ไม่พบผลการค้นหา
ก.ล.ต. ชี้แจงกฎหมายภาษีจากการลงทุนหุ้นกู้-พันธบัตร ร้อยละ 15 ลดการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในการลงทุนระหว่างผู้ลงทุนทางตรงกับผู้ลงทุนทางอ้อม ย้ำกฎหมายมีผลบังคับใช้หลังวันที่ 20 ส.ค.นี้

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายธุรกิจจัดการลงทุน ในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. เปิดเผยว่า ตามที่กรมสรรพากรได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 เพื่อแก้ไขปรับปรุงการจัดเก็บภาษีจากการลงทุนในตราสารหนี้ (หุ้นกู้, พันธบัตรรัฐบาล) ผ่านกองทุนรวมให้เท่ากับการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง (tax neutral) โดยดอกเบี้ยที่กองทุนรวมได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 เช่นเดียวกับกรณีที่ผู้ลงทุน ลงทุนโดยตรงในตราสารหนี้ 

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้จะไม่ต้องเสียภาษีเงินปันผลซ้ำซ้อนอีก ขณะที่ผู้ลงทุนในกองทุนรวมประเภทอื่นจะถูกเรียกเก็บภาษีเงินปันผลที่อัตราร้อยละ 10 เช่นเดิม

ในเรื่องนี้ ก.ล.ต. เห็นว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เป็นไปเพื่อให้เกิดความเป็นกลางทางภาษี (tax neutral) เพื่อความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างการลงทุนโดยตรงและการลงทุนโดยอ้อมผ่านกองทุนรวม ซึ่งที่ผ่านมากรมสรรพากรได้มีการหารือกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เพื่อให้ บลจ.ต่างๆ ได้เตรียมการล่วงหน้า รวมถึงการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ขายหน่วยลงทุนและผู้ลงทุนแล้ว 

ดังนั้นจึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจกองทุนรวมมากนัก และการลงทุนในกองทุนรวมนั้นยังมีจุดเด่นเพราะมีมืออาชีพทำหน้าที่บริหารจัดการ และมีการกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนให้ผู้ลงทุนได้

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 90 วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 20 ส.ค. 2562)

ตราสารหนี้-ภาษี-ก.ล.ต.

สำหรับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 มีเหตุผลแนบท้าย พ.ร.บ. ระบุว่า เนื่องจากในปัจจุบันการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงมีภาระภาษีที่แตกต่างกับการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม และเพื่อให้ภาระภาษีจากการลงทุนทั้งสองประเภทดังกล่าวมีความสอดคล้องกัน สมควรปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือ ตามกฎหมายของต่างประเทศ เฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฏากร จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ. นี้