ไม่พบผลการค้นหา
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ชี้แจงพร้อมอธิบาย กระบวนการตรวจสอบและตีพิมพ์หนังสือ 'ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี' หลังนักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อ้าง “กุเรื่อง” ขึ้นมา

วันที่ 19 ธ.ค. สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ชี้เเจงกรณี ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวหาว่า สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันตีพิมพ์ผลงานที่ “กุเรื่อง” ขึ้นมา ซึ่งหมายถึงหนังสือ 'ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี'

ฟ้าเดียวกัน ระบุ 3 ข้อดังนี้

1. ไชยันต์ “มโน” ว่าหนังสือเท่ากับวิทยานิพนธ์

ตามที่ไชยันต์ ไชยพร ได้เผยแพร่เอกสารกล่าวหาสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันว่าได้ตีพิมพ์หนังสือขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี: การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500 โดยไชยันต์ “มโน” ว่าหนังสือเล่มดังกล่าวเท่ากับหรือเหมือนกับวิทยานิพนธ์ “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552) ซึ่งไชยันต์โจมตีว่ามีการอ้างอิงเอกสารที่ผิดพลาดและสมควรแล้วที่จะถูกสั่งห้ามเผยแพร่โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กองบรรณาธิการขอเรียนชี้แจงว่า ก่อนที่จะตีพิมพ์หนังสือเล่มดังกล่าวนั้น เราได้มีการตรวจสอบข้อผิดพลาดในจุดที่ไชยันต์กล่าวอ้าง (เรื่องผู้สำเร็จราชการนั่งเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรีจากวิทยานิพนธ์หน้า 105) และได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว (ดูหนังสือขุนศึกฯ หน้า 103) ในคำนำของสำนักพิมพ์เองก็ได้ชี้แจงแล้วว่าหนังสือเล่มนี้ “ณัฐพลเรียบเรียงพัฒนาให้สมบูรณ์ขึ้นจากวิทยานิพนธ์เล่มดังกล่าว” (ดูหน้า [11]) อีกทั้งในคำนำผู้เขียนเอง ณัฐพลก็ได้ชี้แจงว่า “ผู้เขียนได้ปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ ให้มีความถูกต้องตามข้อท้วงติงของหลายท่าน” (ดูหน้า [31])

การกล่าวหาของไชยันต์จึงเป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอยของนักวิชาการขี้เกียจไร้ความรับผิดชอบ แม้กระทั่งจะเปิดหนังสือดูว่าใช่อย่างที่ตนเองกล่าวหาหรือไม่ก็ยังไม่ทำ ไชยันต์จึงไม่รู้ว่าหนังสือเล่มดังกล่าว “ไม่ใช่การเอาวิทยานิพนธ์มาตีพิมพ์ทั้งดุ้น” แต่ได้มีการพัฒนาปรับปรุงแก้ไขหลายเรื่อง รวมถึงการอ้างอิงที่ไชยันต์กล่าวหาด้วย

2. ยุทธวิธีของไชยันต์ ไชยพร

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไชยันต์ ไชยพรกลับไม่ขี้เกียจเลยในการจ้องจับผิดโจมตีวิทยานิพนธ์ “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” ของณัฐพล ใจจริงที่จบการศึกษาไปในปีการศึกษา 2552 ไชยันต์ใช้ให้ลูกศิษย์เช็คการอ้างอิงของวิทยานิพนธ์นี้ทั้งเล่ม แล้วทำเอกสารเสนอให้จุฬาฯ ตั้งคณะกรรมการสอบถามณัฐพล โดยณัฐพลได้ทำการชี้แจงต่อคณะกรรมการไปแล้ว แต่จุฬาฯ ก็ยังมีคำสั่งห้ามเผยแพร่วิทยานิพนธ์เล่มนี้ทั้งที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณะไปเป็นเวลาถึง 10 ปีแล้ว (ดูการวิพากษ์จุฬาฯ เซ็นเซอร์ความรู้ในคำนำเสนอของธงชัย หน้า [25-28]) https://sameskybooks.net/index.php/product/9786167667881/

ไชยันต์คิดว่าตนสามารถหยุดผลงานของณัฐพลเล่มนี้ได้แล้วด้วยวิธีจับผิดการอ้างอิงดังกล่าว แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันมองเห็นคุณค่าของงานชิ้นนี้ (อ่านเกี่ยวกับคุณค่าของงานชิ้นนี้ได้ในคำนำเสนอของธงชัย หน้า [14-25]) และคิดว่าข้อผิดพลาดดังกล่าวเป็นสิ่งที่ปรับปรุงแก้ไขได้โดยหาได้มีผลกระทบต่อข้อเสนอหลักแต่อย่างใด เพราะเป็นการศึกษาเรื่องการเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐฯ จึงติดต่อขอต้นฉบับจากณัฐพลและทำงานร่วมกันเพื่อปรับปรุงและพัฒนาจนกระทั่งกลายเป็นหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรีฯ

เมื่อไชยันต์ทราบข่าวว่าวิทยานิพนธ์เล่มดังกล่าวที่ตนทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อหยุดยั้งกำลังจะถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือ เขาก็ใช้ยุทธวิธีเดิมๆ และความขยันขันแข็งแบบเดิมๆ กล่าวคือ ถ่ายเอกสารฉบับเดียวกับที่เสนอให้จุฬาฯ สอบถามณัฐพลซึ่งณัฐพลได้อธิบายต่อกรรมการจบสิ้นไปแล้ว เขายังคงเร่แจกจ่ายเอกสารเดิมนั้นให้กับนักวิชาการหลายคน แม้กระทั่งพรรคการเมืองและนักการเมืองบางคนยังได้รับเอกสารชุดดังกล่าวของไชยันต์ ไชยพร ดังที่ทราบกันอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้เกี่ยวข้อง

กระนั้นก็ตาม สิ่งที่ไชยันต์ไม่เคยขยันทำ (หรือไร้ความสามารถที่จะทำ?) ก็คือการล้มล้างข้อวิพากษ์ข้อเสนอของณัฐพลที่ว่า “สถาบันกษัตริย์มิได้อยู่เหนือการเมือง ทว่าเป็นผู้เล่นสำคัญในการเมืองมาตั้งแต่ทศวรรษ 2490” จึงขอยกตัวอย่างจากสิ่งที่ไชยันต์เองยกมาโจมตีงานชิ้นนี้ของณัฐพล คือเรื่องบทบาทของกรมขุนชัยนาทนเรนทรในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนในหลวงรัชกาลที่ 9

ไชยันต์โจมตีว่าณัฐพล “กุเรื่อง” ผู้สำเร็จราชการเข้าประทับในการประชุมคณะรัฐมนตรีขึ้น (ในวิทยานิพนธ์) ซึ่งณัฐพลยอมรับว่าเขาเข้าใจผิดในเรื่องนี้และได้แก้ไขด้วยการตัดข้อความนี้ออกแล้ว (ในหนังสือขุนศึกฯ จึงไม่ปรากฏข้อความดังกล่าวอีก) อย่างไรก็ตาม ประเด็นบทบาทในการแทรกแซงการเมืองของกรมขุนชัยนาทฯ ในฐานะผู้สำเร็จราชการซึ่งเป็นตัวแทนของสถาบันกษัตริย์ก็มิได้ลดน้อยถอยลงเพียงแค่เพราะไม่มีประโยคดังกล่าว

ในเมื่อไชยันต์ขยันตรวจสอบเอกสารอ้างอิงในงานณัฐพลขนาดนั้น เขาสามารถหาหลักฐานอ้างอิงอื่นๆ มาหักล้างได้หรือไม่ว่ากรมขุนชัยนาทฯ มิได้มีบทบาทในการลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2490 ของคณะรัฐประหาร (ดังที่ณัฐพลชี้ ในหน้า 60, 63, 266) ซึ่งการลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญแต่เพียงผู้เดียวนั้นขัดต่อความเป็นองค์คณะในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้สำเร็จราชการฯ เพราะพระยามานวราชเสวี หนึ่งในสองของคณะผู้สำเร็จราชการฯ ไม่ยินยอมลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากการรัฐประหารนั้นด้วย (ค้นข้อมูลนี้ได้จากราชกิจจานุเบกษาฉบับที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2490 ได้ไม่ยาก) การลงนามในรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารนั้นเป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่ หรือกรณีที่กรมขุนชัยนาทฯ ไม่อนุญาตให้ชันสูตรพลิกศพในหลวงรัชกาลที่ 8 (หน้า 38) จนส่งผลให้มีการใส่ร้ายปรีดี พนมยงค์ ในเวลาต่อมา

ดังนั้น ยุทธวิธีขยันจับผิดเรื่องการอ้างอิง แต่หลีกเลี่ยงไม่โต้แย้งในสาระสำคัญของหนังสือ นอกจากไชยันต์ไม่สามารถหักล้างข้อเสนอและคำอธิบายของณัฐพลได้แล้ว ในด้านกลับยังเป็นการลดเกียรติภูมิของตัวเขาเองในฐานะนักวิชาการระดับ “ศ.ดร.” ที่ควรจะผลิตองค์ความรู้หรือคำอธิบายที่เป็นหลักเป็นฐานขึ้นมาหักล้างข้อถกเถียงในภาพรวม แทนที่จะทำหน้าที่เป็นเพียง “ตำรวจความคิด” ที่ทำได้แค่จับผิดแบบกระจอกๆ (จับผิดแต่ดันไม่เจอความผิด) เพื่อหวังดิสเครดิตแค่นั้น

3. ไชยันต์ ไชยพร กลัวอะไร เป้าหมายที่แท้จริงของเขาคืออะไร

แต่ละปีมีวิทยานิพนธ์มากมายถูกผลิตขึ้น เหตุใดไชยันต์จึงสนใจตรวจสอบวิทยานิพนธ์เล่มดังกล่าวของณัฐพลเป็นพิเศษและพยายามหยุดยั้งทุกวิถีทางไม่ให้มีการเผยแพร่ กระทั่งเมื่อเผยแพร่แล้วก็ยังพยายามดิสเครดิตโดยไม่ตรวจสอบว่าหนังสือมีแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ เหล่านั้นทั้งหมดแล้ว ผู้อ่านที่ได้อ่านหนังสือขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรีฯ แล้ว พอจะนึกคำตอบได้ไหมว่าไชยันต์ ไชยพร มีเหตุจูงใจอะไร เขากลัว “ความจริง” เรื่องอะไรจะถูกเปิดเผยในหนังสือขุนศึกฯ แท้จริงแล้วเขาพยายามหยุดยั้งอะไรกันแน่

เขาทำไปเพราะขยันมากจริงๆ เพียงเพราะต้องการหยุด “ความลวง” ดังที่เขากล่าวอ้างจริงๆ หรือ?

ผู้อ่านคิดว่าอะไรอย่างไรกันแน่คือ “ความลวง” ระหว่างข้อเสนอสำคัญของณัฐพลเรื่องการแทรกแซงการเมืองของสถาบันกษัตริย์ในช่วงเวลานั้น หรือยุทธวิธีสร้างเป้าหลอกของไชยันต์ ไชยพร ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อพยายามลดทอนความน่าเชื่อถือของงานณัฐพล?

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ระบุหมายเหตุว่า ดูฉบับที่ทำให้ต้องออกมาชี้แจง จากเวทิน ชาติกุล Wathin Chatkoon ผอ.สถาบันทิศทางไทย เมื่อวานนี้ เวลา 09:34 น.

ภาพปกจากแฟนเพจเฟซบุ๊ก ฟ้าเดียวกัน