ไม่พบผลการค้นหา
'เจิมศักดิ์' อัดรัฐไม่ลดต้นทุนให้ชาวนาจริง ขณะที่นักวิชาการทีดีอาร์ไอชี้เกิดปัญหาการวางนโยบายเรื่องข้าวที่ไม่สอดคล้องกัน

ในการเสวนาเรื่อง ปฏิรูปนโยบายรัฐเกี่ยวกับข้าวและชาวนาไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการประชุมเวทีข้าวไทยปี 2561 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวตอนหนึ่งถึงการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร ที่ใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลหลายชุดผ่านโครงการต่างๆ ในอดีต ซึ่งเกิดขึ้นตลอดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา 

ในยุคของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ใช้นโยบายการอุดหนุนเช่นกัน ตั้งแต่ปี 2557-2561 ใช้เงินอุดหนุนเกษตรกรกว่า 2 แสนล้านบาท โดยในปี 2557 ใช้เงินอุดหนุนกว่า 1.27 แสนล้าน ซึ่งสูงกว่างบชลประทาน งบวิจัย และงบส่งเสริมกว่า 3 เท่าตัว และยังสูงกว่างบประมาณของกระทรวงเกษตรฯด้วย

ขณะที่นโยบายทำข้าวครบวงจรของรัฐบาล ได้กล่าวอ้างถึงหลายปัญหาเกี่ยวกับข้าวเพื่อใช้รองรับการออกนโยบายจำนำยุ้งฉาง ทั้งที่ปัญหาที่กล่าวอ้างนั้นเป็นเพียงมายาคติ ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตล้นตลาด ผลผลิตข้าวกระจุกตัว การทำโครงการเกี่ยวกับข้าวของรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะโครงการอุดหนุนระยะสั้นอย่างการจ่ายเงินอุดหนุนไร่ละ 1,000-1,500 บาท กลับไปขัดแย้งกับเป้าหมายในระยะยาวที่ให้ชาวนาลดพื้นที่ทำนา ทั้งหมดนี้จึงกลายเกิดเป็นปัญหาการวางนโยบายที่ไม่สอดคล้องกัน

นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการด้านตลาดสินค้าเกษตร ระบุว่า ความคิดที่ว่าการลดพื้นที่ปลูกข้าว จะช่วยให้ราคาข้าวสูงขึ้นนั้น เป็นเพียงมายาคติ เพราะราคาข้าวไม่ได้สูงขึ้นจากการลดพื้นที่ปลูกข้าว ตราบใดที่ยังมีการส่งออกข้าวอยู่ ขณะที่การนำเงินไปจ่ายให้ชาวนาไร่ละ 1,000-1,500 บาทของรัฐบาลนี้ ไม่ได้ช่วยลดต้นทุนการปลูกข้าวอย่างแท้จริง ส่วนแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำขาดแคลนนั้น ต้องกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น เพื่อให้ในแต่ละชุมชนจัดการปัญหาและดูแลกันเอง 

นายณรงค์ คงมาก กรรมการและเลขานุการสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย แสดงความกังวลถึงการกำหนดราคาข้าว ที่ชาวนาไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการกำหนดราคาข้าวเปลือกในปัจจุบันนี้ต้องอิงจากราคาข้าวสารที่ส่งออก ซึ่งราคาข้าวที่กำหนดขึ้นไม่ได้สะท้อนมาจากราคาต้นทุนที่ชาวนาจะอยู่ได้ ส่วนนโยบายการอุดหนุนนั้นยิ่งทำให้ชาวนาเป็นหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะหนี้ในครัวเรือน จึงเห็นด้วยว่าควรมีการปฏิรูปเกิดขึ้น

ด้านนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการส่งออกด้วย เนื่องจากผู้ส่งออกในปัจจุบันนี้อยู่ในภาวะอ่อนแอที่สุดจากปัญหาหนี้สิน ท่ามกลางการแข่งขันสูง ทั้งนี้หากปลายน้ำอย่างผู้ส่งออกยังไม่เข้มแข็ง ต้นน้ำอย่างเกษตรกรก็ยากที่จะเข้มแข็งได้