ไม่พบผลการค้นหา
'จีน-อิหร่าน' เป็นสหายเก่าแก่มาตั้งแต่โบราณกาล จีนยกย่อง 'อาณาจักรเปอร์เซีย' หรืออิหร่านโบราณว่าเป็นดินแดนที่มีอารยธรรมสูงส่งเช่นเดียวกับจีน และความสัมพันธ์อันแนบแน่นก็ยังปรากฏให้เห็นในปัจจุบันอีกด้วย

อิหร่านเป็นประเทศแรกในโลกที่จีนส่งความช่วยเหลือการสู้กับวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเป็นทางการ ทั้งการให้เวชภัณฑ์ ให้อุปกรณ์การแพทย์ และส่งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ พร้อมด้วยทีมล่ามภาษาฟาร์ซีส์แก่อิหร่าน โดยส่งไปตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์วิกฤตการระบาดในจีนยังหนักหนาและมีความต้องการเวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์และแพทย์อย่างยิ่งยวด

โดยจีนไม่ให้สิ่งเหล่านี้กับประเทศอื่นใดที่เผชิญปัญหาการระบาดเช่นเดียวกันในช่วงเวลานั้น เพิ่งจะให้ประเทศอื่นเมื่อสถานการณ์ในจีนคลี่คลายจนควบคุมได้ทั้งหมดแล้ว สะท้อนว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอิหร่านเป็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นลึกซึ้งไม่ธรรมดา

จีนกับอิหร่านเป็นสหายเก่าแก่กันมาตั้งแต่โบราณกาล จีนยกย่องอาณาจักรเปอร์เซียหรืออิหร่านโบราณว่าเป็นดินแดนที่มีอารยธรรมสูงส่งเช่นเดียวกับจีน เป็นคู่ค้าที่เท่าเทียม เป็นพันธมิตรและตลาดการค้าที่สำคัญยิ่งบนเส้นทางสายไหม ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าโบราณที่กองคาราวานขนสินค้าจากจีนไปขายก่อนจะเดินทางไปค้าขายยังยุโรป จีนไม่ได้มองเปอร์เซียเป็นดินแดนเล็กด้อยอารยธรรมที่มาขอพึ่งใบบุญจีนเพื่อทำการค้า

หลังจากจีนสถาปนาการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ ใน ค.ศ.1949 ความสัมพันธ์กับอิหร่านจึงชะงักไป เพราะอิหร่านปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเป็นพันธมิตรของค่ายโลกเสรีของสหรัฐอเมริกาในสงครามเย็นซึ่งต่อต้านคอมมิวนิสต์ ต่อมาเมื่อสหรัฐฯปรับความสัมพันธ์กับจีน อิหร่านจึงสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนใน ค.ศ.1971 พร้อมกับเฉลิมฉลองความสัมพันธ์จีน-อิหร่าน ครบรอบ 2,500 ปี อย่างยิ่งใหญ่

อิหร่าน.jpg

ใน ค.ศ.1979 สหรัฐฯ และพันธมิตร คว่ำบาตรอิหร่าน หลังจากที่อิหร่านทำการปฏิวัติโค่นระบอบกษัตริย์เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐอิสลาม ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอิหร่านแนบแน่นขึ้นเรื่อยๆ

ในด้านการทหาร ช่วงทศวรรษที่ 1980 อิหร่านเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดที่สั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากจีน มีมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่เป็นที่จับตามากที่สุดคือ ในปี ค.ศ.1986 อิหร่านซื้อระบบขีปนาวุธเป้าหมายแบบพื้นสู่พื้นจากจีนติดตั้งให้เรือรบของอิหร่าน เพื่อใช้ในการควบคุมช่องแคบฮอร์มุส ปากทางเข้าอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญและอ่อนไหวที่สุดของโลกเพราะเป็นเส้นทางขนส่งค้าขายน้ำมันที่สำคัญที่สุดของโลก

ในช่วงทศวรรษที่ 1990 อิหร่านยังคงเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด ที่สั่งซื้ออาวุธยุโธปกรณ์จากจีน และบรรดาประเทศตะวันตกหลายประเทศคิดว่าจีนคือผู้ขายและถ่ายทอดเทคโนโลยีนิวเคลียร์แก่อิหร่าน ต่อมาในทศวรรษที่ 2000 สหประชาชาติมีมติลงโทษอิหร่านที่พัฒนาอาวุธทำลายล้างสูง ทั้งนิวเคลียร์และอาวุธเคมี ด้วยการให้บรรดาสมาชิกคว่ำบาตรอิหร่าน แม้ว่าจีนจะตกลงที่จะคว่ำบาติอิหร่านด้วยการไม่ขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้อิหร่าน แต่ปรากฏว่าบริษัทสัญชาติจีน 5 บริษัทถูกจับได้ว่าแอบขายเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้อิหร่าน ซึ่งทางการจีนยืนยันว่าทางการจีนไม่เกี่ยวข้องไม่รู้เห็น

ต่อมาในปี 2015 แม้จีนจะลงนามในกรอบความร่วมมือเรื่องนิวเคลียร์อิหร่าน(Iran Nuclear Deal Frame Work) ที่นานาชาติจัดทำขึ้นเพื่อกดดันอิหร่านให้ยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่จีนก็ไม่ได้ดำเนินการลงโทษใดๆ เมื่ออิหร่านละเมิดข้อตกลง อิหร่านเองก็ตอบแทนจีนด้วยการเป็นประเทศมุสลิมไม่กี่ประเทศที่คัดค้านการที่สหประชาชาติจะสอบสวนจีนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ในจีน จนจีนเกิดข้อพิพาทกับสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.2018 เมื่อทางการสหรัฐฯ สั่งให้ทางการแคนาดาจับกุมนางเมิ่งหว่านโจวผู้บริหารระดับสูงของบริษัทหัวเว่ยของจีนในข้อกล่าวหาว่าบริษัทหัวเว่ยละเมิดข้อตกลงคว่ำบาตรอิหร่าน

ในด้านเศรษฐกิจ อิหร่านเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในทศวรรษที่ 1980 มูลค่าการค้าจีนกับอิหร่านสูงราว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ในทศวรรษที่ 1990 เพิ่มเป็นราว 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ในทศวรรษที่ 2000 เพิ่มเป็นราว 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี และในทศวรรษที่ 2010 เพิ่มเป็นราว 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี และจีนกลายเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับต้นๆ ของอิหร่าน

อิหร่าน_จีน.jpg
  • รมว.กระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน (ซ้าย) และจีน (ขวา)

นอกจากนี้ จีนยังได้เข้าไปลงทุนในอิหร่านเป็นมูลค่ามหาศาล เช่น บรรษัทปิโตรเลี่ยมแห่งชาติจีน (China National Petroleum Corporation หรือ CNPC) และ บรรษัทโตรเลียมและเคมีของจีน (China Petroleum and Chemical Corporation หรือ Sinopec) ลงทุนในอิหร่านมูลค่ารวมหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2000 ถึงปัจจุบัน เพื่อสำรวจ ขุดเจาะ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอิหร่าน และยังได้ตั้งโรงกลั่น และโรงงานปิโตรเคมีหลายแห่ง จีนกับอิหร่านกลายเป็นคู่พันธมิตรที่ขาดกันและกันไม่ได้ เพราะจีนมีเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วและมีความต้องการพลังงานสูงมาก

ในขณะที่อิหร่านซึ่งร่ำรวยน้ำมันและก๊าซ ถูกคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตกบ่อยๆ จึงต้องการเงินจากการขายน้ำมันและก๊าซเพื่อเลี้ยงดูประเทศตนเอง และจีนก็เป็นเศรษฐีกระเป๋าหนักที่สนใจผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ไม่แยแสเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองหรือพฤติกรรมทางการเมืองใดๆ ของประเทศอื่น

เมื่อประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนประกาศนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road) ใน ค.ศ.2013 ก็ได้ระบุว่าอิหร่านเป็นพันธมิตรสำคัญในนโยบายด้วย โดยจีนทั้งให้ความช่วยเหลือเป็นตัวเงินและเข้าไปลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในอิหร่าน เช่น ถนน และทางรถไฟ เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมขนส่งทางบกระหว่างจีนกับอิหร่าน โดยรถไฟขนส่งสินค้าขบวนแรกระหว่างจีนกับอิหร่านได้เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.2016 ทำให้เวลาการขนส่งระหว่างสองประเทศลดลงเหลือ 12 วัน จากที่เคยใช้การขนส่งทางทะเลซึ่งกินเวลา 30 วัน อำนวยความสะดวกให้จีนส่งสินค้าไปอิหร่านง่ายขึ้นเร็วขึ้น และนำสินค่าพลังงานจากอิหร่านไปสู่จีนได้เร็วขึ้น

แม้ว่าอิหร่านจะไม่ใช่เป้าหมายการเดินทางลำดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวชาวจีน แต่การที่จีนลงทุนในอิหร่านมหาศาลก็ทำให้มีชาวจีนเข้าออกอิหร่านจำนวนมากต่อปีเพราะต้องเดินทางไปทำงาน ส่วนอิหร่านก็มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการให้นักท่องเที่ยวที่ถือหนังสือเดินทางจีนเดินทางท่องเที่ยวอิหร่านและอยู่ในอิหร่านได้นาน 21 วันโดยไม่ต้องขอวีซ่า โดยเริ่มตั้งแต่กลางปี ค.ศ. 2019 และโหมลงทุนประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวอันงามวิจิตรที่มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมยิ่งใหญ่เก่าแก่น่าสนใจ ทำให้นักท่องเที่ยวจีนไปเที่ยวอิหร่านเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในช่วงปลายปี ค.ศ. 2019 ถึงช่วงต้นปี ค.ศ.2020

อิหร่านพบผู้ป่วยเพราะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายแรกของประเทศในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ และการระบาดรุนแรงจนถึงขั้นวิกฤตในเวลาอันสั้น

จีนรีบส่งความช่วยเหลือไป มิใช่เพราะเห็นว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 มีศูนย์กลางการระบาดจากเมืองอู่ฮั่นของจีน แต่เพราะจีนเห็นว่าอิหร่านเป็นประเทศที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อจีนและผลประโยชน์ของจีน อย่างยากจะมีประเทศอื่นใดเสมอเหมือน