ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับแอดมินเพจพิพิธภัณฑ์สามัญชน ผู้เก็บสิ่งของที่เปรียบเสมือน “หลักฐาน” ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนตลอด 5 ปี ในยุค คสช. กับการนำสิ่งของมาจัดแสดงนิทรรศการ Never Again หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน

อานนท์ ชวาลาวัณย์ เอ็นจีโอหนุ่ม ผู้หลงใหลในประวัติศาสตร์ และการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน เขาเป็นผู้ก่อตั้งเพจเฟซบุ๊กพิพิธภัณฑ์สามัญชน อานนท์ ใช้เวลากว่า 5 ปี ในการติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในยุคที่ถูกปกครองด้วยคณะรักษความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงใช้เวลาว่างจากการทำงานลงมือทำในสิ่งที่เขาชื่นชอบ นั่นคือ การเก็บสิ่งของที่เป็นวัตถุพยานของเหตุการณ์ทางการเมือง

สิ่งของส่วนหนึ่งที่อานนท์เก็บรวบรวมไว้ ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ Never Again หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน ที่จัดขึ้นโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ร้าน WTF Gallery and Café ซอยสุขุมวิท 51

อานนท์ เล่าว่า เขาได้รับแรงบรรดาลใจมากจากชาวต่างชาติท่านหนึ่ง ที่ทำงานเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมสิ่งของที่ใช้รณรงค์ทั่วโลก ด้วยความที่เรียนประวัติศาสตร์ ตอนที่ไปเดินพิพิธภัณฑ์ในไทยแล้วรู้สึกว่า มิติที่เป็นการเคลื่อนไหวของประชาชนขาดหายไป ก็เลยอยากทำพิพิธภัณฑ์สามัญชนขึ้นมา

เขาเล่าต่อว่า พิพิธภัณฑ์สามัญชน เป็นโปรเจกต์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นจากความสนใจของเขาเองเป็นการรวบรวมสิ่งของที่ใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมถึงการเคลื่อนไหวประเด็นอื่นๆ เช่น สิ่งแวดล้อม เรื่องความเท่าเทียมทางเพศมาเก็บรวบรวมไว้ เช่น เก็บเสื้อทีเชิ้ตที่ใช้ในการรณรงค์ต่างๆ ป้ายผ้าต่างๆ ที่เป็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน


พิพิธภันฑ์สามัญชน
  • เสื้อทีเชิ้ตส่วนหนึ่งที่จัดแสดงในงาน

พิพิธภัณฑ์ที่เป็นพื้นที่ของสามัญชน

อานนท์ เล่าให้ฟังว่า เวลาที่ไปเดินในพิพิธภัณฑ์ อย่างเช่น พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เรื่องราวมันจะไม่ค่อยมีเรื่องราวของคนธรรมดาเท่าไหร่ ถ้ามีมันก็จะมีในมิติด้านวัฒนธรรม สังคม แต่ว่ามิติที่เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง มันขาดหายไป อานนท์จึงคิดว่า เขาอยากจะสร้างพิพิธภัณฑ์ที่เป็นพื้นที่ของสามัญชนอย่างแท้จริง เป็นที่ที่สามัญชนมีพื้นที่ทางการเมือง โดยการรวบรวมความเคลื่อนไหวของประชาชน ที่เห็นจากปรากฏการณ์การเมืองระดับชาติ

“ผมคิดว่า มันคือกระบวนการเรียนรู้ การเอาของมาจัดแสดง เป็นกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียนแล้วก็เรียนรู้ได้ตั้งแต่เด็กจนแก่ เรื่องปรากฏการณ์ทางการเมืองต่างๆ ถ้าเราย้อนกลับไปสมัยที่เราเรียนหนังสือ ตำราประถมศึกษา ตำรามัธยมศึกษา เรื่องราวทางการเมืองที่เดี่ยวกับมิติของคนธรรมดา การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนธรรมดามันน้อยมาก เพราะฉะนั้นอันนี้มันก็คือความสำคัญ เอามาแสดงเพื่อให้เราได้ศึกษาเรียนรู้ และถ้าเป็นไปได้นำไปแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีต”

พิพิธภันฑ์สามัญชน

สิ่งของเหล่านี้สะท้อนให้เราเห็นอะไรของการเมืองในสังคมไทยที่ผ่านมา?

