ไม่พบผลการค้นหา
ประชาชนหลายพันคนเดินขบวนประท้วงในรัฐกะเหรี่ยง เรียกร้องกองทัพเมียนมาถอนกำลังออกจากพื้นที่และยุติการละเมิดสิทธิประชาชน หลังเกิดเหตุทหารเมียนมาสังหารหญิงชาติพันธุ์กะเหรี่ยงคนหนึ่งที่ไม่มีอาวุธ

กองทัพเมียนมายอมรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยยืนยันว่ามีทหาร 2 นาย ถูกจับกุมจากการก่อเหตุยิงหญิงชาวกะเหรี่ยงวัย 40 ปี ในเมืองเดโลเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา และปล้นเอาเครื่องประดับทองของเธอไป ซึ่งโฆษกกองทัพเมียนมาระบุว่า ทหารทั้ง 2 นายได้ถูกควบคุมตัวและอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลทหาร 

อย่างไรก็ตาม เหตุสังหารครั้งนี้ก็สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนในรัฐกะเหรี่ยงที่เผชิญความขัดแย้งและการปะทะนองเลือดระหว่างกองทัพเมียนมากับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมายาวนานหลายทศวรรษ จนทำให้เกิดคลื่นการประท้วงในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่รายงานระบุว่าประท้วงเมื่อวันที่ 28 ก.ค.นับเป็นการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุด โดยประเมินว่ามีประชาชนราวๆ 5,000 คน ออกมาเดินขบวนไปยังเมืองพะอัน ซึ่งเป็นเมืองเอกของรัฐ

ผู้ประท้วงเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาถอนกำลังออกจากพื้นที่ เนื่องจากกังวลว่าตัวเองจะกลายเป็นเหยื่อถูกสังหารไปด้วย ขณะที่องค์กรภาคประชาสังคมอย่างเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสันติภาพ (Karen Peace Support Network - KPSN) ระบุว่า กองทัพจำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในกรณีสอบสวนเหตุสังหารหญิงชาวกะเหรี่ยงคนดังกล่าว โดยอ้างอิงถึงหลายกรณีก่อนหน้าที่พลเมืองถูกทหารยิงเสียชีวิตก็ไม่มีความโปร่งใส กองทัพบอกว่าจะสอบสวนแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าออกมาให้รับรู้  

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ กะเหรี่ยงเคเอ็นยู ได้ลงนามหยุดยิงกับกองทัพเมียนมาเมื่อปี 2555 หลังต่อสู้กันมายาวนานกว่า 60 ปี และเป็นหนึ่งในกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าร่วมกระบวนการสันติภาพของเมียนมาซึ่งดูจะไม่ก้าวหน้าไปมากนัก โดยความไม่สงบได้ปะทุขึ้นอีกครั้งในรัฐกะเหรี่ยงที่มีการแบ่งแยกเขตอำนาจเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งปกครองโดยส่วนกลาง ส่วนอีกฝ่ายปกครองโดยกะเหรี่ยงเคเอ็นยู

รายงานระบุว่านับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา การก่อสร้างถนนในเมืองพาปูนของกองทัพเมียนมาทำให้ความตึงเครียดระหว่างกองทัพและกะเหรี่ยงเคเอ็นยูทวีขึ้น โดยกลุ่มกะเหรี่ยงเคเอ็นยูกล่าวหาว่ากองทัพรุกล้ำพื้นที่ของตัวเอง ขณะที่โฆษกกองทัพเมียนมาระบุว่า กองทัพจะไม่ถอนกำลังออกจากพื้นที่ แต่จะทำให้กฎระเบียบต่างๆ มีความรัดกุมมากขึ้นโดยไม่มีการเผยรายละเอียดเพิ่มเติม 

ทั้งนี้ ยังมีผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงหลายหมื่นคนอาศัยอยู่ในค่ายตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ขณะที่ ‘ฟิล โรเบิร์ตสัน’ รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ เรียกร้องให้ส่งตัวทหารทั้ง 2 นายไปไต่สวนในศาลพลเรือน และประณามการขาดความโปร่งใสในการไต่สวนพิจารณาคดีของกองทัพ  

อ้างอิง The Straits Times / The Irrawaddy