ไม่พบผลการค้นหา
ประกาศ เรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (ฉบับที่ 4) ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2563 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1-31 ส.ค. 2563 ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่เป็นเรื่องปกติของรัฐบาลไปแล้ว เพราะถือเป็นการยืดอายุการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นรอบที่ 4 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

หลังก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ต่ออายุไว้ถึง 3 ครั้ง

ไล่ตั้งแต่ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 1 ระหว่างวันที่ 1-31 พ.ค. 2563

ไล่ตั้งแต่ ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-30 มิ.ย. 2563

และก่อนหน้านั้น ก็ลงนามขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 3 ระหว่างวันที่ 1-31 ก.ค. 2563

นี่จึงทำให้ประเทศไทยต้องอยู่ภายใต้การใช้อำนาจพิเศษของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาอย่างต่อเนื่องนับแต่วันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา

เหตุผลการประกาศต่ออายุการงัดอำนาจพิเศษนี้ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอขยายเวลาการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ส.ค. 25663 แต่ข้อกำหนดจะสอดคล้องกับมาตรการผ่อนปรน ซึ่งจะสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติมากขึ้น จะตัดการบังคับใช้ในมาตรา 9 เรื่องการห้ามชุมนุม ออกไปด้วย

เผด็จการ แฟลชม็อบ ท่าแพ เชียงใหม่ เยาวชนปลดแอก 01.jpg

แม้จะไม่ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 อย่างเต็มที่ก็ตาม ทว่าปฏิเสธ ไม่ได้ว่าสถานการณ์ภายนอกรัฐสภา ถูกจุดไฟ จุดพลุผ่านการชุมนุมแฟลชม็อบของบรรดาคนรุ่นใหม่ นักเรียน นิสิต และนักศึกษา ผ่านเครือข่ายเยาวชนปลดแอก และสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมาในกรุงเทพมหานคร 

โดยใช้เงื่อนไขกดดันให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภา - แก้ไขรัฐธรรมนูญ- หยุดคุกคามประชาชน

เพื่อเป็นการกดดันรัฐบาลไปในตัว ซึ่งอยู่ในช่วงจังหวะที่กำลังปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/2 

ภายใต้การชุมนุมของแฟลชม็อบที่ลุกลามไปทั่วประเทศ แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะคลี่คลายลง โดยไร้ผู้ติดเชื้อในประเทศจนถึงวันที่ 31 ก.ค. มาเป็นเวลาติดต่อกันถึง 67 วัน หรือ 2 เดือนกว่า แต่รัฐบาลยังไม่ผ่อนปรนการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยความจำเป็นทางกฎหมาย

แฮมทาโร่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แฟลชม็อบ  เผด็จการ สามนิ้ว 301298021164956240_n.jpgส้มโอโอ้โหโอชา แฟลชม็อบ บังคับสูญหาย

“ขณะนี้มีความจำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการวิกฤติการณ์ในลักษณะการรวมศูนย์ที่ปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการบูรณาการกำลังพลเรือน ตำรวจ และทหารเข้าร่วมปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ฐานวิถีชีวิตใหม่ (NewNormal) จนกว่าจะมีกฎหมายฉบับอื่นมารองรับในอนาคต" นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าว

เช่นเดียวกับ กุนซือกฎหมายรัฐบาล อย่าง ‘วิษณุ เครืองาม’ รองนายกฯ ย้ำว่า การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น ไม่ต้องนำมาตรการอะไรมาใช้ ซึ่งมาตรการมีอยู่ 6 มาตรการ เช่น การเคอร์ฟิวและมาตรการอื่นๆ ก็ได้ยกเลิกไป แต่การคงไว้จะได้ประโยชน์ในเรื่องของการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่มีกฎหมายใดให้สามารถทำแบบนี้ได้ ซึ่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้อำนาจแพทย์เป็นผู้ใช้ แต่ก็ไม่สามารถไปสั่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ ทหาร ตำรวจได้ 

“ขอให้จำไว้ว่า ถ้าใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ประเทศไทยมีทั้งหมด 77 จังหวัด และมีด่านเข้าออกจุดผ่อนปรน 70 ด่าน ซึ่งก็มีมาตรฐานต่างกัน แล้วนายกรัฐมนตรี จะไปสั่งเอง แต่ละจุด แต่ละจังหวัดไม่ได้” นายวิษณุ ระบุ

สุดารัตน์-เพื่อไทย

ขณะที่ท่าทีของฝ่ายค้าน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ยังคงเรียกร้องโดยคัดค้านการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะ 2 เดือนที่ผ่านมานั้นประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศเลย ทำไมต้องใช้กฎหมายพิเศษมากำราบไว้ ถ้าอยากทำโทษจริงๆ ควรทำโทษตัวเองมากกว่า เพราะความผิดพลาดที่ผ่านมาล้วนมาจากความประมาทของรัฐบาลทั้งนั้นที่ปล่อยให้มีผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศเข้ามา

คุณหญิงสุดารัตน์ยังเสนอว่าทำไมรัฐบาล ถึงไม่เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจปากท้องที่กำลังสาหัสของคนไทย ซึ่งสิ่งที่นายกรัฐมนตรีควรทำคือสร้างความมั่นใจให้กับคนไทยและนักลงทุนต่างชาติว่าประเทศสามารถควบคุมโควิด-19 ได้แล้ว อย่าใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อประโยชน์ต่อความมั่นคงของตัวเอง ในการคุมนักศึกษาไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวเท่านั้น

การเมืองในเดือน ส.ค. ยังคงต้องจับตาสถานการณ์การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่กินเวลาเข้าสู่เดือนที่ 5 ไม่เพียงที่รัฐบาลจะต้องควบคุมไม่ให้โควิด-19 กลับมาทำลายสถิติการไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศถึง 2 เดือน

การชุมนุมของแฟลชม็อบยังคงเดินหน้าไล่กดดัน ‘ประยุทธ์’ อย่างต่อเนื่อง หลังรอคำตอบกับรัฐบาลมา 2 สัปดาห์

“ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เดี๋ยวนี้ ไม่เช่นนั้นประชาชนจะลุกขึ้นมายกเลิกเอง” เป็นคำขู่ของ พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำ สนท. ถึงการต่ออำนาจใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในรอบที่ 4

พริษฐ์ เพนกวิน กองทัพบก อภิรัชต์ ม็อบ 200763 led.jpg

ล่าสุดเริ่มเห็นเงื่อนไขที่จะมีความชัดเจน คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดล็อกขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น ผ่านการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้ง ส.ส.ร. จากการผลักดันของ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 สภาผู้แทนราษฎร โดยใช้โมเดลตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534

เดือน ส.ค. รัฐบาลประยุทธ์ยังต้องเผชิญความท้าทายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่ทุกแวดวงประสบปัญหาจากโควิด-19 ภายใต้โฉมหน้ารัฐมนตรีคนใหม่ อย่าง ‘ปรีดี ดาวฉาย’ว่าที่ รมว.คลัง จะฉายดาวให้เด่นชัดในเรื่องการแก้ไขฟื้นฟูเศรษฐกิจในรอบครึ่งปีหลังได้หรือไม่

ประยุทธ์ ศักดิ์สยาม 153346000000.jpg

อย่าลืมว่าเงื่อนไขที่ยังไม่บรรลุผลของแฟลชม็อบคือ เรื่องยุบสภาและหยุดคุกคามประชาชน 

นี่จึงเป็นเดือน ส.ค. แห่งการนวดรัฐบาลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน เพื่อรอจังหวะให้รัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ

การที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 สภาผู้แทนราษฎรที่มี ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ที่ปรึกษานายกฯ เป็นประธาน ยอมปลดล็อกขั้นตอนการแก้ไขให้ง่ายขึ้น จึงเป็นการลดกระแสร้อนนอกสภาในระดับหนึ่งแม้จะยังไม่ที่สุด

เงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านได้ง่ายจึงอยู่ที่ ‘ประยุทธ์’ ที่จะต้องส่งสัญญาณไปยัง ส.ว. ให้ยอมปลดล็อกมาตรา 256 

นี่แค่เริ่มต้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ม็อบนอกสภาจึงจำเป็นต้องขย่มรัฐบาลผ่านโซเชียลฯ ด้วยพลังแฮชแท็กต่อไปในเดือน ส.ค. คู่ขนานการเมืองในสภาผ่านการกดดันของฝ่ายค้านเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อ้างอิง

ประกาศ เรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (ฉบับที่ 4)