ไม่พบผลการค้นหา
โฆษก ศบศ.เผยประชุมนัดแรกเน้นมาตรการเร่งด่วน 4 ด้าน เพิ่มสภาพคล่องเอสเอ็มอี-ขยายโครงการ 'เราเที่ยวด้วยกัน' สำหรับนิติบุคคล-จ้างงานบัณฑิตจบใหม่-กระตุ้นใช้จ่าย ย้ำไม่มีแจก แต่เน้นร่วมจ่าย

ดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) ปฏิบัติหน้าที่โฆษกคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. เปิดเผยว่า การประชุม ศบศ. นัดแรกในวันที่ 19 ส.ค. 2563 ที่ประชุมได้เห็นชอบใน 4 เรื่องหลัก ได้แก่

1.ด้านการท่องเที่ยว ด้วยการปรับปรุงโครงการเราเที่ยวด้วยกัน การดึงภาคเอกชนและบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาร่วมโครงการ

2.ด้านการเสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอี ซึ่งได้มีมติผ่าน ครม.เมื่อ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา

3.ด้านการจ้างงาน จะเน้นสร้างงานสำหรับบัณฑิตจบใหม่ ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งตามข้อมูลที่มีอยู่แต่ละปีจะมีบัณฑิตจบใหม่ปีละประมาณกว่า 4 แสนคน

4.ด้านการกระตุ้นการใช้จ่าย จะเป็นโครงการในลักษณะร่วมจ่าย (Co-pay) ซึ่งตอนนี้ให้กระทรวงการคลัง กระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปคิดมาตรการส่งมาอีกที 

โดยหลังจากวันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ จะต้องกลับไปทำรายละเอียดมาตรการแล้วนำกลับเข้ามาที่ประชุม ศบศ. พิจารณาอนุมัติในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า

ประชุม เศรษฐกิจ นัดแรก
  • ดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.)

"โครงการเร่งด่วนคือการสร้างงาน ซึ่งเย็นวันนี้ก็จะมีประชุมคณะทำงาน และคาดว่าจะนำมาตรการสร้างงานสำหรับบัณฑิตจบใหม่ ซึ่งเป็นความหวังของครอบครัวเข้าถึงตลาดแรงงาน" ดนุชา กล่าว

ขณะที่ผู้สื่อข่าวสอบถาม เหตุที่เรื่องเร่งด่วนคือการสร้างงานบัณฑิตจบใหม่ เพราะขณะนี้ในสังคมออกมาชุมนุมและตั้งคำถามเรื่องการบริหารประเทศบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลหรือไม่ ดนุชา ตอบว่า ตนจะไม่ขอออกความเห็นเรื่องนี้ และยืนยันว่าไม่ใช่เหตุผลนั้นแน่นอน แต่ที่เน้นการสร้างงานสำหรับบัณฑิตจบใหม่เพราะคนกลุ่มนี้เป็นกำลังสำคัญเป็นความหวังของครอบครัวที่เราต้องทำให้เขามีงานทำ ส่วนกลุ่มคนตกงานและเสี่ยงจะตกงาน จะเข้าไปดูแล

ตั้งเป้าหมาย 'จีดีพี' ปีนี้ ติดลบน้อยกว่า 7.5%

สมิทธิ์ พนมยงค์ โฆษก ศบศ. เปิดเผยว่า การประชุมวันนี้คือเรื่องการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) พร้อมกับตั้ง 2 คณะกรรมการ ประกอบด้วย คณะกรรมการพิจารณามาตรการเพื่อบรรเทาช่วยเหลือความเดือนร้อนของประชาชน ซึ่งในคณะกรรมการชุดนี้จะมี 3 คณะอนุกรรมการ ได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน มีประธานสมาคมธนาคารไทย หรือผู้แทน เป็นประธาน 2) คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจระยะยาว มีไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธาน และ 3) คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขา มีทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. เป็นปธ. ส่วนอีกชุดคือคณะกรรมการขับเคลื่อนติดตามการดำเนินการ ที่มีไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธาน 

เรื่องต่อมาของการประชุมวันนี้ คือการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและผลกระทบ ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบการแถลงภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2/2563 จีดีพีติดลบ 12.2% และคาดว่าทั้งปีติดลบ 7.5% ดังนั้น ศบศ.จึงมีเป้าหมายว่า จะทำให้จีดีพี ณ สิ้นปีนี้ ติดลบน้อยลงกว่านี้

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าและข้อเสนอจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีผู้ใช้สิทธิ 5.5 แสนคืน จากทั้งโครงการมีจำนวน 5 ล้านคืน ดังนั้น จึงจะมีการขยายขอบเขตการรับสิทธิจากเดิมให้บุคคลธรรมดา เพิ่มเติมให้นิติบุคคลและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงขยายสิทธิจาก 5 คืน/คน เป็น 10 คืน/คน ค่าตั๋วเครื่องบินจากเดิมไม่เกิน 1,000 บาทต่อคน เป็นไม่เกิน 2,000 บาทต่อคน 

ประชุม เศรษฐกิจ นัดแรก
  • สมิทธิ์ พนมยงค์ โฆษก ศบศ.

"เป้าหมายที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เน้นย้ำในการประชุมวันนี้คือ เน้นการจ้างงาน การทำให้ภาคเศรษฐกิจจริงอยู่รอด และการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ" สมิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ สมิทธิ์ พนมยงค์ เข้ามารับหน้าที่โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ในวันนี้เป็นวันแรก โดยเจ้าตัวระบุว่า เข้ามาเนื่องจากสุพัฒนพงษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ให้เข้ามาช่วยงาน อย่างไรก็ตาม ก็จะทำหน้าที่ในภาคเอกชนอยู่ 

ข่าวทีี่เกี่ยวข้อง: