ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการ ชี้ ระเบียบตุลาการให้อธิบดีตรวจร่างคำพิพากษาเป็นปัญหาต่อความอิสระในการตัดสินคดี พร้อมเสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยให้สาธารณะชนตรวจสอบศาลได้ เพื่อความโปร่งใสและความเชื่อมั่น

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสวนาเวที "ฬ.จุฬาฯ นิติมิติ" หัวข้อ "ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ : สถานการณ์ ปัญหา และอนาคต"

รองศาสตราจารย์ปกป้อง ศรีสนิท จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า จากกรณีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลชั้นต้นจังหวัดยะลา พยายามกระทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อเรียกร้องความเป็นอิสระจนเป็นเรื่องอื้อฉาวในวงการยุติธรรมไทยนั้น ปัญหาเกิดจาก ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ที่กำหนดให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจในการตรวจร่างคำพิพากษาและทำความเห็นแย้งได้ในคดีสำคัญ ซึ่งหากมีผู้พิพากษาคดีเห็นต่างโดยยืนยันคำพิพากษาของตัวเองหรือไม่ทำตามอธิบดีฯ ก็จะเป็นปัญหา แม้ไม่มีบทลงโทษชัดเจน แต่สังคมจะเกิดข้อกังขาในการตัดสินคดีได้

รองศาสตราจารย์ปกป้อง เสนอว่า ควรยกเลิกระเบียบข้อนี้ที่ให้องค์คณะผู้พิพากษาส่งสำนวนหรือร่างคำพิพากษาให้อธิบดีฯ ตรวจออกไปเลย แต่หากจะคงไว้ ก็ต้องกำหนดให้อธิบดีศาล แนะนำได้เพียงข้อกฎหมายเท่านั้น ไม่ควรยุ่งกับข้อเท็จจริงในคดี เพราะไม่ได้นั่งสืบพยาน ย่อมรู้ข้อเท็จจริงในคดีเหมือนกับผู้พิพากษาเจ้าของคดี และต้องกำหนดความเป็นอิสระของผู้พิพากษาไว้ในระเบียบด้วย

นายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความเป็นอิสระของศาลไทยผสมหรืออยู่ภายใต้วัฒนธรรมอำนาจนิยมของสังคม ทำให้มีบางอย่างที่คนนอกวงการไม่ได้รับรู้ จนกว่าจะมีประเด็นร้ายแรงเป็นข่าวปรากฏออกมา และในแง่ความสัมพันธ์ของศาลกับองค์กรอื่น ที่คนภายนอกมองบางอย่างว่าเป็นปัญหา แต่คนวงการยุติธรรม มักอ้างความเป็นอิสระมาเป็นเกราะกำบังการชี้แจงกับสาธารณะ จึงไม่รู้ข้อมูลว่ามีการลงโทษทางวินัยกันเองมากน้อยขนาดไหน แม้เคยมีผู้ขอข้อมูล แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ให้ เพราะกลัวกระทบความน่าเชื่อถือของวงการศาล จนเกือบเป็นความโดดเดี่ยวหรือแปลกแยกจากสังคมวงกว้าง ไม่มีโอกาสรับหรือเเลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากสาธารณะ

ขณะที่อีกแนวคิดหนึ่งมองต่างว่า การเปิดเผยข้อมูล ยิ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือ อย่างกรณีผู้พิพากษาป่วยทางจิตแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม เมื่อปรากฏเป็นข่าวและถูกโยกย้ายไปทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกัยการตัดสินคดีิ คนในสังคมก็เข้าใจและเห็นใจด้วยซ้ำ

