ไม่พบผลการค้นหา
Voice ชวนทบทวนไทม์ไลน์เหตุการณ์ ‘คดีทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา’ อีกครั้ง ถึงบทเรียนที่กรุงเทพมหานครไม่มีวันลืม

เวลา 14.00 น. (9 มีนาคม 2566) ศาลปกครองกลาง นัดฟังคำพิพากษา ในคดีที่มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาชน และประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ได้ร่วมกันฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘คดีทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา’

ที่สุดแล้ว ศาลปกครองกลางได้พิพากษาว่า ‘โครงการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา’ ดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้สรุปรายละเอียดคำพิพากษาไว้ ดังนี้


  1. การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ตามรัฐธรรมนูญ และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดวางรับฟังความคิดเห็นของประชาชนพ.ศ. 2548 กำหนดให้มีการแจ้งประชาชน ทราบข้อมูล 15 วัน และสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนับแต่เสร็จสิ้น แต่โครงการดังกล่าว กลับไม่มีการจัดการรับฟังความคิดเห็นตามระเบียบดังกล่าวแต่อย่างใด
  2. ส่วนการดำเนินการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามโครงการนี้มีการล่วงล้ำลำน้ำเจ้าพระยาสร้างทางสัญจรกว้าง 10 เมตร ยาว 14 กิโลเมตร ซึ่งโครงการนี้ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง และต้องทำรายงาน EIA แต่ปรากฏว่า รายงาน EIA ดังกล่าว ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ คชก.
  3. ในประเด็นการอนุญาตสิ่งรุกลำน้ำ กรมเจ้าหน้าที่ได้อนุญาตไปเมื่อปี 2561 แต่โครงการนี้มีลักษณะผลกระทบร้ายแรง การอนุญาตดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และต้องดำเนินการขออนุญาตใหม่ให้ถูกต้อง
  4. การก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านโบราณสถาน จะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากรเสียก่อนกรณีดังกล่าวไม่มีการขออนุญาต ดำเนินโครงการผ่านในสถานที่ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

"เท่ากับว่า ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นส่วนถนนและเขื่อน จะไม่สามารถทำได้อีก แต่ในส่วนอื่นๆ หากกรุงเทพมหานครยังจะทำต่อ ต้องเริ่มต้นใหม่ รับฟังความคิดเห็นประชาชน ทำ EIA ขออนุญาตใหม่ทั้งหมด"

โดยศาลวินิจฉัยว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเสียหายหรืออาจจะได้รับความเสียหายจากการดำเนินโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง แม้ผู้ฟ้องคดีบางคนจะไม่มีที่ดินใกล้แม่น้ำก็ตาม แต่ถือเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

Voice ชวนทบทวนไทม์ไลน์เหตุการณ์ ‘คดีทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา’ บทเรียนที่กรุงเทพมหานครไม่มีวันลืม

● 12 พฤษภาคม 2558 ครม. อนุมัติแผนก่อสร้างถนนเลียบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวม 14 กิโลเมตรงบ 14,006 ล้านบาท

● 18 พฤษภาคม 2558 สมาคมวิชาชีพสถาปัตยกรรม 5 องค์กร ยื่นหนังสือขอให้ทบทวนโครงการ เพราะอาจก่อผลกระทบระยะยาว และควรศึกษารายละเอียดอย่างครบถ้วนเสียก่อน

● 1 มีนาคม 2559 - 26 กันยายน 2559 กรุงเทพมหานคร ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บท ค่าจ้าง 119.51 ล้านบาท

● 17 สิงหาคม 2559 เครือข่ายสมัชชาแม่น้ำ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้หยุดโครงการเพราะขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

● 21 พฤศจิกายน 2561 เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม12 ราย ยื่นฟ้อง คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนโครงการ

● 26 พฤศจิกายน 2562 องค์กรวิชาชีพ 32 องค์กร แถลงการณ์คัดค้านโครงการ โดยเห็นว่า เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดรัฐธรรมนูญ

● 5 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งห้ามมิให้กรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดี ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด

● 12 มีนาคม 2564 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง

● 22 กุมภาพันธ์ 2566 ศาลปกครองกลางนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก มีความเห็นว่า ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ระงับโครงการก่อสร้างโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ทั้งนี้ ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี ไม่มีผลผูกพันคำพิพากษาของตุลาการเจ้าของสำนวน

● 9 มีนาคม 2566 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา ‘โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา’ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ไทม์ไลน์เหตุการณ์ ‘คดีทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา’

อ้างอิง

Community Resource Centre Foundation - มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน