ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนาก่อตั้ง 86 ปี ม.สวนดุสิต-​คนเดือนตุลาคุณค่าประชาธิปไตยหนุนพลังนักศึกษาคนรุ่นใหม่ดันแก้ รธน. ‘สมศักดิ์’ ซัด ‘ประยุทธ์’ ไม่ใช่ผู้นำฝ่ายประชาธิปไตย ด้าน ‘จาตุรนต์’ ชมคนรุ่นใหม่ทวงถามเหตุล้อมฆ่า นศ. 6 ต.ค. 2519 ขณะที่ประธานรัฐสภา ย้ำบ้านเมืองมีปัญหาเพราะคนไม่ดี ไม่เกี่ยวระบบการเมือง-รธน. ดันหลักสูตรการเมืองสุจริต หวังสร้างนักการเมืองน้ำดี ทำให้ ‘ธเนศ’ โต้กลับการได้อำนาจรัฐต้องมาจากเลือกตั้งไม่ใช่รัฐประหาร

วันที่ 5 ต.ค. ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ปาฐกถาในงาน 86 ปี มหาวิทยาลัยสวนดุสิตกับการก่อเกิดโรงเรียนกฎหมายและการเมือง หัวข้อ "คุณธรรม จริยธรรมของนักกฎหมายและนักการเมืองเพื่อการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี" โดยระบุว่า แม้นักการเมืองต้องรู้กระบวนการออกกฎหมายและต้องเป็นตัวอย่างในการเคารพกฎหมาย ซึ่งทุกระบบการเมืองมีจุดอ่อนจุดแข็ง แต่ประชาธิปไตยต้องเคารพสิทธิประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ มีหลักนิติธรรม หรือ rule of law ในการปกครอง ซึ่งเป็นหลักการเเรกของ "ธรรมาภิบาล"

ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการเรียกร้องให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ด้วยว่า ถ้าดีจริง ทำไมทหารจึงยึดอำนาจ จึงเห็นว่า ปัญหาบ้านเมืองเป็นเรื่องภาคปฏิบัติ และเหตุที่เกิดทั้งหมดไม่ใช่ความผิดของหลัก-ระบบปกครองหรือรัฐธรรมนูญ แต่เป็นความผิดของผู้ใช้หรือผู้บริหารประเทศที่ไม่เคารพกฎหมาย ใช้วิธีการนอกกฎหมาย รวมทั้งนโยบายรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จนเกิดความไม่สงบต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน เพราะไม่ได้ใช้หลักนิติธรรม ดังนั้น คนที่ดีกับหลักที่ดีต้องอยู่ด้วยกัน และแม้หลักไม่ดี ถ้าคนดี ก็ยังพอจะประคับประคองไปได้ 

ชวน กล่าวด้วยว่า ระบบรัฐสภานั้นฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติเป็นพวกเดียวกัน เพราะต้องได้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้น จึงต้องเน้นที่นักการเมือง โดยตนของบประมาณรัฐบาลได้ 20 ล้านบาท ร่วมมือกับสถานศึกษาต่างและสถาบันพระปกเกล้า ทำโครงการ "การเมืองสุจริต" และผลักดัน "ธรรมาภิบาลภาคปฏิบัติ" ด้วย พร้อมย้ำว่า ไม่ว่านักการเมือง นักกฎหมายหรืออาชีพอื่นๆ เมื่อมีโอกาสหรือส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมือง ต้องมีคุณธรรมจริยธรรม ไม่โกงกินหรือทุจริต ไม่เกรงใจคนจนทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม้จะทำได้ยากก็ตาม

ชวน 948F-4B0D-BF7C-1ED118232BA7.jpeg

คนเดือนตุลา เห็นพ้อง แก้ รธน.