หลักนิติธรรมต้องควบคู่หลักสิทธิมนุษยชน

นายสมชาย หอมลออ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ยืนยันว่า หลักนิติธรรมต้องควบคู่กับสิทธิมนุษยน ซึ่งกฎหมายต้องเป็นธรรมด้วย โดยยึดจากอนุสัญญา กติกาหรือปฏิญญาระหว่างประเทศ จึงจะเป็น "rule of law" ไม่เช่นนั้นก็เป็นเพียง "rule by law" เหมือนผู้นำประเทศหลายประเทศบอกให้ประชาชนเคารพกฎหมาย แต่ตัวเองอยู่เหนือกฎหมาย อย่างกรณีศาลไทยตัดสินว่าหัวหน้าคณะรัฐประหารไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งก็คือไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมาย ทั้งที่ใช้ 3 อำนาจคือ บริหาร, นิติบัญญัติและตุลาการ ได้ในตัวคนๆเดียว จึงต้องเปลี่ยนแปลงการตัดสินคดีในลักษณะนี้ ไม่เช่นนั้นวงการศาลจะเสื่อมความน่าเชื่อถือไปเรื่อยๆ

นายสมชาย ยืนยันว่า สถาบันตุลาการและตัวผู้พิพากษาต้องยึดโยงกับประชาชนหรือสาธารณะ เพื่อความโปร่งใสและความเชื่อถือ เพราะความอิสระของศาลไม่ได้แปลว่าทำอะไรก็ได้โดยไร้การตรวจสอบ และแม้ปัจจุบันมีกระเเสวิจารณ์ศาลในโซเชียลมิเดียที่อาจเกินเลยบ้าง แต่ก็ไม่ใช่เหตุที่จะปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะ 

พร้อมกันนี้ เสนอการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ที่สำคัญคือ ให้อัยการควบคุมหรือสอบสวนร่วมกับตำรวจด้วย, ผู้พิพากษาต้องมีทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ โดยต้องมีอายุ 35 ปีขึ้นไป เพื่อให้มีประสบการณ์ รวมถึงให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีหรือสืบพยานได้แบบศาลชั้นต้นด้วย

รัฐธรรมนูญ 2560 สกัดคนภายนอกเป็นคระกรรมการตุลาการ

นายอธึกกิต แสวงสุข หรือ "ใบตองแห้ง" คอลัมนิสต์ชื่อดัง ระบุว่า วงการศาลยึดระบบอาวุโสในการเลื่อนตำแหน่งอย่าวเคร่งครัด โดยให้เหตุผลว่า จะได้ไม่ต้องวิ่งเต้น เพื่อให้ศาลมีความเป็นอิสระ ซึ่งกำหนดเกณฑ์อายุงานแต่ละตำแหน่งก่อนเลื่อนขั้น ซึ่งได้ค่าตอบแทนที่ต่างกันไม่มากในแต่ละขั้นด้วย แต่ก็มีคำถามว่า ระบบนี้ยืนยันความเป็นอิสระได้จริงหรือเปล่าด้วย 

นายอธึกกิต กล่าวด้วยว่า มีการมีการรื้อระบบตุลาการทุกครั้งเมื่อมีการรัฐประหารและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หลังจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ให้ความเป็นอิสระกับผู้พิพากษา มีคณะกรรมการตุลาการ ศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. ทำหน้าที่บริหารและวางแผนกำลังคน ซึ่งมีสัดส่วนบุคลากรของศาลขั้นต้น อุทธรณ์และฎีกาแต่ละชั้นเข้าไปทำหน้าที่และยังมีตัวแทนองค์กรภายนอกอีก 2 คนเป็น กต.ด้วย แต่ฉบับปี 2550 และรัฐธรรมนูญปี 2560 พร้อมกับมีกฎหมายลูกและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้ย้อนกลับไปให้ผู้พิพากษาเลือกกันเองมาเป็น กต. ตัดสัดส่วนองค์กรภายนอกรวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติที่เดิมเป็นผู้แต่งตั้งออกไป และยังให้บุคลากรศาลอุทธรณ์หรือฎีกา มาเป็นผู้บริหารหรืออธิบดีศาลชั้นต้นได้ด้วย และประเด็นนี้ทำให้คนในวงการตุลาการโดยเฉพาะรุ่นใหม่ๆ อึดอัดและอยากแก้ไขปรับปรุงด้วยเช่นกัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :