ไม่พบผลการค้นหา
สำรวจทางเท้าและทางข้าม บริเวณสถานีรถไฟใต้ดินวัดมังกร นำร่องใน กทม. หลังเปิดให้บริการ เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้ได้มาตรฐานสากลและลดการเกิดอุบัติเหตุ พร้อมขยายไปเขตอื่นๆ

กทม. ร่วมกับ มูลนิธิบลูมเบิร์ก องค์การอนามัยโลก และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่ติดตามการสำรวจถนนปลอดภัยในเมืองใหญ่ บริเวณถนนเจริญกรุง ทางเข้าสถานีรถไฟใต้ดินสถานีวัดมังกร ตั้งแต่แยกไมตรีจิตต์ถึงแยกเสือป่า เพื่อสำรวจความปลอดภัยของทางเท้า พื้นที่ทางเท้าและทางข้ามต่างๆ โดยนายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร รองประธานแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัดรศ.ดร.เกษม ชูจารุกุล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการศูนย์ความเป็นเลิศ ThaiRAP

รศ.ดร.เกษม กล่าวว่า อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ หากถนนดีและมีมาตรฐาน จะช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุ ปัจจุบันถนนจะเน้นให้ความสำคัญกับคนขับรถยนต์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องคำนึงผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์และคนใช้ทางเท้าด้วย ซึ่งถนนเยาวราชถือเป็นเส้นทางที่มีกลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มเปราะบางนี้จำนวนมาก โดยในประเทศไทยเริ่มนำเอาระบบ IRAP หรือการวัดเราติ้งมาตรฐานถนน 5 ดาว มาใช้เมื่อ 5 ปีผ่านมา ถ้าพัฒนาปรับปรุงได้เพิ่มขึ้นเพียง 1 ระดับ จะช่วยลดอุบัติเหตุความสูญเสียลงได้ครึ่งหนึ่ง ถือเป็นมาตรการที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน

เป้าหมายประเทศไทยมุ่งส่งเสริมให้เกิดการเดินทางอย่างน้อย 75 เปอร์เซ็นต์ บนถนน 3 ดาวขึ้นไป สำหรับทุกกลุ่มผู้ใช้ ภายในปี 2030 ใช้งบลงทุนต่อปี 0.1 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ต่อปี จะช่วยลด จำนวนผู้เสียชีวิตที่ลงได้ถึงปีละ 8,930 คนและลดผู้เสียชีวิตและบาดจ็บสหัสที่ลดลงได้ 1,964,518 คน ภายในช่วงเวลา 20 ปี ส่งผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ 6,500 พันล้านบาท ปัจจุบัน ถนนไทยอิงมาตรฐานสำหรับรถยนต์กว่า 40 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในระดับ 1-2 ดาว เท่านั้น

รศ.ดร.เกษม กล่าวว่า ปัญหาถนนเยาวราชโดยเฉพาะเวลากลางคืน จะมีคนเดินเท้าปะปนกับรถบนถนน แนวทางแก้ไขสามารถทำได้โดยการตั้งแผงกั้นแบ่งเขต รวมถึงควบคุมความเร็วในการขับขี่ ขณะเดียวกันปัญหาแผงค้าที่ล้ำเข้ามาในทางเดินเท้านั้น อาศัยการจัดระเบียบพื้นที่ค้าขายให้เป็นสัดส่วน และเหลือพื้นที่สำหรับเดินและใช้ทางเท้าได้สะดวก ไม่ลงไปเดินบนท้องถนน เป็นวิธีการที่ง่ายและไม่จำเป็นต้องลงทุนสูง ช่วยยกระดับมาตรฐานถนนและความปลอดภัยได้

นายสกลธี กล่าวว่า กทม. ร่วมกับภาคีเครือข่าย นำร่องพัฒนาถนนและทางเท้าเส้นเจริญกรุง ย่านเยาวราช ให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถและประชาชนคนเดินเท้า เนื่องจากเป็นจุดที่มีการเดินทางสัญจรหนาแน่น สถิติในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพบว่าบริเวณนี้มีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่า 100 ราย และเสียชีวิต 2 ราย ซึ่งจากการสำรวจกายภาพถนน ตั้งแต่ช่วงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีวัดมังกรถึงแยกหมอมี พบว่ามีการปรับปรุงแก้ไขแล้วหลายด้าน ทั้งการทำทางลาดสำหรับขึ้นลงทางเท้า ขีดสีตีเส้นจราจร ซ่อมแซมป้ายบอกทางให้ชัดเจน และติดตั้งสัญญาณไฟทางข้าม รวมถึงรักษาปรับปรุงถนนทางเท้าให้เรียบ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ย้ายสิ่งกีดขวาง อาทิ ตู้ไฟ หัวดับเพลิง ไปยังจุดที่เหมาะสม ขณะเดียวกันเขตผู้รับผิดชอบ ได้เข้ามาทำความเข้าใจกับผู้ค้า โดยหลังวันที่ 15 ต.ค. นี้ จะยกเลิกการผ่อนผันค้าขายบนทางเท้า โดยพิจารณาให้ย้ายไปขายในจุดที่เหมาะสมแทน เพื่อปรับปรุงกายภาพภูมิทัศน์ให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้แก้ปัญหาการจราจรบริเวณแยกหมอมี ซึ่งเป็นจุดคับขันและรวมแยกหลายช่องทาง ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวมีเป้าหมายยกมาตรฐานถนนสู่ระดับ 3 ดาว และนำร่องไปยังถนนเส้นอื่นต่อไป

นพ.อนุชา กล่าวว่า การดำเนินงานในพื้นที่ถนนเจริญกรุง ย่านเยาวราช ถือเป็นต้นแบบของการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนในเขตเมือง ซึ่งหวังว่าจะกลายเป็นโมเดลนำร่องไปยังเขตพื้นที่อื่นๆ ครอบคลุมกรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้ กทม. ได้มีการตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร เพื่อประชุมติดตามการดำเนินงาน ด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทุก 2 เดือน ซึ่งผลความสำเร็จจะสามารถขยายไปยังทุกจังหวัดทั่วเทศได้ในอนาคต ขณะเดียวกันความปลอดภัยที่เพิ่มมากขึ้น ก็จะช่วยลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุลง ซึ่งจะทำให้หน่วยงานด้านการป้องกันอุบัติเหตุ อาทิ บริษัท กลางขนส่ง จำกัด บริษัทประกันภัยเอกชน กองทุนเลขสวย รวมถึง สสส. มีงบประมาณไปสนับสนุน โครงการพัฒนาปรับปรุงถนนและทางเท้าได้มากขึ้น


สกลธี