ไม่พบผลการค้นหา
เจ้ากระทรวงควรหาความรู้เพิ่ม 'เก่ง วาโย 'สอนมวย 'อนุทิน' เร่งศึกษาข้อมูลใหม่ วอนนำเข้ายารักษาโควิดที่ได้ผล อย่าเสียดายงบประมาณเพื่อรักษาชีวิตประชาชน

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวเเสดงความเห็นกรณีที่ในวงการแพทย์ทางวิชาการ มีการถกเถียงถึงประสิทธิภาพของ 'ยาฟาวิพิราเวียร์' ที่ใช้ในการรักษาต้านโรคโควิด-19 

"จากกรณีที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางถึงประสิทธิภาพของยาฟาวิพิราเวียร์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สรุปแล้วยาฟาวิพิราเวียร์นั้นมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะใช้รักษาต้านโรคโควิด-19 หรือไม่ โดยการถกเถียงนั้นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายที่หนึ่งอ้างอิงข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ในต่างประเทศซึ่งรายงานออกมาอย่างต่อเนื่องว่า ยาฟาวิพิราเวียร์นั้นไม่ค่อยมีประสิทธิภาพต่อการรักษากับโรคโควิด-19 กับฝ่ายที่สอง อ้างอิงข้อมูลจากผลการศึกษาในประเทศซึ่งรายงานว่า ยาฟาวิพิราเวียร์นั้นมีประสิทธิภาพสามารถรักษากับโรคโควิด-19 ได้ ในกลุ่มที่อาการไม่รุนแรงจนถึงอาการรุนแรงปานกลาง ซึ่งจะเห็นได้ว่า ทั้งสองฝ่ายโต้แย้งกันโดยอาศัยข้อมูลคนละชุดกัน ดังนั้น การพิจารณาถึงน้ำหนักความน่าเชื่อถือของข้อมูลจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา"

วาโย กล่าวต่อไปว่า เมื่อสืบค้นในฐานข้อมูลทางการแพทย์ระดับสากล พบว่า มีรายงานทางวิชาการหลายฉบับให้ข้อสรุปค่อนข้างตรงกัน ซึ่งได้รายงานอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงล่าสุดในช่วงต้นปี 2565 นี้เอง ร่วมกับรายงานทางวิชาการในระดับที่มีความน่าเชื่อถือซึ่งอาจถือได้ว่าสูงที่สุด ที่ได้จากการวิเคราะห์อภิมานหรือที่เรียกว่า “Meta Analysis” เผยแพร่เมื่อช่วงปลายปี 2564 โดยได้รายงานว่า “No significant beneficial effect on the mortality among mild to moderate COVID-19 patients” 

"แปลเป็นไทยได้ว่า 'ยาฟาวิพิราเวียร์' ไม่มีประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญต่ออัตราการตายในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงไปจนถึงในรายที่มีอาการรุนแรงปานกลาง

"อย่างไรก็ตาม พบว่า มีรายงานบางฉบับรายงานว่า ยาฟาวิพิราเวียร์มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยเมื่อใช้รักษากับโรคโควิด-19 ในหลอดทดลอง อีกทั้งยังพอจะปรากฏรายงานว่ายาฟาวิพิราเวียร์นั้นช่วยให้อาการโดยรวมดีขึ้นได้ ถึงแม้จะไม่ช่วยลดปริมาณไวรัสและอัตราการตายอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม โดยฝ่ายที่โต้แย้งข้อมูลดังกล่าว โต้แย้งด้วยข้อมูลจากผลการศึกษาวิจัยในประเทศโดยคณะแพทย์แห่งหนึ่ง ร่วมกับหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขหลายหน่วยงาน ทั้งนี้ มีผู้ป่วยเข้าร่วมในการศึกษาวิจัยดังกล่าวเพียงไม่ถึงร้อยราย แต่กลับได้ผลการศึกษาออกมาเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับรายงานหลายฉบับจากฐานข้อมูลทางการแพทย์ระดับสากล ดังนั้น ยังไม่ปรากฏว่า รายงานการศึกษาวิจัยในประเทศดังกล่าวนี้ได้ตีพิมพ์และเผยแพร่เข้าสู่ฐานข้อมูลทางวิชาการใด คงปรากฏเพียงสไลด์ไม่กี่สไลด์ที่เปิดเผยออกมาเหมือนเช่นเคย"

วาโย กล่าวเพิ่มเติมว่า เราต้องให้ความเป็นธรรมว่า ยาฟาวิพิราเวียร์มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ทั้งยังปรากฏผลการศึกษาในระดับสากลและในหลายประเทศตั้งแต่ในช่วงต้น ๆ ว่า ค่อนข้างมีความปลอดภัยและมีแนวโน้มที่จะต่อสู้รักษากับโรคโควิด-19 ได้ อีกทั้งยังมีราคาที่ไม่แพงมากนัก แต่ความรู้ทางการแพทย์ไม่มีวันหยุดนิ่ง และโรคโควิด-19 นี้ก็เป็นโรคอุบัติใหม่ การร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ไปพร้อมกันกับนานาอารยะประเทศนั้นเป็นสิ่งที่พึงกระทำ 

“ผมขอวิงวอนไปยัง อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ขยันขันแข็ง ขวนขวายแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ไม่ปิดหูปิดตา ขอให้เปิดรับองค์ความรู้ทางการแพทย์ใหม่ๆ ซึ่งได้รับการพัฒนาและเผยแพร่ออกมาตลอดเวลา หากผลการศึกษายาฟาวิพิราเวียร์ในประเทศไทยได้ผลดังนี้จริง ก็ขอให้เร่งตีพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยนี้ให้ประชาคมโลกได้รับรู้ด้วย และขอให้โอบรับยาใหม่ๆ ที่นานาอารยะประเทศได้พัฒนาขึ้นร่วมกันไปด้วย อาทิ ยาโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิดซึ่งมีผลการศึกษาในระดับสากลว่าสามารถต่อกรกับโควิด-19 ได้ ถึงแม้ยาดังกล่าวนี้จะมีราคาต่อหน่วยที่สูงกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ 

"ท่านในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คงจะต้องให้น้ำหนักต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญเหนือกว่าเงินงบประมาณที่จะต้องสูญเสียไป และสื่อสารให้ประชาชนที่คาดหวังและตั้งตารอกับการแถลงการให้ความรู้อย่างมีประสิทธิภาพของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของเขาด้วย ประชาชนทั้งหลายจะได้มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ตรงกัน และไม่ตื่นตระหนกอีกต่อไป" วาโย กล่าวทิ้งท้าย