จากนั้นมีการเสวนา "คนเดือนตุลากับคุณค่าประชาธิปไตย : ร่องรอยความทรงจำและความหวังอนาคตการเมืองไทย" โดยเวทีนี้วิทยากรทั้งหมดเห็นพ้องว่า ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง รวมถึงสนับสนุนการเคลื่อนไหวของขบวนการเยาวชนนักศึกษาในช่วงนี้ด้วย 

ทั้งนี้ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า เหตุการณ์เดือน ต.ค. ทั้งปี 2516 ปละ 2519 มีความเกี่ยวเนื่องกัน ไม่ใช่เเค่ 14 ตุลา นักศึกษาชนะ แล้วพ่ายแพ้ตอน 6 ต.ค. 2519 เท่านั้น โดยเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 เกิดจากความไม่พอใจต่อระบอบเผด็จการที่สะสมมายาวนานรวมทั้งมีความขัดแย้งในหมู่ชนขั้นนำเองด้วย เพียงแต่มีนักศึกษาเป็นแกนนำหลัก และการชุมนุมยกระดับเป็นการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดหรือเนื้อหา แต่เมื่อสิ้นสุดเหตุการณ์ได้รัฐธรรมนูญใหม่ ทำให้พรรคการเมืองเริ่มมีบทบาท ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพอย่างกว้างขวาง

จาตุรนต์ ยืนยันถึงความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ว่า เกิดจากผู้มีอำนาจรัฐ ที่ต้องการทำลายพลังและสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาประชาชน มีการวางแผนใส่ร้ายป้ายสีอย่างเป็นระบบด้วยการกล่าวหาว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งที่การเคลื่อนไหวของนักศึกษาปี 2519 คือ คัดค้านการกลับประเทศของจอมพลถนอมกิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้นำ 3 ทรราช ดังนั้น จึงเห็นว่า การบอกให้เยาวชนนักศึกษาปัจจุบัน อย่าซ้ำรอย "ยุค 6 ตุลา" นั้น เป็นการบิดเบือน เพราะเหมือนกับเห็นนักศึกษาทั้งยุคนี้และยุคตุลาไปทำอะไรผิด จึงต้องโดนฆ่าทิ้ง ซึ่งไม่ตรงกับทั้งเจตนาและข้อเท็จจริง

“ในปีนี้ 2563 คนรุ่นใหม่ศึกษาและพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา จำนวนมาก และยังถามหาสาเหตุและถามว่าใครสั่งฆ่านักศึกษา ตลอดจนการเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี” จาตุรนต์ ระบุ

จาตุรนต์ -34A4-441B-AE22-BBDC5A545983.jpegจาตุรนต์ A27D-4587-A2D1-55A0947DA186.jpeg
  • จาตุรนต์ ฉายแสง

ขณะที่ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ร่องรอย "เดือนตุลา" คือ "เมื่อใดที่ประชาชนกล้าลุกขึ้นมาต่อสู้ ลุกขึ้นมาทวงอำนาจ ไม่มีอะไรจะขวางได้" และ "สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยไม่ได้เกิดจากการร้องขอ แต่ต้องต่อสู้จึงจะได้มา" แม้เลี่ยงความสูญเสียไม่ได้ แต่ถ้าชนะก็คุ้มค่าอย่างกรณี "14 ตุลา"ซึ่งช่วงเริ่มต้นเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ตนศึกษาอยู่และต้องตั้งคำถามกับทฤษฎีต่างๆที่อาจารย์สอน เพราะสภาพสังคมและข้อเท็จจริงในเเง่ประชาธิปไตย ต่างจากทฤษฎี มองไม่เห็นว่าไทยเป็นประชาธิปไตยตรงไหน อำนาจอยู่กับทหารตลอดเวลา 

สมศักดิ์ ย้ำว่า กระทั่งวันนี้อำนาจก็ไม่ได้อยู่ในมือประชาชน และไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ จึงเป็นบริบทที่ทำให้เกิดกระแสการเคลื่อนไหวและเป็นความท้าทายสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่ติดแฮชแท็กว่า #ให้มันจบที่รุ่นเรา พร้อมยืนยันว่า คนรุ่นใหม่มีสำนึกทางการเมือง และจะไม่ยอมส่งต่อปัญหาไม่สู่คนรุ่นต่อไป จึงติดแฮชแท็ก #ให้มันจบที่รุ่นเรา และเชื่อว่า จะนำสู่การเปลี่ยนเปลี่ยนสังคมได้อย่างใหญ่หลวงในอนาคต

สมศักดิ์ ยืนยันอีกด้วยว่า จะเรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าเป็นผู้นำประเทศที่มาจากระบบประชาธิปไตยไม่ได้ เพราะเป็นการสืบทอดอำนาจรัฐประหาร ผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญ หรือมีการล็อกสเป็กไว้แล้ว ทั้งมี "พรรคอีแอบ" ยกมือให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย โดยเห็นว่าทั้งรัฐบาลและรัฐสภา ต้องฟังข้อเรียกร้องของนักศึกษาประชาชน โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากไม่รับฟังก็เหมือนการขุดหลุมฝังศพตัวเอง

สมศักดิ์ 7D81-470B-AB8A-01BA4F7CDECA.jpeg
  • สมศักดิ์ ปริศนาน้นทกุล

ด้านศาสตราจารย์ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า นักเรียน นักศึกษาปัจจุบัน รู้ประเด็นในการเคลื่อนไหวดีกว่านักศึกษารุ่นเดือนตุลาคม เพราะศึกษารอบรู้โลกกว้างขวางได้ลึกซึ้งกว่า ขณะที่ในยุคเดือนตุลาคมแม้แต่ตนเองและนักศึกษาจำนวนมาก ก็ยังไม่รู้เรื่องรัฐธรรมนูญเท่าไหร่ เพียงแต่ชัดเจนในเรื่องอารมณ์ร่วมกับการเคลื่อนไหว

อย่างไรก็ตาม มองว่า ทั้งเหตุการณ์ "14 ตุลา 16" และ "6 ตุลา 2519" ที่ผ่านมากว่า 4 ทศวรรษ ยังมีคนถามผู้ผ่านเหตุการณ์ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น สะท้อนว่า สังคมไทยยังไม่ขานรับหรือรับรู้ข้อเท็จจริงร่วมกันได้ มีการตีความที่หลากหลาย จึงยังไม่ถือเป็นประวัติศาสตร์ในแง่ความทรงจำร่วมได้ ดังนั้น ประวัติศาสตร์ชาติไทย จึงยังไม่ยุติ อย่างน้อยก็นับแต่ปี 2475 เป็นต้นมา

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ 9235-42A5-9E01-D5D12F014FA7.jpeg
  • ศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ศาสตราจารย์ ธเนศ ยังกล่าวถึงประเด็นคุณธรรมของนักการเมืองและนักกฎหมาย ที่ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ปาฐกถาก่อนหน้าการเสวนาโดยเน้นคนดีมากกว่าระบบที่ดีและชูคุณธรรมจริยธรรมนั้น โดยระบุว่า คุณธรรมและจริยธรรมของชาวบ้านกับของชนชั้นปกครองแตกต่างกัน ผู้มีอำนาจและเครือข่ายชนขั้นปกครองไทย จะอ้างคุณธรรมของกษัตริย์ที่แอบอิงศาสนาและบุญบารมีตามความเชื่อ มาเป็นคุณธรรมหลัก ขณะที่การแสดงออกทางการเมืองหรือการชุมนุมจำนวนมาก, การเสียสละมาต่อสู้ทางการเมือง รวมถึงการที่จะได้อำนาจรัฐต้องผ่านการเลือกตั้งไม่ใช่รัฐประหาร ล้วนเป็นคุณธรรมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย และเห็นว่าคุณธรรมของประชาชนสำคัญกว่าของผู้ปกครอง