ไม่พบผลการค้นหา
'เจิมศักดิ์' ไม่ยึดติดมี สว.หรือไม่ ชี้ ส.ว.ชุดปัจจุบันไร้อิสระ ยิ่งกว่าสภาผัว-เมีย ขัดหลักการยึดโยงประชาชน คสช.เลือกเองทั้งหมด แนะใช้โมเดลเลือกตั้งแบบกลุ่มสาขาอาชีพ ด้าน 'ไอติม' ดันยกเลิก ส.ว.

ในเวทีเสวนา "เวทีแสวงหาฉันทามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทย" โดยเพจ New Consensus Thailand"จัดขึ้นในหัวข้อ "ส.ว.ไทย อย่างไรดี ซึ่งจัดโดยคณะก้าวหน้าที่อาคารไทยซัมมิท นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบุว่า ส่วนตัวไม่ยึดติดว่าจะต้องมี หรือ ไม่มี หากจะให้มีวุฒิสภา ต่อไปก็จะต้องทำให้เป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่กลั่นรองกฎหมาย ตรวจสอบ และท้วงติงการทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร 

ส่วนรูปแบบและอำนาจของ ส.ว. นายเจิมศักดิ์ มองว่า หากที่มา มีความยึดโยงกับประชาชน ก็ควรให้ ส.ว. มีอำนาจมาก โดยยกตัวอย่างของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และมีการให้อำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญได้ แต่ในทางกลับกัน หาก ส.ว. ไม่ยึดโยงประชาชน เช่นมาจากการแต่งตั้ง ก็ควรให้อำนาจเฉพาะการกลั่นกรองกฎหมาย และติดตามตรวจสอบการทำหน้าที่ฝ่ายบริหารเท่านั้น 

นายเจิมศักดิ์ ยังแนะนำว่า รูปแบบของ "วุฒิสภา" ที่น่าจะเหมาะสมกับประเทศไทย ไม่ใช่การเลือกตั้งแบบ ส.ส. แต่ต้องเป็นการเลือกตั้งกลุ่มสาขาอาชีพทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ได้ ส.ว. ที่หลากหลาย และป้องกันการทุจริตซื้อเสียงได้ ส่วนกองทัพ จะเข้ามาเป็น 1 ในกลุ่มสาขาอาชีพด้วยนั้น ก็ไม่ขัดข้อง แต่ก็ต้องดูว่า "ข้าราชการประจำ" เมื่อมาทำหน้าที่ จะเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารหรือไม่ ซึ่งก็อยู่ที่การออกแบบรัฐธรรมนูญในอนาคต

นอกจากนี้ระหว่างการเสวนา นายเจิมศักดิ์ ยังเล่าประสบการณ์ที่เข้าไปนั่งเป็น ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ยอมรับว่า ช่วงแรก ส.ว. มีความเป็นอิสระจากพรรคการเมือง ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่ปลายรัฐบาลของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ส.ว. เริ่มปราศจากความเป็นอิสระ และถูกตั้งฉายาว่า "สภาผัว สภาเมีย" และเมื่อเปรียบเทียบกับ "วุฒิสภา" ปัจจุบัน ถือว่าไม่มีความเป็นอิสระยิ่งกว่า "สภาผัว - สภาเมีย" เพราะมีที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. รวมถึง ส.ว. บางคนก็มาจากการเลือกกันเองในคณะกรรมการสรรหา รวมถึงยังให้อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งถือว่าขัดกับหลักการที่กล่าวไปข้างต้น

ไอติม ซัด ส.ว.ชุดปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตย

ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ตัวแทนกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า กล่าวว่า การมีอยู่ของวุฒิสภา ต้องเข้าใจบริบทของประเทศไทย จะไปลอกมาจากต่างประเทศทั้งหมดไม่ได้ เพราะการออกแบบวุฒิสภาเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการออกแบบโครงสร้างของประเทศ ส่วนตัวมองว่ามี 3 คุณค่าหลักในการกำหนดโครงสร้าง

1. กติกาที่เป็นกลางไม่ควรเขียนขึ้นมาให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ

2. ความเป็นประชาธิปไตย

3. มีความยืดหยุ่นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต

เมื่อประเมิน ส.ว. ของไทยปัจจุบัน ไม่มี ข้อที่ 2 เพราะวุฒิสภาไทย ขัดกับหลักประชาธิปไตย ตั้งแต่การให้ ส.ว. มีอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรี ขัดกับคะแนนเสียงของประชาชน 1 สิทธิ 1 เสียง ทำให้ประชาชนมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ได้เพียง 0.0000017 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น แต่ ส.ว. 250 มีอำนาจเลือก นายกรัฐมนตรี ถึง 3.3 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า ส.ว. มีอำนาจเท่ากับประชาชน 2 ล้านคน ในการเฃือกนายกรัฐมนตรี  อีกทั้งอำนาจละที่มีของวุฒิสภาไทย มีหลายอย่างที่ไม่เท่าเทียมกัน แม้ตัดบทเฉพาะกาลออกไป แต่ ส.ว. ก็มีอำนาจในการยับยั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ ส.ว.ต้องยินยอมเสียงเกิน 1 ใน 3 ของ ส.ว.  

นอกจากนี้ ส.ว. ยังมีที่มาไม่ยึดโยงกับประชาชน เมื่อดูองค์ประกอบของอาชีพ ของ ส.ว. 250 เป็นทหาร ตำรวจ มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีผลประโยชน์ทับซ้อน กระบวนการสรรหา ส.ว. มีการเลือก พี่น้องของตัวเองเข้ามา และกรรมการสรรหา บางคน เข้ามาเป็น ส.ว. เสียเอง

ดังนั้นหากออกแบบให้มี ส.ว. แบบอังกฤษ แม้จะมาจากการแต่งตั้งแต่มีอำนาจน้อยมาก มีอำนาจแค่ยับยั้งกฎหมายไว้เพียง 1 ปี หาก ส.ส.ยืนยันกฎหมายต่อ ส.ว.ก็ทำอะไรไม่ได้ และหาก ส.ส. เสนอกฎหมายที่เกี่ยวกับ นโยบายซึ่งหาเสียงไว้ ส.ว. ก็ไม่มีอำนาจไปยับยั้งได้   

ส่วนถ้าหากให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งแบบสหรัฐอเมริกา ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่เหมือนกับ ส.ส. โดยให้ ส.ว.เป็นตัวแทน มลรัฐ 2 คน ต่อรัฐ และเลือกตั้ง มีการเลือกตั้งแบบผ่องถ่ายอยู่ตลอด ทุกๆ 2 ปี ในสัดส่วน 1 ใน 3 ของ ส.ว. เพื่อไม่ให้ครองอำนาจได้ยาวนาน ส่วนทางเลือกที่ 3 คือการไม่ให้มี ส.ว. เลย ซึ่งทิศทางของโลกมาทางสภาเดียวมากขึ้น

ย้ำต้องมีสภาเดียว ยกเลิก ส.ว.ทำให้ประหยัดงบฯ

นายพริษฐ์ กล่าวว่าทางเลือกที่เหมาะกับประเทศไทย ส่วนตัวต้องการให้มีเพียงสภาเดียวด้วยเหตุผล คือเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการออกกฎหมายปรับแก้กฎหมาย รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ทันถ่วงที และการไม่มี ส.ว. ทำให้ ประหยัดงบประมาณไปกว่า 1พันล้านบาท ต่อปี ทั้งเงินเดือน เงินประตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ ค่าสรรหา รวมถึงจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะได้คนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจริงๆ นอกจากนี้ อำนาจของ ส.ว. บางอำนาจ ยังมีหน่วยงานอื่นทำหน้าที่ได้ดีกว่า เช่นการปกป้องลประโยชน์ของแต่ละจังหวัดก็ให้ จังหวัดไปจัดการตนเอง การแต่งตั้ง องค์กรอิสระ ก็วางกฎเกณฑ์ ให้ องค์กรอิสระ ต้องได้รับเสี่ยงข้างมากจากทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน แทน และเอาอำนาจตรวจสอบรัฐบาล ของ ส.ว. ไปให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อถ่วงดุลฝ่ายบริหาร

ปิยบุตร ไอติม พริษฐ์ ก้าวหน้า เสวนา สมาชิกวุฒิสภา 88E-C459-4B15-8BE9-9F17782DF5C4.jpegไอติม พริษฐ์ ก้าวหน้า 313E-4814-A331-EA75F23BDECF.jpeg


เสวนา ก้าวหน้า 6C55B-2E37-4A4D-BDBB-1CDE22599B2E.jpeg

ด้าน น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนป.) กล่าวตอนหนึ่งว่า การมีอยู่ของสมาชิกวุฒิสภาในสังคมสมัยใหม่เป็นเครื่องมือให้อำนาจจากเผด็จการ มากกว่าการขับเคลื่อนเพื่อประชาชน อีกทั้งตนยังเชื่อว่าสามาชิกสภาผู้แทนราษฏรนั้น มีความสามารถเพียงพอโดยการไม่ต้องพึ่งวุฒิสภา เพราะวุฒิสภาเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่เกิดประโยชน์ แต่เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้สืบทอดอำนาจ ซึ่งเป็นฟอร์มโบราณ จากคนที่มีแนวคิดแบบโบราณๆ ที่เพียงต้องการยึดอำนาจไว้กับตนเองเท่านั้น นอกจากนี้งานที่สุฒิสภาทำ ผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่สามารถทำได้ ดังนั้น เราต้องแยกแยะตำแหน่งให้ชัดเจน และที่สำคัญวุฒิสภาชุดนี้ไม่เคยมีผลงานอะไรนอกจากเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี วุฒิสภาชุดนี้เหมือนเป็นไส้ติ่งที่ไร้ประโยชน์ นอกจากจะไม่ทำอะไรเพื่อประชาชนแล้ว ยังเป็นภัยต่อประชาธิปไตยอีกด้วย และยังคงนอนกินภาษีของประชาชนปีละหลายๆ ล้านบาทอย่างสบายใจ ไส้ติ่งที่อักเสบและใกล้แตกต้องตัดทิ้งเท่านั้น ไม่อย่างนั้นประเทศจะตาย

"การเมืองช่วงปี 2521 และ ปี 2534 ช่วงเวลานั้นเกิดรัฐประหารเฉกเช่นเดียวกันปี 2557 ซึ่งทั้ง 3 ครั้งที่เกิดการรัฐประหาร จะมีการสรรหาคัดเลือกบุคคลมาเป็นวุฒิสภา เพื่อกลับมาเลือกนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้นทุกครั้งที่เกิดการรัฐประหาร ย่อมมีการฉีกรัฐธรรมนูญ และคนที่ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่หลังการรัฐประหารทั้ง 3 ครั้งนั้น มาจากคนๆเดิม เห็นว่า ควรเอางบประมาณของวุฒิสภากระจายไปให้ท้องถิ่น เพื่อให้ภาคประชาชนมีบทบาทในภาคสังคมได้อย่างเต็มที่ และจะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตนเองนั้นมีค่าและมีส่วนร่วมทางการเมืองของประเทศอย่างแท้จริง ถ้ายังมีวุฒิสภาต่อไปเราสิ้นหวังแน่ๆ การมีอยู่ของวุฒิสภาในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ขัดต่อประชาธิปไตยที่สุดแล้ว ถ้าไม่มีวุฒิสภาเราเชื่อว่าการเติบโตของประเทศนั้น จะเจริญก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด และสุดท้ายเราคงต้องให้สังคมตั้งคำถามกันเองว่า การมีอยู่ของวุฒิสภามีประโยชน์จริงๆหรือไม่"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง