ไม่พบผลการค้นหา
เวทีเสวนา BCG แย่งยึดอะไรที่คำป่าหลาย ชี้เป็น“นโยบายฟอกเขียว” เผยผลวิจัย หลังชาวบ้านถูกแย่งยึดที่ดินจากนโยบายป่าไม้ คสช. เกิดความความจนเรื้อรัง เสนอให้รัฐบาลให้อำนาจประชาชนในการจัดการทรัพยากร เตือนนโยบายคาร์บอนเครดิตจะนำไปสู่ปัญหาการแย่งยึดที่ดินในวงกว้าง ผลักประชาชนให้ตกสู่ภาวะความยากจนเรื้อรัง แนะรัฐต้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯที่ออกมาปกป้องที่ดินและสิ่งแวดล้อมจากการถูกคุกคามต่างๆและการถูกดำเนินคดี

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2567 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  นักปกป้องสิทธิฯกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLaw)  องค์กร Protection International (PI) โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPM) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และกรีนพีซ ประเทศไทย ได้จัดนิทรรศการและเวทีเสวนา เพื่อนำเสนอข้อค้นพบจากรายงานวิจัย “การแย่งยึดที่ดินจากนโยบายป่าไม้ในยุคทหาร คสช. กับการผลิตซ้ำความจนเรื้อรัง กรณีป่าสงวนแห่งชาติดงหมู แปลง 2” และข้อเสนอนโยบายสาธารณะที่เป็นรูปธรรมต่อหน่วยงานของรัฐด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

งานเสวนาเริ่มจาก การฉายวิดีโอบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของของกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย หลังจากนั้นนายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซแห่งประเทศไทยได้กล่าวเปิดงานเวทีเสวนา BCG แย่งยึดอะไรที่คำป่าหลาย นโยบายฟอกเขียว ในนามความยั่งยืนหรือการแย่งยึดแผ่นดินราษฎร 

ชี้นโยบายแย่งยึดที่ดินทำจนเรื้อรัง  

อาจารย์กิติมา ขุนทอง นักวิจัยโครงการ/มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้บอกเล่าถึงรายละเอียดของงานวิจัยว่า นับตั้งแต่มีการเฝ้าติดตามผลกระทบ จากการแย่งยึดที่ดินจากนโยบายป่าไม้ในยุคทหารของคสช. พบชาวบ้านคำป่าหลาย ได้รับผลกระทบ 50 ครอบครัว ครอบคลุมพื้นที่ 2 พันกว่าไร่ ที่สำคัญเราพบว่าชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ อยู่ใกล้เส้นคนเกือบจน ที่สำคัญชาวบ้านเหล่านี้ถูกนับรวมอยู่ในกลุ่มของนายทุนด้วย นั่นเป็นเพราะผลพวงมาจากนโยบายภาครัฐที่มีแนวคิดที่ว่า ทรัพยากรป่าไม้เป็นของรัฐ จึงทำให้เกิดการแย่งยึดที่ดินของประชาชน โดยอาศัยความชอบธรรมผ่านการร่างกฎหมาย ซึ่งในยุค คสช.ให้เวลาเพียง 23 วันเท่านั้นในการออกกฎหมาย 

อาจารย์กิติมา ยังเผยรูปแบบการแย่งยึดที่ดินในสมัย คสช.ว่า มีอยู่ 7 รูปแบบปฏิบัติการ ประกอบด้วย 1. รื้อถอนทำลายพืชผล 2.ยึดพื้นที่ปักเสา/ปลูกป่าทับ 3.ยืนแปลงคดีแห้ง 4.ยึดสิทธิ 5.ประกาศข่มขู่ 6.ดำเนินคดี/กักขัง 7. รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง/ทรัพย์สิน 

“จากแผนปฎิบัติการนี้ ถือเป็นการไม่แจ้งล่วงหน้า ทำให้ชาวบ้านเกิดการสูญเสียแบบฉับพลัน นำไปสู่ความความยากจนแบบฉับพลัน ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีเงินใช้หนี้ รายได้ลด หนี้สินเพิ่ม เพราะชาวบ้านหากินแบบรายวัน แต่ผ่อนใช้หนี้แบบรายปี โดยที่ทางภาครัฐเองในสมัยคสช.ก็ไม่มีมาตรการอะไรมารองรับ ผลจากการยึดที่ดิน  และที่น่าตกใจ พบ 25 ครัวเรือน เสี่ยงหนี้ข้ามรุ่น หนำซ้ำยังส่งผลต่ออารมณ์ หลายครอบครัว มีอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หลังมีการแย่งยึดที่ดินด้วย ซึ่งการสูญเสียที่ดิน ถ้าพูดได้คล้ายกับการสูญเสียชีวิตเลยทีเดียว”อาจารย์กิติมา กล่าวและว่า ยิ่งการแย่งยึดยาวนานเท่าไหร่ ผลวิจัยพบว่า ชาวบ้านได้รับผลกระทบที่หนักหนาเพิ่มขึ้น โดยต้องอยู่กับความคลุมเครือเรื่องสิทธิ เกิดความไม่มั่นคง ในที่ดิน เสี่ยงสูญเสียที่ดินแบบถาวร หรือ อย่างโครงการกังหันลม จำนวน 14 ที่ ในพื้นที่ป่าดงหมู แปลง 2 สอง ก็ชัดว่ามีการสร้างทับซ้อนบนพื้นที่หากินของชาวบ้าน การอ้างว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม มีการนับเฉพาะจำนวนต้นไม้ ทั้งที่ความเป็นจริง พื้นที่ถือเป็นแหล่งซับน้ำที่สำคัญ ซึ่งโครงการนี้ไม่ต่างอะไรกับการฟอกเขียว

นางจิราวรรณ ชัยยิ่ง ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย กล่าวว่า การแย่งยึดที่ดินในสมัย คสช.เรามีความเจ็บปวดเป็นอย่างมาก ในส่วนของตนโดนแย่งยึดไป 17 ไร่  การแย่งยึดไม่มีการแจ้งล่วงหน้า หนำซ้ำ มีการนำกล้าไม้มาปลูก และขีดห้ามไม่ให้เข้าพื้นที่เพราะผิดกฎหมาย จากการที่เราแอบดู เจ้าหน้าที่ที่มามีการพกอาวุธด้วย อย่างกรณีล่าสุดที่มีการนำโครงการกังหันลมเข้ามา ชัดเจนว่า มีการทำบนพื้นที่หากินของชาวบ้าน ยืนยันว่าคนในพื้นที่ไม่มีใครยินยอม และพร้อมเดินหน้าต่อสู่ต่อ การที่ภาครัฐอ้างว่า เป็นป่าเสื่อมโทรม ยืนยันว่า ป่ายังมีความอุดมสมบูรณ์ ถือเป็นแหล่งซับน้ำที่สำคัญของหมู่บ้าน

นางจิรารัตน์ ประเสริฐสงข์ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย ได้บอกเล่าข้อมูลว่า ตนเองถูกยึดที่ดินทั้งหมด 2 งานแม้จะถูกยึดที่ดินทำกินน้อยที่สุดแต่ที่ดินเหล่านี้เป็นที่ดินซึ่งได้มาจากบรรพบุรุษซึ่งจะปกป้องรักษาและจะส่งต่อให้กับลูกหลานต่อไป อีกทั้งที่ดินที่ชาวบ้านที่คำป่าหลายถูกยึดไปทั้งหมด 300 ครัวเรือน รวมถูกยึดพื้นที่ดินทั้งหมดจำนวน 2,000 ไร่ แต่ในงานวิจัยได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมาเพียง 50 ครัวเรือน เมื่อรวมการถูกยึดพื้นที่ดินทั้งหมดจำนวน 507 ไร่ 26 งาน 30 ตารางวา โดยบางครอบครัวถูกยึดพื้นที่ไปมากถึง 24 ไร่ และน้อยสุดจำนวน 2 งาน อย่างไรก็ตามปัญหาจากการแย่งยึดที่ดินและไล่รื้อถอนพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านนั้นยังนำมาซึ่งหนี้สินของชาวบ้าน จากกรณีที่ชาวบ้านมีการปลูกมันสัมปะหลังในที่ของตัวเอง ตอนนั้นยังมีอายุไม่ถึงหนึ่งปี ทำให้มันที่ถูกไถถอนออกมามีขนาดเล็กไม่สามารถนำมาขายได้ แต่ค่าใช้จ่ายจากการกู้ยืมเพื่อมาลงทุนในการทำการเกษตรยังไม่ได้คืนทำให้กลายเป็นหนี้สิน และได้ยกตัวอย่างจากการสูญเสียที่ดินของคนในชุมชน กรณีแม่สมจิตต์ ได้นำเงินเก็บที่ทำงานมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นจนถึงอายุ 50 ปี จำนวน 270,000 บาท ไปซื้อที่ดินทั้งหมด หลังจากที่ถูกยึดที่ดินไปทำให้ลูกและน้องสาวต้องออกไปทำงานในกรุงเทพ และทิ้งหลานให้ดูแล ถึง 7 คน โดยไม่ส่งเงินกลับมาให้ ทำให้แม่สมจิตต์เครียดจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า ตอนนี้รายได้ทางเดียวคือเงินที่ได้มาจากการรับจ้างของสามี

และยังได้กล่าวต่อว่า หลังจากที่ได้ต่อสู้เพื่อให้ได้ที่ดินกลับคืนมากลับมีโครงการกังหันลมได้มาตั้งพื้นที่ทำกินของชาวบ้านทำให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาต่อสู้อีกครั้ง

นาง พิมวิภา คำมุงคุณ  ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย กล่าวว่า หลังจากที่มีนโยบายป่าไม้ของคสช.ตนเองถูกยึดที่ดินไปทั้งหมดจำนวน 16 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินมูลที่ได้มาจากปู่ทวด โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาทำการรื้อถอนพืชผลทางการเกษตรไปทั้งหมด นโยบายป่าไม้ของคสช.กลายเป็นกับดักหนี้สินของชาวบ้าน และให้ข้อมูลต่อว่า ทางเลือกสำหรับในชีวิตตอนนั้นคือ การไปกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อซื้อรถไถแล้วเอารถไถมารับจ้าง การได้มาซึ่งทรัพย์สินทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้น ทำให้พวกเราต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ แต่การต่อสู้ที่ไม่ถูกนับ คือ ต้นทุนของการลุกขึ้นมาต่อสู้ 100-110 วัน *300 บาท = 30,000-33,000 บาท 30,000-33,000*8 ปี =240,000-264,000 บาท และต้นทุนที่ต้องสูญเสียโอกาสการอยู่กับครอบครัว และความขัดแย้งภายในชุมชน 

ย้ำ BCG นโยบายฟอกเขียว อ้างป่าเสื่อมโทรมแค่ข้ออ้าง

ดร.สุรินทร์ อ้นพรม นักวิชาการอิสระด้านวนศาสตร์ชุมชน อดีตอาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า คำป่าหลายถูกตีตราว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม เพื่อสร้างโครงการกังหันลม  ยืนยันว่า หลังจากที่ตยลงพื้นที่ไป 2 ครั้ง ไม่ได้เป็นป่าเสื่อมโทรมตามที่มีการกล่าวอ้าง นั่นเป็นเพราะรัฐใช้การนับจำนวนต้นไม้เป็นหลัก ทั้งที่ในความเป็นจริงพื้นที่นี้ เ็นแหล่งซับน้ำที่สำคัญ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี 

ดร.สุรินทร์ กล่าวด้วยว่า เราเป็นภาคี สหประชาชาติ ต้องการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เป็นนโยบายที่รัฐพยายามผลักดัน จนเกิดเป็นวาทะกรรม เศรษฐกิจสีเขียว ภายใต้วาทะกรรมนี้ มีการซ่อนเรื่องความเหลื่อมล้ำ ไม่สะท้อนความเป็นจริงในพื้นที่ รัฐพยายาม บอกเรื่องป่าเสื่อมโทรม ในระเบียบนี้ เป็นมุมมองภาครัฐมองแค่ต้นไม้ที่มีความโตเท่านั้น นิยามนี้ คืดว่าเป็นการผูดขาดความรู้ ที่มองเฉพาะจำนวนต้นไม่ไม่มองมิติอื่น     ฉะนั้นนิยามป่าเสื่อมโทรม ต้องมานิยามใหม่ และต้องพูดอย่างถูกต้อง 

“กรณีโครงการ คาร์บอนเครดิต เป็นเกณฑ์ของ ที่คนให้เกิดโลกร้อน ต้องการเซฟค่าใช้จ่าย จะเห็นว่าที่ผ่านมา กลุ่มทุนพลังงาน ไม่อยากจ่ายค่าเสียหาย เราคิดว่าในไทยเอง วางรากฐานไปหมดแล้ว ตรงนี้ถือว่าอันตรายมาก ยกตัวอย่างบทความของ กรีนพีช เผยแพร่บทความงานวิจัย สองสามปีที่ผ่านมา บ.น้ำมันยักษ์ใหญ่ ต้องการป่า 2 ล้านไร่ เพื่อปลูกป่า ต้องถามว่า การเพิ่มพื้นที่ นำไปสุ่การฟอกเขียวหรือไม่ โลกร้อนได้นโยบายอะไรกับโครงการนี้ รู้สึกเศร้ามากที่รัฐต้องการผลักดัน ”

UN ชี้ชัดนโยบายค้าคาร์บอนเครดิตในหลายพื้นที่ ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ร่มฉัตร วชิรรัตนากรกุล เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า จากพันธกรณีอนุสัญญาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ได้กลับกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งผลกระทบอย่างฉบับพลันและผลกระทบอย่างช้า เนื่องจากได้ส่งผลกระทบต่อชุมชน อาหาร น้ำ ฯลฯ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากกรณีคำป่าหลายการที่รัฐได้ใช้มาตรการในการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนนั้นกลับกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง การดำเนินการของรัฐการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าตลาดคาร์บอนมักนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน และยังเป็นรูปแบบใหม่ในการล่าอาณานิคม โครงการคาร์บอนเครดิตกรณีการฟอกเขียวนำไปใช้ในภาคธุรกิจนำไปสู่การฟอกเพื่อทำธุรกิจของตัวเองต่อไป สิ่งที่น่ากังวลคือยังเป็นการยากต่อชุมชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ 

ในรายงานฉบับล่าสุดของรัฐบาล มาตรการลดโลกร้อนต้องคำนึงหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อนำไปสุ่ความยั่งยืน ที่เราเสนอเราเน้นย้ำต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งต้องไม่ถูกคุกคาม โครงการเมื่อมีแล้ว ต้องมีการติดตาม รับข้อเสนอข้อเรียกร้อง 

ชลธิศ สุรัสวดี ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาที่ดินทำกิน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ย้ำตลอดต้องลดความเหลื่อมล้ำทุกมิติ ที่ผ่านมามีการหารือกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะ เรื่องที่ดินทำกิน โดยกรณี คำป่าหลาย เป็นเรื่องหนึ่งที่พีมูฟพูดถึง เรื่องการสร้างกังหันลม มีคำถามว่ามีการอนุญาตให้สร้างได้อย่างไร เราสอบถามไปได้คำตอบว่า ได้รับการยินยอมจากผู้นำชุมชนแล้ว แต่หากชาวบ้านในพื้นที่เห็นแย้ง ก็สามารถทำเรื่องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดได้ ซึ่งเรื่องนี้จะมีการพูดคุยหารือเพื่อหาทางออกวันที่ 13 มี.ค.นี้  

“หากการสร้างกังหันลม เป็นการละเมิดสิทธิชุมชน หากพบว่า การให้การยินยอมจากผู้นำชุมชน เป็นรายงานเท็จ เราสามารถยกเลิกโครงการได้ พร้อมกับตั้งคณะกรรมการสอบเจ้าหน้าที่ ที่เสนอรายงานเท็จนี้ ยืนยันว่า ในรัฐบาลเพื่อไทย จะไม่มีการแย่งยึดที่ดิน เหมือนในอดีตที่ผ่านมาแน่นอน” ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยกล่าว

สส.ศนิวาร บัวบาน ตัวแทนพรรคก้าวไกล กล่าวว่า มุมมองในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน BCG แม้จะเป็นที่ยอมรับทั่วโลกแต่ผู้กลับนำไปปฏิบัติใช้อย่างไม่ถูกต้อง ความหมายแท้จริงของ BCG คือการพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดความเท่าเทียม และต้องคำนึงสิทธิมนุษชน

 และได้พูดถึง โมเดลการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจ/สังคมคาร์บอนต่ำที่เป็นธรรม ซึ่งโมเดลนี้ลดความเลื่อมล้ำ โดยมีเป้าหมาย คือ ให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้นเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วม ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติต่างๆ ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยใช้แนวทางให้ชุมชนจัดการป่าด้วยตนเอง นอกจากนี้ในการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักธรรมภิบาลสิ่งแวดล้อม และหลักสิทธิมนุษยชน

ที่ผ่านมาโครงการไม่ได้คำนึงถึงบริการทางนิเวศ เราต้องใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาคำนวนเพื่ออุดช่องว่างการคำนวนเฉพาะด้านเศรษฐกิจเท่านั้น และที่สำคัญในส่วนรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติใดๆ ควรนำเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ามาด้วยเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาต่างๆ ด้วยเช่นเดียวกัน

สมัย พันธโคตร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ตัวแทนนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย กล่าวว่า เราไม่ยอมรับวาทกรรมทางคืนผืนป่า เพราะนโยบายป่าไม้คสช .มาแย่งยึดที่ดินราษฏร ตั้งแต่ปี2559 มีการไล่ยึดที่ดินให้นายทุน ไปทำเหมืองแร่ ปลูกป่า ทั้งที่ชาวบ้านทำมาหากินมาก่อนตั้งบรรพบุรุษ การไล่ยึดที่ดิน ตามนโยบายป่าไม้ของคสช. ที่เกิดขึ้นจึงเสมือน การตัดแขนตัดขาเรา ทำมาหากินไม่ได้ รายได้หด ภาระครอบครัว ปัญหาหนี้สินก็พอกพูน ล่าสุดทางภาครัฐมีแผนจัดทำกังหันลม นอกจากจะทับที่พื้นที่ทำกินของชาวบ้านแล้ว ยังถูกตั้งขึ้นบนความอุดมสมบูรณ์ ไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรมตามที่รัฐกล่าวอ้าง โดยเฉพาะ เป็นแหล่งพื้นที่ซับน้ำที่สำคัญ มีน้ำไหลออกมาทั้งปีไม่เคยขาด เป็นน้ำสะอาดที่ดื่มได้ นอกจากนี้ยังมีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ทั้ง ผักหวาน มีไข่มดแดง มีหน่อไม้มีดอกกระเจียว โดยไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อที่ตลาด

“ยืนยันว่า ทั้งชาวบ้านไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการสร้างกังหันลม มีความสงสัยว่าป่าไม้ให้ผ่านสร้างกังหันลมได้อย่างไร ที่ผ่านมาเราต่อสู้มาตลอดเพื่อไม่ให้โครงการนี้เกิดขึ้น เพราะเราเดือดร้อนมาก มีการสร้างทับที่ชาวบ้านที่ใช้ทำมาหากิน รวมทั้งพื้นที่ป่า และแหล่งซับน้ำที่สำคัญของชุมชนเรา ”

เตือนรัฐบาลอย่าตามรอยคสช.หวั่นปัญหาลามทั่วประเทศ 

ขณะที่ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ได้นำเสนอแนวคิดเรื่องภูมินิเวศน์ว่า ที่ดินคำป่าหลายมีอยู่ 3 ประเภท คือที่ดินอยู่อาศัย ทำกิน และที่สาธารณะ สิ่งที่ชาวบ้านกลัวไม่ใช่ที่ดินทำกินอย่างเดียวแต่กลัวการทำลายน้ำซับที่เป็นที่ดินสาธารณะพังพินาจ นโยบายปลูกป่าคำนวนเฉพาะเนื้อไม้แต่กลับไม่ได้คำนวนถึงระบบนิเวศ 

และยังมองว่าการปลูกป่าค้าคาร์บอนยังเป็นความคิดที่ล้าสมัย เนื่องจากป่าไม้ไม่สามารถอยู่ได้ถึง 100 ปีเมื่อต้นไม้ถูกตัดก็ไม่สามารถไม่ได้ดูดซับคาร์บอนได้ เนื่องจากคาร์บอนลอยอยู่ในอากาศกว่า 100 ปี ป่าไม้ดูดซับของมันอยู่แล้วไม่ต้องมีการค้าขาย ตลาดคาร์บอนเครดิตต้องไม่คำนวนแค่เนื้อไม้แต่ให้คำนวนถึงระบบนิเวศด้วย และไม่ควรส่งเสริมให้มีการปลูกป่าค้าคาร์บอนแบบเชิงเดี่ยว นโยบายคสช.ทำให้พื้นที่คำป่าหลายถูกทำลาย นโยบาย Net Zero ทำให้ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ทำไมไทยถึงช้ากว่าประเทศอื่นตั้ง 15 ปีนั่นหมายถึงรัฐไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง หากรัฐไม่มีนโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากต้นทาง จะก่อให้เกิดปัญหากับชุมชนอื่น เฉกเช่นเดียวกับกรณีของคำป่าหลายและจะมีแนวโน้มของความรุนแรงเพิ่มขึ้น

ด้านตัวแทนนักปกป้องสิทธิฯจากกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายได้กล่าวถึงข้อเสนอของ กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย ต่อการแก้ไขปัญหาการแย่งยึดที่ดิน 

1. รัฐบาลต้องเปลี่ยนทัศนคติในการจัดการทรัพยากรใหม่ เพราะทรัพยากรไม่ใช่ของรัฐแต่เป็นของประชาชน : ต้องให้อำนาจประชาชนในการจัดการทรัพยากรและมองประโยชน์เพื่อประชาชนเป็นสำคัญ

2. ยกเลิกแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ 2557 หรือที่ราษฎรเรียกกันว่านโยบายแย่งยึดที่ดินและผืนป่า ที่นำมาสู่การแย่งยึดที่ดินประชาชนทั่วประเทศ และก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพของประชาชน โดยเฉพาะเกิดความยากจน เกิดความทุกข์ทนทางสังคมและอารมณ์

3. ตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากนโยบายแย่งยึดที่ดินและผืนป่า เพื่อเยียวยาในระดับจังหวัดและประเทศ ให้ใช้ความเป็นธรรมทางกฎหมายและข้อเท็จจริงในพื้นที่ ให้คืนสิทธิและยกเลิกคดีให้ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตนเองได้ต่อ โดยไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัยทางกฎหมาย คืนเอกสารสิทธิให้กับประชาชนที่รัฐยึดไป

4. แก้ไขปัญหาความยากจน ทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิการเป็นเจ้าของที่ดินและต้องแก้ไขปัญหาด้วยการวางบนหลักการสิทธิมนุษยชน และรัฐต้องรับรองและคุ้มครองสิทธิในการมีที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน อย่างมีศักดิศรีความเป็นมนุษย์

5. ตั้งกองทุนฟื้นฟูเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน ตั้งแต่ระยะสั้นจนถึงระยะกลางและเยียวยาโดยคลอบคลุมทุกมิติ

6. รัฐต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่านโยบายคาร์บอน เครดิต จะนำไปสู่ปัญหาการแย่งยึดที่ดินในวงกว้าง และจะทำให้เกิดปัญหาการแย่งยึดที่ดิน แย่งยึดทรัพยากร ทำให้ประชาชนต้องแบกรับแทนภาคอุตสาหกรรมอย่างไม่ยุติธรรม และผลักประชาชนให้ตกสู่ภาวะความยากจนเรื้อรัง

7. ต้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ออกมาปกป้องที่ดินและสิ่งแวดล้อมจากการถูกคุกคามต่างๆและการถูกดำเนินคดี

ทั้งนี้การจัดนิทรรศการ “BCG แย่งยึดอะไรที่คำป่าหลาย” นโยบายฟอกเขียวในนามความยั่งยืนหรือการแย่งยึดแผ่นดินราษฎร ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 5 จะยังคงจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 10 มีนาคม 2567 นี้