“อันหนึ่งที่สำคัญมาก ก็คือเรื่องของการลอยนวลพ้นผิด เสื้อที่จ่านิวใส่ในวันที่เขาถูกทำร้ายร่างกาย (วัตถุพยานที่นำมาจัดแสดง) เวลาก็ผ่านไปหลายเดือนแล้ว เข้าใจว่าถูกทำร้ายช่วงเดือนมิถุนายน ตอนนี้จะธันวาคมอยู่แล้ว ยังหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นเสื้อตัวนี้ก็เป็นหลักฐานอย่างชัดเจนว่า ในสังคมไทย ในการเมืองไทย เมื่อมีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น โดยเฉพาะเมื่อประชาชนเป็นเหยื่อของความรุนแรง ไอ้สิ่งที่เรียกว่าการลอยนวลพ้นผิดก็ยังอยู่ ยังไม่ได้หายไปไหนจากสังคมไทย”

“การมานิทรรศการ เราจะเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ในการจำกัดคนเห็นต่าง อย่างเช่น ในนิทรรศการนี้ มีการนำ พริก กระเทียม มาจัดแสดง เคยมีนักกิจกรรมเอาพริกกระเทียมไปแขวนไว้ที่ทำเนียบ ถูกดำเนินคดี กลายเป็นว่า พริก กระเทียม กลายเป็นของกลางในคดีอาญา แบบงงๆ มันก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมมันกลายเป็นเครื่องมือหลัก ที่ผู้มีอำนาจรัฐ ใช้ในการจัดการกับคนเห็นต่าง"

"วัตถุพยานต่างๆ ที่อยู่ในงานนิทรรศการ Never Again หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน ก็เป็นตัวที่บ่งชี้เลยว่า กระบวนการยุติธรรม ได้ถูกนำมาใช้จัดการกับคนเห็นต่าง"


สิ่งของที่คิดว่าทรงพลังที่สุด คืออะไร?

“เสื้อของจ่านิว กับอีกอันคือ หมวกของสุรชัย แซ่ด่าน ซึ่งเป็นเรื่องของการหายตัวไปของคนๆ หนึ่ง โดยไม่รู้ชะตากรรมว่า ตอนนี้ไปที่ไหนแล้ว มันคือหลักฐานความรุนแรงและการลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย มันหดหู่ แล้วก็เศร้า ที่เรายังไปไม่พ้นวงจรนี้เสียที"

พิพิธภัณฑ์สามัญชน สุรชัย แซ่ด่าน คอมมิวนิสต์
  • หมวกของสุรชัย แซ่ด่าน

คิดว่าการจัดทำนิทรรศการแบบนี้ ถ้ามีเรื่อยๆ จะส่งผลอะไรกับสังคมไหม?

“ผมคิดว่า เขาจะได้เห็นว่าตัวเขาเองมีพลัง มาดูเสื้อ มาดูข้อความในเสื้อหลายๆ ตัว เหล่านี้ มันไม่ได้มีแค่เรื่องการเมือง มันมีเรื่องสิ่งแวดล้อม มันมีอะไรหลายๆ เรื่อง แล้วมันก็จะทำให้เห็นว่า คนธรรมดาก็สามารถลุกขึ้นมาพูดได้ อย่างของที่เราใช้ในชีวิตประจำวันอย่างแซนด์วิช ในจังหวะหนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่ง มันถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ที่มีพลัง ที่ผู้มีอำนาจต้องมาไล่แย่งแซนด์วิชจากมือคนที่ทำกิจกรรมเคลื่อนไหว มันก็สื่อว่า เรามีพลัง ถ้ามาเดินงานนี้ เพียงแต่ว่า เราไม่รู้ว่า เรามีพลัง”

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ Never Again หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน ได้ถึงวันที่ 23 พ.ย. 2562 ภายในงานมีการจัดแสดงสิ่งของที่เป็นหลักฐานของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการต่อต้านขัดขืนไม่ยอมรับอำนาจอันไม่ชอบธรรม เปิดให้ชมตั้งแต่ เวลา 16.00 - 22.00 น. (ร้านหยุดวันจันทร์) สถานที่ WTF Gallery and Café ซอยสุขุมวิท 51