตรกรตำบลท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา

“ผมต้องมานอนเฝ้าไร่ทุกวัน ถ้าไม่เฝ้า ช้างก็มากินหมด เขามาบ่อย ยิ่งช่วงมันสำปะหลังกำลังโต เขาจะมาทุกคืน เราก็ต้องขี่รถไถมานอนเฝ้า พอเขามาก็จะจุดลูกบอลไล่สัตว์ เป็นแบบนี้มา 3 ปีแล้ว 

“ถามว่ากลัวไหม เรากลัว แต่ผลผลิตของเราสำคัญกว่า ถ้าเราไม่มาเฝ้า เราก็ขาดทุน  แค่เฉพาะขี้ไก่ 3-4 เที่ยว ก็เที่ยวละ 12,000 บาท ไหนจะค่าต้นมัน ค่าคนงาน เฉพาะค่าเช่าที่ก็เกือบแสนแล้ว เกษตรกรที่นี่โดนเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะป่าปาล์ม ไร่มัน 

“ปีที่แล้ว ช้างเขามายืนกินมันสำปะหลังในสวน ผมก็มานอนเฝ้าอยู่บนกระต๊อบในไร่ พอผมได้ยิน ผมก็จุดลูกบอลโยนใส่เขา เขาก็ค่อยๆ เดินออกไป ตอนแรกก็คิดว่าเขาคงไม่ออกมาแล้ว รู้ตัวอีกที เขาเดินกลับมาเกือบถึงกระต๊อบที่ผมนอนอยู่ ผมก็จุดลูกบอลจนหมดถุง เอารถไถไล่ก็ไม่หนี จนผมหันไปบอกแฟนว่า "ป่ะ เรากลับกันเถอะ"  ช้างตัวนั้นประมาณ 7 ตันได้ เขาตัวใหญ่มาก 

“เมื่อก่อนช้างป่าเขาไม่เข้ามาในชุมชนเหมือนทุกวันนี้หรอก เขาจะไม่ออกมา เขาจะอยู่แต่ในป่า แต่ตอนนี้เขาออกมาชุมชนทุกวัน อนาคตผมคงเลิกเช่าที่ดินแปลงนี้ รอหมดหนี้หมดสินก่อน เพราะตอนนี้เราก็ต้องส่งทั้งรถไถ ปีละแสนกว่าบาท รถปิ๊กอัพส่งรายเดือนเดือนละ 10,000 บาท ก็คิดว่าจะทำต่ออีกสัก 3-4 จนกว่าจะผ่อนรถหมด ผมไม่อยากอยู่ตรงนี้แล้ว 

“พอมีคนโดนช้างเหยียบ รัฐก็มาช่วยเหลือค่าทำศพนิดหน่อย สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือ อย่าให้ช้างมาอยู่ร่วมกับประชาชน อยากให้เขามีอาหารในป่าเพียงพอ พอป่าไม่มีอาหาร เขาก็ออกมาข้างนอก ส่วนมากสังคมเขาก็บอกว่า เรามาแย่งที่อยู่อาศัยช้าง มันไม่ใช่ บริเวณนี้คนอยู่มาก็ไม่รู้เท่าไหร่ ช้างมันเพิ่งออกมาไม่กี่ปีนี้เอง 

“ผมก็มีความรู้สึกนะว่า ตรงนี้พวกเราทำมาหากินกันมานาน ไม่เคยถูกรบกวน แต่อยู่ๆ ก็ต้องมาเจออันตราย แล้วมาโดนตราหน้าว่าแย่งที่อยู่ช้าง เขาคงอยากให้ประชาชนออกไปจากที่นี่ 

“ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะมากหลังจากเจอเรื่องช้าง เช่นเมื่อก่อน ปกติหน้าฝนชาวบ้านก็จะออกจับกบ จับอึ่ง ทุกวันนี้ไม่มีใครกล้าออกมาหรอก แม้แต่กลางวัน ทุกวันนี้คนก็ไม่กล้าออกบ้านมาเก็บผักเก็บหญ้า ถ้าผมหมดหนี้หมดสิน ผมจะกลับไปทำสวนที่บ้าน (หมู่บ้านข้างๆ) ปลูกเห็ดฟางนิดๆ หน่อย เลี้ยงชีพ หมู่บ้านผม ช้างเขาก็ไปทุกคืนเหมือนกัน แต่อย่างน้อยเราก็ช่วยกันดู ช่วยกันเฝ้าหลายคนได้

“เราไล่ช้าง ช้างเขาไปนะ แต่แป๊บเดียวเขาก็กลับมา คนในชุมชนก็พยายามต่อสู้เรื่องนี้นะ แต่มันจะไปต่อสู้ยังไงล่ะ ไปยิงช้างตายก็มีความผิด โดนจับ แต่ถ้าช้างฆ่าคนตาย ไม่มีความผิด เอาผิดกับใครไม่ได้ จับเขาไปปล่อยในป่า ไม่กี่วันเขาก็กลับมาที่เดิม ส่วนคนตายแล้วก็ตายเลย 

“เราเจอช้างแทบทุกวัน บางทีเช้าๆ เขาก็มาเดินอยู่แถวนี้ กินน้ำ กินพืชผลการเกษตร กลางวันเรายังไม่กล้าออกไปเดินเล่นแถวบ้านเลย เราก็อยากให้ช้างได้ไปอยู่ในป่า ในที่ของเขา คนอยู่รวมกับช้างป่าไม่ได้หรอก เพราะบางวันช้างเขาคุ้มดีคุ้มร้าย ชาวบ้านก็ไม่รู้จะทำยังไง 

