ไม่พบผลการค้นหา
ทำความเข้าใจความหมายที่ซ่อนอยู่ในเรื่อง 'Burning' ภาพยนตร์เกาหลีกระแสแรง และตีความฉากจบของเรื่องไปกับ 'คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง'

แม้จะทำหนังยาวมาตั้งแต่ปี 1997 แต่ชื่อของผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ อีชางดง (Lee Chang-dong) อาจจะไม่ได้ป๊อปปูลาร์ในหมู่นักดูหนังบ้านเราเท่ากับ ปาร์คชานวุค (The Handmaiden) หรือ บงจุนโฮ (Okja) เหตุผลคือตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมาอีชางดงทำหนังไปเพียง 6 เรื่องเท่านั้น แต่ละเรื่องมักทิ้งห่างกันยาวนาน อย่างหนังเรื่องล่าสุด Burning ก็เว้นช่วงจากหนังเรื่องก่อนหน้าถึงแปดปี

ภูมิหลังของอีชางดงถือได้ว่าเป็นปัญญาชนโดยแท้ เขาเคยเป็นนักเขียนนิยาย เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แถมยังเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมในช่วงปี 2003-2004 ด้วย ถึงกระนั้นมักกล่าวกันว่าอีชางดงทำหนังว่าด้วยชนชั้นล่างหรือคนชายขอบเสมอ

ถ้าพูดให้แม่นยำกว่านั้นคงต้องบอกว่าเขาทำหนังเกี่ยวกับคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกบีบรัดด้วยชะตากรรมอันน่าเศร้า เช่น Peppermint Candy (1999) เล่าถึงชายคนหนึ่งที่ถูกทำลายล้างด้วยระบบเกณฑ์ทหารและสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ส่วน Oasis (2002) ว่าด้วยความรักระหว่างชายสมองพิการกับหญิงง่อยที่สังคมไม่ยอมรับ

น่าสนใจว่าตัวละครในหนังช่วงหลังของอีชางดงมักเผชิญกับอุปสรรคในชีวิตที่นามธรรมมากขึ้น แต่กลับหนักหนาสาหัสกว่าเดิม เช่น Secret Sunshine (2007) ที่แม่คนหนึ่งไม่อาจทำใจกับ 'ความตาย' ของลูก หรือหญิงชราใน Poetry (2010) ที่ค้นพบว่าตัวเองกำลังสูญเสีย 'ความทรงจำ' ด้วยโรคอัลไซเมอร์ แน่นอนว่าหากเป็นหนังฮอลลีวู้ดฟีลกู๊ด ตัวละครเหล่านี้จะต้องผ่านพ้นเรื่องราวเหล่านี้ไปได้ แต่ในหนังของอีชางดง หลายครั้งตัวละครก็ไม่สามารถก้าวข้ามความเจ็บปวดและหาแสงสว่างให้ชีวิตตัวเองได้

ปกติแล้วหนังหรือละครเกาหลีมักขึ้นชื่อเรื่อง 'ความเยอะ' ในแบบ Over-dramatize ไม่ว่าจะละครโรแมนติกหวานฟุ้ง ละครเมโลดรามาน้ำตาแตก หรือหนังทริลเลอร์เลือดสาด หากแต่ผลงานของอีชางดงมักมีความดรามาในระดับกำลังพอดี เรารู้สึกได้ว่าสิ่งที่ตัวละครประสบพบเจอนั้น สามารถเกิดขึ้นกับเราได้ อีชางดงไม่ได้ทำหนังเพื่อบิลด์อารมณ์คนดูจนหลบหนีจากความจริง แต่ต้องการสำรวจมิติของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง เขาจึงได้ฉายาว่าเป็นผู้กำกับแนวมนุษยนิยมคนสำคัญที่สุดคนหนึ่ง

ตอนที่มีข่าวว่า Burning หนังใหม่ของอีชางดงจะเป็นการดัดแปลงเรื่องสั้น Barn Burning (1983) ของฮารุกิ มุราคามิ ก็สร้างความอึ้งตะลึงกับเหล่าคนดูหนังไม่น้อย เพราะงานของมุราคามิมักว่าด้วยตัวละครชนชั้นกลางฐานะดีที่ดูไม่ใกล้เคียงกับงานของอีชางดงเลย ยิ่งไปกว่านั้น Burning ยังมีความยาวถึง 150 นาที ทั้งที่เรื่องต้นฉบับของมุราคามิมีความยาวเพียง 30 หน้าเท่านั้น

ก่อนจะเข้าโรงไปดูหนัง ผู้เขียนเดาไว้ว่าอีชางดงจะต้องดัดแปลงเรื่องสั้นของมุราคามิชนิดไม่เหลือเค้าเดิม แต่กลับกลายเป็นว่าอีชางดงคงสาระสำคัญของต้นฉบับไว้ทุกประการ

เนื้อเรื่องของหนังว่าด้วยความสัมพันธ์ของชายหญิงสามคน จงซู แฮมี และเบน โดยสองคนแรกเป็นเพื่อนสมัยเด็กและอยู่ในช่วงดิ้นรนทางการเงิน ส่วนเบนนั้นเป็นชายแปลกหน้าที่อยู่ดีๆ ก็เข้ามาในชีวิตของพวกเขาและร่ำรวยชนิดสืบหาที่มาไม่ได้

สิ่งที่ตัวละครของอีชางดงเผชิญในคราวนี้ดูจะนามธรรมกว่าทุกเรื่องที่ผ่านมา มันคือปริศนาลึกลับแห่งบุคคล จงซูไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าเบนคิดอะไร ทำสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุผลอะไร หรือต้องการอะไรจากเขา

อีชางดงปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องจากนิยายของมุราคามิอยู่บ้าง เหล่าตัวละครวัยกลางคนในหนังสือ กลายเป็นหนุ่มสาววัยยี่สิบปลายบนจอหนัง นอกจากนั้นเขายังใช้ 'ภาษาภาพยนตร์' บอกเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับภูมิหลังของตัวละคร ที่เห็นได้ชัดเลยคือ 'ห้อง' หรือ 'บ้าน' ของทั้งสามตัวละคร ไม่ว่าจะบ้านชนบทของจงซู ห้องเช่าคับแคบของแฮมี หรืออพาร์ตเมนต์ใหญ่โตของเบน เหตุการณ์ในหนังเกิดขึ้นในสามสถานที่นี้เป็นหลัก ซึ่งบรรยากาศที่ต่างกันของแต่ละสถานที่ยังช่วยขับเคลื่อนตัวเรื่องด้วย

Burning

นอกจากนี้ ยังกล่าวได้อีกว่า ในบรรดาหนังทั้งหมดของอีชางดง Burning มีความหวือหวาด้านการกำกับภาพมากที่สุด ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคงเป็นฉากนั่งเสพกัญชาหน้าบ้านที่หลายคนฮือฮา ฉากนี้กินเวลาอย่างยาวนานตั้งแต่พระอาทิตย์ยังส่องสว่างจนกระทั่งหายลับไป การเน้นถ่ายแสงอาทิตย์อาจเป็นได้ทั้งความสวยงามหรือมีนัยแฝงเร้นบางอย่าง (ตากล้องของหนังคือฮงคยองพโย มีเคยถ่ายมาแล้วทั้ง Il Mare, Snowpiercer และ The Wailing)


ในฉากนี้จะสังเกตเห็นได้ว่าตัวละครทั้งสามนั่งบนเก้าอี้ด้วยท่าทางที่ต่างกันสิ้นเชิง ซึ่งท่าทางเหล่านั้นสามารถบ่งบอกตัวตนของพวกเขาได้อย่างดี นี่เป็นรายละเอียดเล็กน้อยที่แสนจะคมคาย


อย่างไรก็ดี Burning ไม่ใช่หนังที่ดีแต่เรื่องสไตล์ อีชางดงยังคงมีประเด็นทางสังคมสอดแทรกในหนังเขา ฉากหนึ่งที่บอกใบ้อย่างตรงไปตรงมาคือภาพข่าวโทรทัศน์เกี่ยวกับ โดนัลด์ ทรัมป์ และข่าวคนยุคใหม่ตกงาน

อีชางดงให้สัมภาษณ์ว่าเขาทำหนังเรื่องนี้เพราะสนใจเรื่องความคับแค้นของคนหนุ่มสาว ซึ่งผู้ชมก็เห็นได้จากแฮมีที่ต้องทำอาชีพพริตตี้สารพัด ส่วนจงซูยังหางานทำไม่ได้ ทรัพย์สมบัติมีเพียงลูกวัวตัวหนึ่งที่พ่อทิ้งไว้ให้ ในขณะที่คนมั่งคั่งอย่างเบนกลับได้ทุกสิ่งมาอย่างง่ายๆ (จงซูพูดกับเบนว่าชอบหนังสือ วิลเลียม โฟล์คเนอร์ ในฉากถัดมาเราก็เห็นเบนถือหนังสือของโฟล์คเนอร์อยู่) จงซูถึงขั้นเปรียบว่าเบนคือ แกตสบี้ จาก The Great Gatsby เลยทีเดียว

Burning

เช่นนั้นเหตุที่ Burning ต้องยาวถึงสองชั่วโมงครึ่งก็อาจเพื่อการไล่เรียงกราฟอารมณ์ถึงความอึดอัดคับข้องใจที่จงซูมีต่อเบน ไปจนถึงการตัดสินใจของจงซูในฉากสุดท้าย (ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มเติมมาจากนิยาย) ตลอดทั้งเรื่องจงซูดูอึดอัดและด้อยกว่าเสมอ เมื่ออยู่ใกล้เบน ไม่ว่าจะการพูดคุยกัน เมื่ออยู่ในบ้านของเบน หรือกระทั่งเมื่อร่วมวงสนทนากับเพื่อนไฮโซของเบน อาจกล่าวได้ว่าฉากจบของ Burning คือสิ่งที่สะท้อนถึง 'แรงระเบิดทางชนชั้น' จงซูอาจไม่ได้ตัดสินใจทำ 'สิ่งนั้น' เพียงเพราะเหตุผลโรแมนติกประเภทการแก้แค้นแทนแฮมี แต่มันมาจากความแค้นเคืองส่วนตัวของเขาเอง

ทั้งนี้ มีฉากหนึ่งที่น่าสนใจมากแม้จะโผล่มาเพียงเวลาสั้นๆ นั่นคือฉากที่จงซูนั่งพิมพ์อะไรบางอย่างในห้องของแฮมี ในแง่หนึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกที่เราเห็นจงซูเขียนนิยายแบบเป็นชิ้นเป็นอัน (เขาบอกว่ามีความฝันอยากเป็นนักเขียน) เขาเขียนเรื่องของใคร? อาจเป็นเรื่องของแฮมีกับเบนก็ได้ เช่นนั้นแล้วความสัมพันธ์ของจงซูกับแฮมีอาจไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างเราเคยคิด แฮมีอาจแปรสถานะจากสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจกลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งาน แต่ในอีกทางหนึ่ง มีการตีความว่าช่วงท้ายของเป็นหนังเป็นเพียงจินตนาการ เพราะมันคือเรื่องแต่งของจงซู นั่นความหมายว่าฉากจบเป็นเพียงการระบายความคลั่งแค้นที่เกิดขึ้นในโลกของจงซูเท่านั้น ยิ่งตอกย้ำถึงความไร้อำนาจของเขา

Burning

แต่ถ้าฉากจบของ Burning เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง มันก็มีความหมายไม่ต่างกันนัก หากสังเกตปฏิกิริยาของเบนให้ดี เราจะพบว่ามันช่างแปลกประหลาดน่าขนลุก คนอย่างเบนจะไม่รู้หรือเชียวหรือว่าจงซูนัดเขามาเพื่ออะไร และถ้าจำกันได้เบนเคยบอกว่ามีชีวิตอยู่เพื่อ 'เล่น' (Play) เช่นแล้วนั้นปฏิกิริยาที่เบนมีต่อจงซูคือการ 'เล่นตามน้ำ' (Play along) หรือเปล่า ไม่ว่าจะตอนจบที่เบนยอมมาพบจงซูในที่รกร้างไม่น่าวางใจ หรือฉากที่จงซูขับรถสะกดรอยตามเบน ที่ดูอย่างไรเบนก็น่าจะรู้ตัวว่าถูกสะกดรอยอยู่

ดังนั้นไม่ว่าจะตีความฉากจบของ Burning ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง จงซูก็ดูจะมีสถานะห่างไกลกับคำจำพวก 'ผู้แก้แค้นได้สำเร็จ' หรือ 'ผู้คุมเกม' นำมาซึ่งการเดินโซเซเปลือยเปล่า สายตาลอยเคว้งคว้าง ปากเผยอสั่นเทา

เพราะสุดท้ายไฟแค้นที่จงซูโหมเผาขึ้นมา ไม่นำไปสู่อะไรเลยนอกจากความว่างเปล่า

** เช็กรอบฉายของ Burning ได้ที่ https://www.facebook.com/DocumentaryClubTH/