ไม่พบผลการค้นหา
ในวันที่ทีวีดิจิทัลกำลังย่ำแย่ จะมีหนทางใดที่พอจะหลุดจากภาวะนี้ได้บ้าง "วอยซ์ ออนไลน์" คุยกับ "อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ" อีกครั้ง เพื่อสำรวจภาวะเป็นไปและเป็นอยู่ของธุรกิจนี้กันชัดๆ

“ผมไม่ใช่ผู้วิเศษ ไม่ได้เก่งกล้าสามารถ ที่จะพลิกฟื้นทีวีดิจิทัลที่ขาดทุนให้มีกำไร ถ้าปัจจัยแวดล้อมไม่เปลี่ยนไม่มีทางอยู่รอด” 

นั่นคือสิ่งที่ "อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ" อุปนายกสมาคมดิจิทัล และประธานบริหาร บริษัท Adap Creation ธุรกิจด้านการตลาดออนไลน์ รวมทั้งเป็นอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NBC สะท้อนถึงปัญหาทีวีดิจิทัลที่กำลังย่ำแย่

หลังออกอากาศ 4 ปี ทีวีดิจิทัลหลายช่องเริ่มออกอาการหมดกำลังอย่างชัดเจน จากค่าลงทุนที่ต้องแบกรับ ทั้งค่าเช่าโครงข่าย ค่าสัมประทาน ต้นทุนค่าผลิตคอนเทนท์ ขณะที่ รายได้จากเม็ดเงินโฆษณาไม่ได้มากอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ 

อดิศักดิ์ วิเคราะห์ถึงปัญหาและทางรอดของทีวีดิจิทัลในภาวะที่สมรภูมิการแข่งขันรุนแรง

วอยซ์ออนไลน์ : อะไรคือ ปัญหาทีวีดิจิทัล

ทีวีดิจิทัลของไทยแตกต่างจากต่างประเทศซึ่งไม่มีค่าประมูล ทำให้ในต่างประเทศไม่มีภาระการเงิน ดังนั้น หากทีวีดิจิทัลไทยสามารถลดภาระการเงิน โครงสร้างต้นทุน ทั้งเรื่องค่าโครงข่าย ค่าประมูล ซึ่งคิดเป็นกว่า 40 % ของการดำเนินการทั้งหมด จะทำให้เบาตัวมากขึ้น

วอยซ์ออนไลน์ : ปัญหาอยู่ที่ กสทช. ปล่อยช่องประมูลมากเกินไปรึเปล่า

ตอนนี้ พูดอะไรก็ถูกหมด ที่บอกว่าปล่อยช่องมากเกินไป ก็ถูก แต่ถ้าตอนนั้นปล่อยแค่ 12 ช่อง ราคาประมูลก็สูงขึ้นอยู่ดี ต้องยอมรับว่า ตอนประมูลทุกคนมีสมมุติฐานที่ว่า งบโฆษณามันโตขึ้นปีละเท่าไหร และงบโฆษณาทีวี คิดเป็น 55 % ของงบประมาณสื่อทั้งหมด

มันเป็นงบก้อนใหญ่ และผู้ประกอบการที่ลงมาประมูลช่อง เอาจำนวนช่องไปหารเฉลี่ยกับค่าโฆษณาแล้วคิดว่าคุ้ม หากมีทีวีดิจิทัล

บางช่องมองโลกในแง่ดี คิดว่าขายสักครึ่งหนึ่งของช่อง 3 ซึ่งตอนนั้นค่าเฉลี่ยค่าโฆษณาอยู่ที่ 1.8 แสนบาทต่อนาที คิดว่าได้สัก 10 % ของช่อง3 ก็รอดแล้ว แต่พอมาทำจริงๆ มันไม่ใช่ มันขายไม่ได้ถึง 10 % ของ ราคา 1.8 แสนบาท มันขายได้แค่ 5 % หรือ 1 % คือแค่ 1,800 บาทต่อนาทีเท่านั้น ซึ่งราคาแบบนี้ขายให้เต็มเวลา 100 % ของทั้งช่อง ก็ยังขาดทุน เพราะต้นทุนเฉลี่ย มันสูงมาก ขายต่ำกว่านาทีละหมื่นบาทก็ขาดทุนแล้ว

120118_Adisak-04.jpg

วอยซ์ออนไลน์ : ตอนนี้ราคาโฆษณาสูงสุดเท่าไร

ราคาโฆษณาของช่องที่มีเรตติ้ง 5 อันดันแรกในช่วง 'ไพรม์ไทม์' เท่านั้นเองที่ขายได้หมายถึง 18.00 น - 22.00 น เรียกว่าทุ่มขายได้แค่ประมาณ 3-4 ชั่วโมง แล้วเลี้ยงทั้งช่อง ซึ่งเดิมช่วงเวลานี้มี 4 ช่อง คือ ช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง 5 เท่านั้น

มาตอนนี้ ช่วง 'ไพรม์ไทม์' ปัจจุบัน มีทั้งหมด 10 ช่อง ช่องใหม่ที่เรตติ้งสูงๆ อาจจะได้ราคานาที 6 หมื่น ถึงแสนบาท แต่พอมาเฉลี่ยทั้งช่องก็ต่ำ อยู่ในระดับ 3-4 หมื่นบาท เท่านั้น ไม่นับช่องที่ไม่มีเรตติ้ง หรือเรตติ้งต่ำ ราคาขายโฆษณาก็ต่ำลงไปอีก บางช่วงเวลาของบางช่องต่ำกว่าพันบาท หรืออยู่ที่หลักร้อยเท่านั้นเอง

วอยซ์ออนไลน์ : ทีวีดิจิทัลไปไม่รอด เพราะเนื้อหาไม่มีคุณภาพพอหรือไม่

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การพัฒนาคอนเทนท์ ผมเห็นความพยายามของผู้ผลิตในการปรับตัว ทำโซเซียลมีเดียเสริม แต่พวกนั้นไม่ได้รายได้กลับมา หรือกลับมาน้อย ไม่สามารถเป็นรายได้ที่ชดเชยในส่วนค่าโฆษณาได้ เงินโฆษณาที่ได้มันไปที่เฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูป ไลน์ ซึ่งมันสะท้อนว่า ปัญหาอยู่ที่โครงสร้างอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลมันมีปัญหา

วอยซ์ออนไลน์ : ออนไลน์จะมาแทนทีวีหรือไม่

ในต่างประเทศ ทีวียังเป็นหลัก แต่ละบ้านยังมีทีวี คืองบโฆษณาออนไลน์เพิ่มขึ้น แต่ทีวีก็ยังคงอยู่ ในสหรัฐฯ ช่องทีวีหลัก ยังไม่ได้ล้มหายตายจากไปไหน เพราะว่าเขาต่อรองกับ กูเกิล ยูทูป ได้ 

แต่ทีวีบ้านเราผลิตคอนเทนท์เอาไว้ในยูทูป โดยที่เจ้าของเนื้อหาได้ประโยชน์น้อยมาก ต่างจากในสหรัฐฯ เขาจะรวมตัวเพื่อสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นมา แล้วมีอำนาจต่อรองกับยูทูป กับเฟซบุ๊ก และกำหนดกติการ่วมกัน เพื่อไม่ฆ่าตัวเอง

ที่ผ่านมา ผมพยายามต่อสู้ว่ารัฐไทยอย่าไปง้อ และกับเฟซบุ๊คต้องมีเงื่อนไข และให้เขาเสียภาษีเพราะแม้แต่สหภาพยุโรป หรือ อียู รวมทั้งอินโดนีเซียเขามีเงื่อนไขและเก็บภาษี แต่ไทยเปิดหมดเลย เราไปอ่อนข้อให้เขา แม้จะต้องยอมรับ ว่ายักษ์ใหญ่ห้ามไม่ให้เขาเข้ามาไม่ได้ แต่ควรมีเงื่อนไข เช่น จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย เพื่อให้เสียภาษี และกำหนดเงื่อนไขให้มีเนื้อหาที่ผลิตในท้องถิ่นในสัดส่วน 20 % และห้ามนำข้อมูลส่วนบุคคลไปขายโดยเราไม่ยินยอม

120118_Adisak-06.jpg

วอยซ์ออนไลน์ : อะไรคือข้อเสนอที่จะเป็นทางออกของทีวีดิจิทัล

ข้อเสนอหลักๆ คือ เสนอให้มีการปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมนี้ทั้งหมด เดิมช่วงแผนเปลี่ยนผ่านอนาล็อกเป็นดิจิตอล กำหนดไว้ 48 ช่อง ตอนนี้ประมูลไปแล้ว 26 ช่อง เท่ากับครึ่งหนึ่งของแผนทั้งหมด เราเสนอว่า ต้องปรับโครงสร้างทั้งหมดให้เหลือแค่ครึ่งเดียวให้อยู่แค่ 24 ช่อง

ส่วนช่องทีวีสาธารณะที่ไม่มีใบอนุญาต 7 ช่อง ไม่ควรออกใบอนุญาตให้แล้ว โดยให้เอาคลื่นที่ไม่ได้ใช้ไปประมูลโทรคมนาคม นำเงินมาชดเชยอุตสาหกรรมนี้ให้อยู่รอดได้

ส่วนเรื่องของโครงข่าย กสทช. ส่งของให้เราไม่ครบ เพราะมีคนรับทีวีดิจิทัลได้แค่ 40 % คือจากที่สัญญากับเราว่า ต้องส่งของให้เราครบ 22 ล้านครัวเรือน แต่ส่งได้เพียง 8 ล้านครัวเรือนเท่านั้น ดังนั้น เราขอหยุดจ่ายค่าโครงข่ายได้มั้ย เพราะจ่ายไปแล้ว 65 % หรือ 3 หมื่นล้าน จาก 5 หมื่นล้าน เหลือเวลาอีก 8 ปี เราจ่ายเกินครึ่งแล้ว ขอหยุดได้มั้ย

นอกจากนี้ ขอคืนใบอนุญาตได้หรือไม่ กรณีที่ผู้ประกอบการไม่อยากทำต่อแล้ว โดยไม่ต้องยึดแบงค์การันตี แต่อะไรที่จ่ายไปแล้วก็จ่ายไป เพราะผู้ประกอบการบางส่วนอาจจะไม่อยากทำต่อแล้ว

120118_Adisak-05.jpg

วอยซ์ออนไลน์ : คาดว่า 3 ข้อเสนอนี้ จะเป็นทางรอดของทีวีดิจิทัลขนาดไหน

ถ้ารัฐบาลเห็นว่าอุตสาหกรรมนี้มีปัญหามาก และให้พักหนี้ 3 ปี รวมถึงชดเชยค่าโครงข่ายโดยนำเงินจากการแจกคูปองไม่หมด มาจ่ายชดเชย และ ยอมให้ผู้ประกอบการคืนใบอนุญาต ถ้าได้ตามที่เป็นข่าวนะ ก็จะทำให้ทีวีดิจิตอลมีลมหายใจที่จะปรับตัวในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีครั้งใหญ่อีก

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการ ที่ประเมินว่าไปต่อไม่ได้ ผมมีข้อแนะนำว่า อย่าฝืน เพราะถึงเขาจะพักหนี้ให้ ก็ยังเป็นหนี้อยู่ ดังนั้นอย่าฝืน และคืนใบอนุญาตเถอะ

ถ้าช่องไหนไม่มีจุดเด่นในการผลิตคอนเทนท์ ไม่มีบุคลากรของตัวเอง ไม่มีแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งหลายช่องไม่มี และเงินทุนไม่มีแล้ว ธนาคารก็ไม่ให้กู้ แนะนำให้คืนใบอนุญาต อย่าฝืน เอาเงินที่พอมีเหลือที่เป็นหลักประกันจากธนาคารเอาไปทำอย่างอื่นจะคุ้มกว่า

เป็นคำแนะนำของจากใจของผู้คว่ำหวอดวงการสื่อสารมวลชน ที่กำลังสร้างโอกาสใหม่ในธุรกิจสื่อดิจิทัลเช่นกัน