“จริงๆ เราก็ยังอยากทำไร่ต่อ อยากเช่าที่ทำกินไปเรื่อยๆ แต่พอมีเรื่องช้าง ผลผลิตเราได้ไม่คุ้มเสีย เราก็คงต้องหยุด เพราะช้างมันดูจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ปีๆ นึงเขาก็ออกลูกออกหลานมาเยอะ เราก็สู้เขาไม่ไหวเหมือนกัน 

“ภาครัฐต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ชาวบ้านตาดำๆ อยากให้เขามาช่วยดูว่าเราเจอปัญหากันแบบไหน อยู่กันยังไง เขาไม่มาอยู่กับเรา เขาไม่รู้หรอกว่าเราเจออะไรบ้าง 

“สมมุติช้างมาทำลายพืชผล 10 ไร่ เขาก็จะประเมินให้ประมาณ 1 ไร่ อย่างแปลงที่ผมปลูก ถ้าวันไหนไม่มีเฝ้า หายไปครึ่งแปลงเลยนะ เฉพาะที่เสียหายของผมก็ 40 กว่าไร่  

“ทุกวันนี้ชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองทั้งนั้น ลูกบอลไล่ช้างที่ต้องซื้อปีๆ นึงหมดหลายบาท ลุงละ 200 บาท เราใช้ทุกวัน คืนๆ นึงไม่ต่ำกว่า 10 ลูก แล้วถุงนึงมี 50 ลูก คิดดูนะว่าต่อเดือนต่อปี เราต้องเสียเยอะเท่าไหร่ แถมที่ขายแถวบ้านก็มีแต่ลูกเล็กๆ ไปซื้อทีก็ต้องวิ่งรถไปซื้อที่ตัวอำเภอ ค่าน้ำมันก็เยอะ เฉพาะค่าน้ำมันรถไถที่ต้องขับมานอนเฝ้าไร่ ตกอาทิตย์ละ 700-800 บาท 

“อย่างน้อยถ้าเราไม่มีช้าง เราก็ได้กำไรจากการทำไร่มากขึ้น มีเวลาไปทำอย่างอื่นมากขึ้น ไม่ต้องมานอนเฝ้าที่ไร่ทุกคืน” 

4

"เราไม่โกรธช้างนะ เพราะโดยธรรมชาติของเขา เขาก็ต้องหากิน คงโกรธเขาไม่ได้  แต่ถ้าเราไปเรียกร้อง รัฐก็เยียวยาให้น้อยมาก หรือคนโดนช้างเหยียบตาย ศพนึงไม่เกิน 20,000-30,000 บาท ขณะที่ภาระของครอบครัวมันมหาศาลเลย"

https://lh5.googleusercontent.com/9GZXGKRac6umBZGt8F4H2Sen7B6gRWrP13CNrpw70j0q-cdmFFvDzH_qxKpMospc63bTAj7b5d76bvc7fL82Xd2ko8rAjTFRg6iJk9zp_PYP3eb4zC1HGIZHwC2GgC2SwAfXaqpor4_oyhw8Yx2-yHo

ภคิน ทองเพชรบูรพา เกษตรกรสวนผลไม้ บ้านสวนต้นน้ำ จังหวัดระยอง 

“เรามีทุเรียนอยู่ตนนึง ต้นใหญ่มาก อาย 40 ปี เราก็เก็บลูกทุเรียนเกือบหมดแล้ว เหลืออยู่ข้างบน 2 ลูก ช้างเขาเห็นแล้วเขาอยากกิน พอเขากินไม่ถึง เขาโค่นต้นไม้ 40 ปีหักลงมาเลย นี่คือปัญหา ทุเรียนต้นนั้นให้ผลผลิตเราปีนึง 100 กว่าลูกนะ พอเขาหักโค่นไป มันก็จบแล้ว 

“การผลักดันช้างต้องมีทักษะ ต้องมีความเข้าใจช้าง ถ้าเราไล่เขาไม่เป็น ก็อาจถูกเขาทำร้ายได้  จากชาวสวนก็ต้องกลายเป็นควาญช้าง (หัวเราะ) เพราะเวลาช้างเขาเข้ามากินผลไม้ ถ้ากินปกติก็ไม่เท่าไหร่ แต่ธรรมชาติของช้าง เขาจะหักทำลายด้วย เราก็เดือดร้อนหนัก เพราะต้นไม้ต้นนึงเราปลูกมา 20-30 ปี ช้างเขาก็หักโค่นได้

“เรามีทุเรียนอยู่ตนนึง ต้นใหญ่มาก อาย 40 ปี เราก็เก็บลูกทุเรียนเกือบหมดแล้ว เหลืออยู่ข้างบน 2 ลูก ช้างเขาเห็นแล้วเขาอยากกิน พอเขากินไม่ถึง เขาโค่นต้นไม้ 40 ปีเลย นี่คือปัญหา ทุเรียนต้นนั้นให้ผลผลิตเราปีนึง 100 กว่าลูกนะ พอเขาหักโค่นไป มันก็จบแล้ว 

“สวนเราหมักผลไม้ไว้หลายอย่าง เช่นกล้วยสุก กลิ่นมันก็แรงเตะจมูกช้าง พอเขาเดินมา เขาก็จะรื้อแล้วดูดกินกล้วยที่หมักไว้เลย ตอนนี้ช้างเขากินทุกอย่าง มีแต่มังคุดที่เขาไม่ค่อยกิน แต่ละวันก็ต้องตื่นมาลุ้นว่าจะเจอกับอะไร สวนเราจะโดนได้หักโค่นเท่าไหร่ จังหวะที่เสียหายมากที่สุด จะอยู่ที่จำนวนช้างที่เข้ามา 

“พอช้างมากินผลผลิตในสวนของชาวบ้าน รสชาติมันดีกว่าในป่า เขาติดใจ แล้วก็มากินใหญ่เลย อย่างทุเรียน ตอนแรกช้างเขากินไม่เป็นนะ เพิ่งมากินเป็นปีที่แล้ว เอาเท้าเหยียบทุเรียนแตกแล้วกินเนื้อเลย ลองกองก็เป็นเหมือนของหวานของช้างเลย มีตรงไหนกินตรงไหน เกษตรกรเจอสถานการณ์แบบนี้

“ก่อนเจอปัญหาช้าง เราก็ใช้ชีวิตกันปกติ ควบคุมได้ว่าปีๆ นึงเราลงทุนไปเท่าไหร่ จะได้ผลผลิตเท่าไหร่ กำไรขาดทุนเท่าไหร่ ไม่กังวลอะไรมากเพราะไม่มีใครมาหักทำลาย แต่พอช้างเข้ามา มันมีสภาวะที่เราต้องต่อสู้เพิ่มมากขึ้น เราจะป้องกันยังไงเวลาเขามา ในฐานะชาวสวน เราก็ศึกษาพฤติกรรมช้าง เช่น เขาไม่เข้ามายุ่งกับอาคารมากนัก เราก็พยายามหาพืชผลมาปลูกในอาคารเพื่อเพิ่มรายได้ทางอื่น แต่อาคารเพราะชำก็ต้องลงทุนหลายหมื่นนะ หรือปลูกผักในโดม ก็ต้องแก้ปัญหากันไป 

“ต้นทุนทางการเกษตรปีนี้ค่อนข้างสูง ถ้ายิ่งทำสวนเคมี ปุ๋ยและยาจะแพงมาก  ดีหน่อยที่เราทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้ต้นทุนการผลิตของเราไม่สูงเท่าเกษตรเคมี แต่รายจ่ายที่แพงคือค่าแรงคนงานที่เพิ่มมากขึ้น เราก็พยายามปรับตัวเพื่อเอาตัวรอด 

“เราจะเผชิญกับความกังวลและความเครียดมากกว่า ยิ่งสวนอื่นที่เขาลงทุนสูง เขาก็ต้องคาดหวังผลผลิตที่เยอะ แล้วยังต้องมาเสี่ยงกับช้าง เขาก็กังวลว่าลงทุนไปจะคุ้มไหม บางสวนก็เป็นหนี้เป็นสิน 

“เราไม่โกรธช้างนะ เพราะโดยธรรมชาติของเขา เขาก็ต้องหากิน คงโกรธเขาไม่ได้ แต่วันนี้เราต้องมาดูแล้วว่า เราจะแก้ไขปัญหานี้ยังไง อย่างรัฐเองก็แก้ไขปัญหายาก เราก็ไม่รู้ว่าเขาติดเงื่อนไขอะไร อย่างเวลาช้างทำลายผลผลิต เรายังมองไม่ออกเลยว่าจะเรียกร้องกับใคร ถ้าไปเรียกกับรัฐ รัฐก็จ่ายให้น้อยมาก หรือคนโดนช้างเหยียบตาย ศพนึงไม่เกิน 20,000-30,000 บาท ที่รัฐจะมาเยียวยา  กับภาระของเขาที่อยู่ด้านหลัง มันมหาศาลเลยนะ  เห็นเขาบอกว่ารัฐมีงบประมาณเยียวยา แต่เราไม่เคยเห็นมันเลย ไม่รู้เหมือนกันว่าไม่เยียวยาอะไรตรงไหน

“วันนี้เราอยากให้รัฐเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้พูด มานั่งคุยกันว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร แค่ไหน รัฐเขาก็มีแนวทางของเขา ชาวบ้านก็มีแนวทางของเรา เราอยากได้ความรู้ในการป้องกันเรื่องช้างกับเกษตรกร การปรับตัว การทำงานร่วมกัน มันควรมีความรู้เหล่านี้เข้ามาในพื้นที่ แต่ตอนนี้มันไม่มีเลย 

“เขาบอกว่ามีการเยียวยานะ แต่เอาเข้าจริง มันไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น แล้วการเยียวยามันเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ แต่มันไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน เพราะปัญหาช้างมันมีทุกวัน 

“การแก้ปัญหาเบื้องต้นที่ชาวบ้านทำคือ ชาวบ้านได้ตั้งกลุ่มอาสาสมัครไล่ช้าง อย่างสวนของเรา พอโดนช้างเข้ามาทำลายผลผลิต เราก็จะโทรหาพวกเขาให้มาช่วย เพราะอย่างน้อย เมื่อเขาไล่ช้างอย่างมีทิศทาง มันลดความสูญเสียของสวนอื่นๆ ได้ด้วย แต่ถ้าแต่ละบ้านไล่เฉพาะสวนของตัวเอง ช้างเขาก็จะดินอย่างไม่มีทิศทาง ไล่ออกจากสวนนี้ก็ไปเข้าสวนนั้น ช้างเขาก็เกิดความเครียด และอาจเกิดความสูญเสียกว่าเดิม 

“แต่กลุ่มอาสาสมัครเขามีทักษะ ไล่เพื่อต้อนเข้าสู่ทิศทางกลับสู่ป่า มันลดความเสียหายทั้งเกษตรกรและพื้นที่ทำกินของชาวได้เยอะเลย แต่กลุ่มคนเหล่านี้กลับไม่มีการสนับสนุนของรัฐ ไม่มีใครมาช่วยเหลือเขา เขา ต้องทำมาหากินแล้ว ต้องมาทำงานจิตอาสาที่มีความเสี่ยง รายได้ก็น้อย เราก็เป็นห่วงเขานะ ซึ่งงานที่เขามันเกิดประโยชน์จริงๆ ถ้าเขาได้รับการสนับสนุน หรือการช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ 

5

"เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการก็จะพูดในทำนองเดียวกันว่า 'ทำไม่ได้' 'ติดระเบียบ' 'ขอไปแล้วยังไม่ได้'  'กฎหมายยังไม่มี' 'พี่ทำอะไรไม่ได้เลย' เจ้าหน้าที่เขามีความตั้งใจ แต่ระบบของรัฐขาดกระบวนการทำงานที่คล่องตัว"

https://lh6.googleusercontent.com/XhL1qkUH1qWBwKk6TgGUjH_o-i9f_0ixc79XUKu9D2JdJnxNp1qepOaoGYfGffKy6tpupvEy60eMeuPoir0sv7NybjjOFnh6rKBhH2wo0l2nAu9Skjj1gbw22QTCpZsspqLK_qRTHLPKHWVtC64lq4c

พีระพัฒน์ สนองสุข เกษตรกร จันทบุรี

“ผมอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เด็ก ไม่เคยเจอช้างในชุมชนเลย ได้ยินแค่เรื่องเล่าลือว่าช้างเขาอยู่ในป่านะ เราไม่เคยเห็น พอโตหน่อยก็ออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน พอกลับมาเราก็ได้รู้ข่าวว่า เฮ้ย บ้านเรามันเปลี่ยนไปแล้วนะ มันมีช้างป่าออกมาเดิน มากินพืชผลของชาวบ้าน มีคนถูกทำร้าย เราก็แปลกใจเหมือนกัน แล้วก็กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เรื่องนี้ เพราะไม่เคยเห็นช้างป่า

“ความเสียหายของเกษตรกรจะขึ้นอยู่กับฤดูกาล สวนมากก็จะช่วงหน้าฝน เพราะช้างเขาชอบออกมาช่วงอากาศเย็น ถ้าอากาศร้อนเขาจะหลบเข้าป่า แต่ถ้าฝนปรอยๆ นี่เขาจะเดินกันสนุกสนานเลย 

“ผมเคยเจอช้างอยู่ข้างบ้านเลย ได้ยินเสียงหมาเห่า ก็เลยเปิดหน้าต่างดู เห็นช้างเดินผ่านข้างบ้านไปเลย ตอนนั้นแปลกใจมาก เพราะเขาเดินห่างกับเรานิดเดียว แต่เราไม่ได้ยินเสียงเขาเลย มันเปลี่ยนภาพจำของเราไปเลย สัตว์ใหญ่ต้องโครมคราม แต่จริงๆ เขาเดินเงียบมาก แต่ช้างตัวนั้นที่เราเจอเขาสงบ เขาไม่ดุ เขากำลังเดินกลับเข้าป่าหลังจากหากินแล้ว 

“ตอนนี้ช้างในพื้นที่แก่งหางแมว มีการประเมินกันว่าอยู่ที่ 100-200 ตัว มันคือการประเมินนะครับ เพราะเรายังไม่มีเครื่องมือนับจำนวนช้างที่แม่นยำ ส่วนในพื้นที่ป่าตะวันออกทั้งหมด อาสาสมัครก็ประมาณว่า มีประมาณ 600 ตัว และมีอัตราการเพิ่มจำนวนประชากรประมาณ 8.2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี 

“ผมอยู่ที่นี่ตั้งแต่เกิด ที่ดินที่ชาวบ้านจับจองทำกิน รัฐก็จัดสรรให้เราทำกิน ไม่มีชาวบ้านคนไหนบุกรุกที่ดินป่าเข้าไปอีก ผมยังไม่เคยเห็นชาวบ้านคนไหนรุกล้ำที่ดินเข้าไปในป่าได้เลย เพราะเจ้าหน้าที่เขาก็ทำงานอยู่ ตรวจสอบอยู่ตลอด ดังนั้น วาทกรรมที่บอกว่าเรามาบุกรุกที่ดินป่า รุกที่ช้าง มันต้องมองให้รอบด้าน

“ปัญหาสำคัญคือ ประชากรช้างเราเพิ่มขึ้นจริงๆ แล้วเพิ่มในอัตราที่เร็วมาก ไม่เพียงพอกับป่าที่เรามีอยู่ตอนนี้ แล้วรัฐก็เข้ามาผูกขาดวิธีการแก้ปัญหา อยากสร้างก็สร้าง ไม่ปรึกษาหรือสำรวจความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริง ชาวบ้านไม่รู้เลยว่า วันดีคืนดีคุณจะสร้างอะไร ไม่เคยประชาสัมพันธ์กับชาวบ้าน แต่มาบอกให้ชาวบ้านปรับตัวนะ เหมือนคุณมีเครื่องมือแต่ไม่เคยสอนวิธีใช้กับชาวบ้าน

“สิ่งที่รัฐขาดคือกระบวนการที่ขาดความคล่องตัว เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการก็จะพูดในทำนองเดียวกันว่า 'ทำไม่ได้' 'ติดระเบียบ' 'ขอไปแล้วยังไม่ได้'  'กฎหมายยังไม่มี' 'พี่ทำอะไรไม่ได้เลย'

“ผมรู้ว่าเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการเขามีความตั้งใจแก้ปัญหา อยากหางบมาช่วย แต่เขาก็ติดระเบียบที่ออกแบบโดยคนบนหอคอยงาช้าง คนเหล่านั้นเขาดูไม่เดือดร้อน เพราะปัญหายังไม่ถึงตัวเขา 

6

หลายคนผวา หรือแม้แต่เห็นช้างไกลๆ เรายังกลัวเลย ยิ่งคนในชุมชนที่ช้างมาเดินเฉียดฝาบ้านทุกวัน เขาจะอยู่กันแบบนี้ได้นานแค่ไหน

วันช้างป่า

กาญจน์ธนัศ ดีการ เกษตรกรจันทบุรี-ระยอง 

“ช่วงไหนปัญหาหนักๆ รัฐก็จะเข้ามาแก้ปัญหา หรือพยายามจะมาช่วยแก้ปัญหา แต่ขั้นตอนในการเข้ามาแก้ปัญหาของภาครัฐ มันเหมือนกันแก้พอให้ผ่านไปที่ ไม่ได้วางแผนแก้ปัญหาระยะยาวเพื่อให้มั่นยั่งยืนเท่าที่ควร 

“จริงๆ ที่รัฐมาสร้างคูกันช้างรอบป่า สำหรับผมมันก็ไม่ค่อยเวิร์กนะ ผมเชื่อว่า เราไม่ได้เจอปัญหาช้างแค่ประเทศเดียว แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่เจอปัญหาลักษณะคล้ายๆ กัน อย่างรั้วกั้นช้างที่เขา ก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ กลับเป็นปัญหามากกว่าเวลาที่ช้างเล็ดลอดออกมา พอเขาจะกลับเข้าป่า คูกันช้างกลับเป็นปัญหาเวลาเขาจะกลับเข้าป่ามากกว่า 

“มากกว่านั้น รัฐของบมาสร้าง แต่กลับไม่มีการซ่อมบำรุงรั้วกันช้าง รวมไปถึงรัฐไม่ได้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการมากนัก ความรู้หรือความเท่าทันในการแก้ปัญหาของชาวบ้านและชุมชนก็น้อยมาก ชาวบ้านเขาก็อยากรู้ว่า เขาจะสามารถเสนอแนวทางหรือวิธีการจัดการร่วมกันได้ยังไงบ้าง

“อย่างกลุ่มอาสาผลักดันช้างที่ชุมชนเพิ่งจัดตั้งไม่นาน ขณะที่เขาต้องมาทำงานอาสาผลักดันช้างหรือเฝ้าระวัง เขาก็ต้องทำมาหากิน ออกไปกรีดยางเพื่อหาเลี้ยงปากท้องด้วย อาสาบางคนต้องอดหลับอดนอน ไปเฝ้าระวังช้างป่า จนเป็นปัญหาครอบครัวก็มีเพราะเอาเวลาไปทำส่วนชุมชนเสียมากกว่า 

“เหมือนตอนนี้เราช่วยกันเองในชุมชน ซึ่งเราทำได้และกำลังทำอยู่  เพียงแต่รัฐต้องมีส่วนร่วมด้วยในการเข้ามาสนับสนุนหรือขับเคลื่อนงานนี้ในระยะยาว เพราะนอกจากการเฝ้าระวัง ผลักดัน มันควรมีมาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวต่อไป 

“ช้างเข้ามาเปลี่ยนวิถีชุมชนพอสมควร ส่วนมากชุมชนเราจะทำสวนยาง เวลาที่เขาออกไปกรีดยางคือช่วงกลางคืน ขณะเดียวกัน ช้างเขาก็ออกหาอาหารกลางคืนเหมือนกัน ทำให้เวลามันซ้อน ตอนนี้เลยไม่รู้ว่าระหว่างช้างกับชุมชน ใครจะต้องหลีกใคร 

“คนก็ต้องหลบช้างไปกรีดยางตอนเช้าหรือกลางวัน เพื่อฉกฉวยเวลาในการทำมาหากิน ส่วนช้างก็ปรับตัวนะ จากตอนแรกที่ออกหากินกลางคืน เดี๋ยวนี้เขาก็ออกหากินช่วงกลางวันมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านต้องปรับตัวอยู่ตลอด 

“มันจะมีอยู่มีมช้างที่ไปโผล่หน้าในบ้านคน ภาพนั้นอาจจะดูตลก ในความเป็นจริง มันคือความไม่ปลอดภัยกับชีวิตและทรัพย์สินเราอย่างมาก มันคือการคุกคามอย่างหนึ่ง เพราะเราก็ต่างเข้าใจว่าบ้านคือพื้นที่ปลอดภัยที่สุดของเราแล้ว เราคิดมาตลอดว่าช้างคงไม่พังบ้านเข้ามา แต่ภาพนั้นสะท้อนให้เห็นว่า พฤติกรรมช้างเปลี่ยนไป และทำให้คนในพื้นที่ปัญหาต้องนอนผวา ว่าอิฐบ้านที่หนาไม่กี่เซนติเมตร จะกั้นเราได้อีกกี่วัน 

“ผมรู้สึกว่า รัฐยังไม่ยอมรับอย่างจริงใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น คนที่เสียชีวิตจากช้างถูกทำร้าย รัฐก็ไม่ยอมรับในใบมรณบัตรว่า สาเหตุการตายคือถูกช้างทำร้ายจนเสียชีวิตแต่คุณบ่ายเบี่ยงไปใช้วลีอื่นๆ นี่คือพื้นฐานมากแล้วในการให้สิทธิ์หรือให้เกียรติคนที่เสียชีวิตและครอบครัวของเขา รวมถึงกฎหมายต่างๆ ที่ยังไม่ปลดล็อกเรื่องการชดเชยเยียวยา แล้วถ้าในวันข้างหน้า รัฐบาลใดๆ เข้ามาทำหน้าที่แล้วเข้ามาแก้ปัญหานี้ ใบมรณบัตรย้อนหลังจะมีผลไหม คนที่เสียชีวิตจากช้างทำร้าย เขาจะได้รับเงินชดเชยความสูญเสียย้อนหลังที่สมเหตุสมผลไหม นี่คือคำถาม 

“สิ่งที่รัฐทำได้เลยตอนนี้ คือการชดเชยเยียวยาให้เหมาะสม แล้วมากพอที่จะทำให้ชีวิตคนข้างหลังที่ยังอยู่ตั้งตัวได้บ้าง ไม่ว่าจะช่วยเหลือเรื่องทุนการศึกษา หรือดูแลสภาพจิตใจและสภาพแวดล้อม 

“อย่างตอนนี้ ถ้าคนตายเป็นหัวหน้าครอบครัว จะได้ 50,000 บาท แต่ถ้าไม่ใช่หัวหน้าครอบครัว เงินก็จะลดหลั่นลงไป ค่ากับข้าวงานศพสองคืนก็หมดแล้วมั้ง มันไม่เพียงพอครับ 

“หรือพืชผลการเกษตรเสียหาย รัฐก็ไม่ตอบโจทย์ในการชดเชยเยียวยา แล้วคุณบอกว่าให้ชุมชนปรับตัวอยู่กับช้าง ใช่ครับ พวกเราพยายามปรับตัวอยู่ แต่รัฐควรจะเข้าใจด้วยว่า เราก็ยังต้องการการสนับสนุน เพราะปัญหามันรุนแรง คุณช่วยให้ความเป็นธรรมกับเราหน่อย รับผิดชอบเราหน่อย 

“เรารู้สึกไม่ไว้ใจรัฐบาล เพราะหลายครั้งที่เขามาแก้ปัญหา พวกเรารู้สึกว่ามันซ่อนนัยยะอะไรบางอย่างอยู่ตลอด ผมรู้สึกว่า การแก้ปัญหาของรัฐขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือขาดเสียงสะท้อนที่เป็นจริงของชาวบ้าน หากสิ่งที่รัฐแก้ปัญหามันส่งผลในทางบวกจริงๆ ความขัดแย้งระหว่างช้างกับคน มันควรจะลดลงหรือทุเลาลง แต่ปัจจุบัน มันส่งผลในทางตรงกันข้าม แสดงว่ามันต้องมีอะไรผิดพลาด 

“ภาครัฐมีทรัพยากรพร้อมสรรพ ไม่ว่าจะงบประมาณ เครื่องมือ หรือคนเก่งๆ ที่เข้าใจสภาพปัญหา เพียงแต่ว่า การแก้ปัญหาของรัฐมักจะดองคนที่มีความรู้ไปอยู่อีกที่หนึ่ง มันเลยแก้ไม่ถูกที่ถูกทาง มันแก้ไม่สุด เพราะเอาคนที่ไม่ได้เข้าใจปัญหาจริงๆ มาแก้ กลายเป็นว่า ปัญหามันยิ่งซับซ้อนไปเรื่อยๆ”

7

คุณบอกว่า ชาวบ้านต้องลดปลูกพืชดึงดูดช้าง คำถามคือ จะให้เขาลดยังไง ในเมื่อชาวบ้านลงทุนลงแรงไปแล้ว ติดหนี้ ธกส. ไปแล้ว เป็นหนี้โรงงานอ้อยไปแล้ว เขาลงหลังเสือไม่ได้แล้ว

https://lh5.googleusercontent.com/jsLT9_Yu-qS6HTgTRy4I06ANsriNnaqpqQLUb3k8Ir0rbYIv9cxdj2HCNNqWs4gAUA2VkFwKkBX-_su86A8cZg4SGGeXbbD5BxcP4JgRNIBLm5mwDi7zPsaLBES9j1jt8kzAWHewiGmdj1d-Qn2g63g

ตาล วรรณกูล ผู้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่ากลุ่มฟันน้ำนม บ้านท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา

“ชาวบ้านได้รับผลกระทบหนักๆ ประมาณปี 2559 ก่อนหน้านั้นก็มีช้างป่าออกมาหากินตามขอบป่า แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่ว่า ช้างเข้ามาลึกในชุมชน ชาวบ้านก็เลยยังไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหา แต่หลังจากที่ช้างเขาได้สำรวจแหล่งหากินใหม่เพิ่มขึ้น ช้างก็เริ่มตามๆ กันออกจากป่า มาหากินในชุมชน ช้างเขาจะมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินหากินอยู่ตลอดเวลา บางส่วนก็ขยับขึ้นเหนือ บางส่วนก็ขยับมาทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพื้นที่ 

“เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอ่างฤาไนย เป็นพื้นที่ป่าราบต่ำ ซึ่งปัจจุบัน พื้นที่ไม่สามารถรองรับจำนวนช้างทีเพิ่มขึ้นทุกปี งานศึกษาล่าสุดพบว่า ช้างในพื้นที่ป่าตะวันออกมีเพิ่มขึ้น 8.2 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า จากอดีตที่เคยพบช้างประมาณ 50 ตัวในปี 2520 ปัจจุบัน ช้างในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อยู่ราวๆ 380 ตัว จำนวนประชากรช้างเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่รองรับช้างมีไม่พอ ทำให้ช้างกว่าครึ่ง ต้องออกมาให้ชีวิตนอกป่า 

“ท่าตะเกียบ มีทั้งหมด 22 หมู่บ้าน จากการสำรวจพบว่า  16 หมู่บ้านอยู่ในความรุนแรงระดับ 4-5 (ระดับ 5 สูงสุด) เพราะเป็นชุมชนที่ช้างผ่านอยู่ตลอดเวลา อาชีพส่วนใหญ่คือเกษตรกร ปลูกพืชอยู่ 2-3 แบบ เช่น ยางพารา ยูคาลิปตัส มันสำปะหลัง ข้าวนาปี 

“ปี 2565 พบผู้เสียชีวิตจากช้าง ในตำบลท่าตะเกียบสูงที่สุดในรอบ 5 ปี คือ 7 ราย นี่คือผลกระทบต่อชีวิตที่ค่อนข้างรุนแรง หากเราเปรียบเทียบจาก 5 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขผู้เสียชีวิตในพื้นที่แทบจะปีเว้นปี บางปีก็ 1-2 คน แต่ปีที่แล้วมันเยอะมาก นั่นหมายความว่า ปัญหานี้มันความรุนแรงมากขึ้น 

“ท่าตะเกียบเจอปัญหาช้างมากว่า 5 ปี ความรู้ของชาวบ้านช่วงหลังๆ นี้ เขาเริ่มเฉยชา เบื่อหน่ายกับการจัดการปัญหาของรัฐ บางคนเขาก็บอกว่า "ไม่สนแล้ว ถ้ามัวแต่หวาดระแวงช้าง ฉันคงไม่มีกิน" เขาก็ต้องออกไปไร่ไถนา กรีดยางกันตามปกติ แต่ขณะเดียวกัน การระมัดระวังตัวและการประเมินความเสี่ยงก็จะลดลง ตามความต้องการทางเศรษฐกิจ

“พวกเขากลัวช้าง แต่ก็ต้องออกไปทำมาหากิน เมื่อเป็นเช่นนี้ อัตราการตายก็เพิ่มมากขึ้น เพราะถึงแม้เขาจะเลี้ยงผลกระทบจากช้างป่าได้ แต่สุดท้าย ผลกระทบทางเศรษฐกิจก็จะตามมา กลางคืนเขาอาจจะกรีดยาง 1 มีด ได้ 1 ถ้วย แต่พอเปลี่ยนมากรีดกลางวัน  6-7 มีดถึงจะได้แค่ 1 ถ้วย ระยะเวลาในการทำมาหากินของเขาเพิ่มขึ้น แต่รายได้น้อยลง 

“ตำบลท่าตะเกียบ จากปี 2561 ถึง ปัจจุบัน มีคนตายจากช้าง ทั้งอาสาสมัคร เจ้าหน้าที่รัฐ ชาวบ้าน รวมๆ แล้วประมาณ 12 คน ชาวบ้านก็ตั้งคำถามตลอดว่า "เมื่อไหร่เรื่องนี้ถึงจะจบ ฉันจะได้กลับไปทำมาหากินสักที” 

“ถ้าเราสังเกตดีๆ กลุ่มป่าตะวันออกจะตั้งอยู่ในกลางชุมชน คือมีชุมชนและเมืองล้อมรอบ มันถูกพัฒนามาเรื่อยๆ ตั้งแต่อดีต จนท้ายที่สุด พื้นที่รอบกลุ่มป่าตะวันออก กลายเป็นแหล่งผลิตพืชผลทางการเกษตร เพื่อเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม 

“ซึ่งพืชผลทางการเกษตร เพื่อเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม มันจำเป็นต้องใช้พื้นที่แปลงใหญ่ ไม่ว่าจะอ้อย มันสำปะหลัง หรือผลไม้ต่างๆ ทำให้พื้นที่รอบป่า กลายเป็นพื้นที่อาหารดึงดูดช้างที่อยู่ในป่า 

“จากงานศึกษาของสถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทราพบว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่ที่สุด และเป็นพื้นที่ราบมากที่สุด สามารถรองรับประชากรช้างได้แค่ 166 ตัว แปลว่าป่าทั้งหมด มีพื้นที่ที่เหมาะสมในการรองรับช้างแค่ 36.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทำให้ช้างกระจายตัวอยู่ขอบป่า เพราะในป่าไม่มีพื้นที่รองรับเพียงพอ

ในปี 2565 มีการประเมินจำนวนประชากรช้างในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ราว 380 ตัว ขณะที่ป่ารองรับได้แค่ 166 ตัว 

“หรือในระดับกลุ่มป่าตะวันออก รวมแล้วมีช้างอยู่ประมาณ 600 ตัว ขณะที่พื้นที่กลุ่มป่าตะวันออกทั้งหมด สามารถรองรับช้างป่าได้แค่ 325 ตัว แปลว่าประชากรช้างตอนนี้เกินการรองรับไปเกือบเท่าตัว  นี่คือตัวเลขจากการสำรวจของอาสาสมัครและชาวบ้าน ส่วนตัวเลขของกรมอุทยานจะอยู่ที่ประมาณ 500 ตัว 

“แนวทางในการจัดการคือ คุณต้องลดจำนวนประชากร หรือลดการอัตราการเกิดของจำนวนประชากรช้าง จากเดิมที่เพิ่มขึ้น 8.2 เปอร์เซ็นต์ ต้องลดเหลือ 2-4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นให้ได้ภายในอนาคต ขณะเดียวกัน คุณต้องจัดการพื้นที่รองรับจำนวนช้างในป่าให้เหมาะสม รองรับจำนวนช้างที่มีอยู่ให้ได้ เพื่อสร้างสมดุลใหม่ให้ช้างป่าในพื้นที่ตะวันออก

“ต้องพัฒนาอาชีพทางเลือกให้ชาวบ้านรอบนอก ถ้าคุณบอกว่า ชาวบ้านต้องลดพืชดึงดูดช้าง คำถามคือ จะให้เขาลดยังไง ในเมื่อชาวบ้านลงทุนลงแรงไปแล้ว ติดหนี้ ธกส. ไปแล้ว เป็นหนี้โรงงานอ้อยไปแล้ว คุณจะชวนเขาลดอย่างไร 

“ช้างเขาเป็นสัตว์ที่ต้องการที่ราบที่โล่ง เขาก็ชอบมาเดินบนถนนร่วมกับคนนี่แหละ เขาจะชอบออกหากินกลางคืน กลางวันเขาจะเขาที่ร่มรกทึบ ช้างที่นี่อ้วนทุกตัว ไม่มีช้างตัวไหนผอม ยิ่งช้างที่อยู่นอกป่าแบบนี้ กินพืชอาหารที่มีพลังงานสูง พวกมันสำปะหลัง อ้อย ทำให้ชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนจากการปลูกมันสำปะหลัง ไปปลูกยูคาลิปตัส 

“ส่วนมากช้างที่ฆ่าคนจะเป็นช้างตัวผู้ เพราะพฤติกรรมของมันจะชอบอยู่ลำพัง หรือรวมกลุ่มไม่กี่ตัว ทำให้มันต้องเพิ่มมาตรการความปลอดภัยของตัวเอง เมื่อเขารู้สึกว่ามีภัย เขาก็ต้องจัดการภัยก่อน 

“ตอนนี้ชาวบ้านก็เริ่มหมดความอดทนกันแล้ว อย่างแรกคือ อัตราการชดเชยจากรัฐต่ำมาก แล้วเป็นการชดเชยที่มีเงื่อนไขเยอะ เช่น พืชผลการเกษตรต้องเสียหายโดยสิ้นเชิง จึงจะได้รับเงินเยียวยา เอกสารทุกชิ้นของกรมอุทยานจะระบุว่าประชาชนบุกรุกพื้นที่อนุรักษ์ บุกรุกพื้นที่ป่า แม้แต่ในงานวิจัยก็แทบจะก็อบปี้วางๆ 

“เราถูกปลูกฝังมาว่า อนุรักษ์ป่าไม้ อนุรักษ์สัตว์ป่า ต้องเป็นพื้นที่สีเขียวๆ กว้างใหญ่ๆ แต่คุณไม่ได้ย้อนไปดูในอดีตเลยว่า ใครกันแน่ที่บุกรุกป่า ซึ่งก็เป็นเจ้าขุนมูลนายทั้งนั้น ตั้งแต่ยุคสัมปทานป่าไม้ พอมันกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ชาวบ้านก็จึงมาจับจองเป็นพื้นที่ทำเกษตรและอยู่อาศัย แล้วรัฐก็ออก พ.ร.บ. สปก. แจกจ่ายเสียเลย ปัญหาช้างคือเรื่องความผิดพลาดในการจัดการทรัพยากรของรัฐมาตั้งแต่อดีต 

“ถามว่าตอนนี้ป่าอนุรักษ์ต่างๆ ใครจะกล้าเข้าไปถาง นั่นหมายความว่า ป่าไม่ได้หดลง ขอบเขตป่ายังมีเหมือนเดิม และมีแนวโน้มขยายเพิ่มจากนโยบายทวงคืนผืนป่า กรณีผนวกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่ม เพราะฉะนั้น วาทกรรมคนบุกรุกป่า มันควรถูกแก้ไขความเข้าใจใหม่ โดยหน่วยงานรัฐเองนั่นแหละ ที่ใช้วาทกรรมนี่มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน”