ไม่พบผลการค้นหา
กมธ. แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำฯ แนะรัฐบาลใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทพลิกวิกฤตเป็นโอกาส หนุนตำบลเข้มแข็งทั่วไทย มองรัฐบาลไม่ละเลยปฏิรูปประเทศ แค่ไม่เด็ดขาด

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา และคณะแถลงต่อข้อเสนอของกมธ.​ฯ ที่เตรียมให้รัฐบาลพิจารณาแผนงานโครงการที่สนับสนุนเงินกู้ 4 แสนล้านบาทตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เพื่อให้การใช้จ่ายเงินของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พลิกวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาส ว่า ในภาวะวิกฤตรัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน โดยมีข้อเสนอ คือ การแก้ไขหนี้สินของประชาชนในพื้นที่ชนบท ที่พบการรวมกลุ่มเป็นกองทุนต่างๆ 4-30 กองทุน ทำให้ประชาชนที่เป็นหนี้กองทุนต้องมีภาระเรื่องการผ่อนชำระจำนวนมาก ดังนั้นข้อเสนอคือให้รวมเป็นกองทุนเดียว คือ กองทุนหมู่บ้าน และมีมาตรการขยายเวลาการชำระหนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถฟื้นตัวในภาวะโควิดได้ และข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม จากการศึกษาสามารถใช้การสร้างแหล่งน้ำเล็กๆ ในชุมชนเพื่อกักเก็บน้ำ โดยจากการสำรวจพบว่ามีตำบลที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 996 ตำบล หากดำเนินโครงการดังกล่าวที่ใช้เวลาสร้าง 4 เดือน จะช่วยแก้ปัญหาได้ 

ขณะที่นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ส.ว. ฐานะรองประธาน กมธ. ฯ​ กล่าวถึงสภาพปัญหาช่วงการระบาดไวรัสโควิด-19 ว่า สามารถแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา คือ 1.อยู่ให้รอด คือ การเร่งตรวจหาผู้ที่ได้รับผลกระทบและเข้าไม่ถึงสิทธิที่ควรได้รับอย่างเร่งด่วน ซึ่งช่วงดังกล่าวรัฐบาลสามารถทำได้ดี, 2.ช่วงอยู่ให้เป็น คือ การบริหารจัดการความเสี่ยงของทุกอาชีพ และ 3.อยู่ให้ยืนนาน อย่างไรก็ตามตนมองว่าภาวะวิกฤตโควิดรัฐบาลไม่ได้ละเลยงานปฏิรูปที่ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายและรัฐธรรมนูญกำหนด เพียงแต่ไม่มีความเด็ดขาด ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งทำคือ การสื่อสารผลการดำเนินงานต่อสาธารณะ 

ส่วนนายภาณุ อุทัยรัตน์ ส.ว. ฐานะเลขานุการ กมธ. ฯ​ กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหายากจนและความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น มีข้อเสนอเพื่อให้เกิดมาตรการช่วยเหลือระยะยาว คือ 1. เตรียมชุมชนท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงาน เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว, 2.ดูแลคุณภาพชีวิต ของประชาชนทั้ง 5 แสนครัวเรือนในชุมชนพื้นที่ภาคใต้ โดยจ้างคนในพื้นที่ให้ดำเนินโครงการตามที่คณะกรรมการชุมชนนำเสนอ และ 3. ดูแลผลผลิตภาคการเกษตรและแปรรูป รวมถึงการตลาด