ไม่พบผลการค้นหา
ถอดบทเรียนกับ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ หลังเกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ผู้ชุมนุมฝ่ายขวาจัด-ผู้สนับสนุน 'โดนัล ทรัมป์' บุกสภาคองเกรสหวังล้มเลือกตั้ง สุดท้ายฝันสลาย เพราะเอกชน สื่อมวลชน นักการเมือง และกองทัพ เลือกข้างประชาธิปไตย

เหตุการณ์จลาจลซึ่งเกิดขึ้นที่สภาคองเกรส กรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 ถือเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกต่างจับตามอง เพราะเป็นครั้งแรกที่เกิดการประท้วงโดยมีเป้าหมายเพื่อล้มผลการเลือกตั้งและขัดขวางการรับรองผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่อย่าง โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต โดยผู้ที่ประกาศนัดชุมนุมในครั้งนี้คือ โดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีผู้พ่ายแพ้การเลือกตั้ง

แม้ความวุ่นวายจะยุติลงในระยะเวลาไม่นานนัก และการรับรองผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจะดำเนินต่อไปจนเสร็จสิ้น แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ทิ้งคำถามเอาไว้มากมาย

'วอยซ์ออนไลน์' ชวน ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยคำตอบเพราะเหตุใดประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นต้นแบบประเทศประชาธิปไตยจึงเดินมาถึงการก่อจลาจลเพื่อทำลายการเลือกตั้ง และอะไรทำให้ความฝันของชายผู้เชื่อว่าตัวเองยิ่งใหญ่ถึงสลายลง

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ครองอำนาจแบบอนุรักษนิยม

ศ.ดร.ธเนศ เริ่มต้นว่า การเมืองของสหรัฐอเมริกามีพัฒนาการมาถึงจุดที่มีทั้งจุดอ่อน และจุดแข็ง แต่หลายปีที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ เราไม่ได้ยินถึงจุดอ่อนมากนัก เพราะบรรยากาศของการเมืองระหว่างประเทศ และระบบการเมืองของประเทศอื่นยังมองหาความเป็นประชาธิปไตยได้ยาก แต่ในยุคหลังไม่ว่าจะในประเทศเล็ก ประเทศน้อย ต่างก็มีกระบวนการที่เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเกือบทุกประเทศแล้ว ต่างกันก็เพียงระดับการมีส่วนร่วมเท่านั้นว่าจะมากหรือน้อย

ขณะเดียวกันจุดอ่อนของสหรัฐอเมริกาก็เริ่มแสดงออกมา และเป็นการเผยให้เห็นจุดอ่อนทั่วไปของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีมานานแล้วคือ การที่นักการเมือง พรรคการเมือง โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจมากอย่างประธานาธิบดี ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่มีส่วนสร้างผลสะเทือนทางการเมืองในด้านลบได้มาก

ในกรณีของ โดนัล ทรัมป์ สามารถขึ้นมาครองอำนาจทางการเมืองได้โดยการใช้วิธีการแบบโบราณคือ การใช้การเหยียดหยามทางเชื้อชาติ กำจัดภาคส่วนอื่นที่ไม่เข้ากับความเป็นอเมริกันออกไป วิธีการที่เขาใช้คล้ายกับวิธีการที่เคยใช้ในยุคทาสของอเมริกา ฉะนั้นในความรู้สึกของผู้คนจำนวนหนึ่งจึงกลับไปเชิดชูความเป็นคนผิวขาว ความเป็นอเมริกันแท้ดั้งเดิม โดยเฉพาะผู้คนที่เป็นฐานเสียงของทรัมป์ในพื้นที่โซนภาคตะวันตก และภาคใต้ ซึ่งเป็นสังคมที่มีความเป็นอนุรักษนิยม ล้าหลัง และเวลานี้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะความสุดขั้วของสหรัฐอเมริกา

เมื่อทรัมป์ ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี นโยบาย ข้อกำหนดต่างๆ ที่เขาเสนอไปได้เข้าไปตอบสนองความต้องการและความรู้สึกของกลุ่มขวาสุดขั้ว ทั้งที่ผ่านมาประเด็นเรื่องการกีดกันคนผิวดำ หรือคนต่างชาติ ไม่มีรัฐบาลสมัยไหนที่กล้าทำออกมาชัดขนาดนี้ เพราะมันฝืนต่อค่านิยมของประเทศ มีเพียงทรัมป์คนเดียวที่ทำได้ และเมื่อเขาพบว่า ยิ่งดำเนินนโยบาย หรือทำอะไรในลักษณะนี้มากขึ้นเท่าไหร่ คะแนนนิยมต่อตัวเขายิ่งเพิ่มมากขึ้น ทรัมป์จึงเชื่อว่า เดินมาถูกทางแล้ว

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ.jpg

ขณะเดียวกันตลอด 4 ปี ภายใต้ทรัมป์ เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาก็ดีขึ้น แม้จะทะเลาะกับสหภาพยุโรป และจีน สหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้เสียหาย เพราะเป็นประเทศที่อยู่ไกลจากภูมิศาสตร์ของความขัดแย้ง ในแง่ของเศรษฐกิจคนระดับล่างก็ชอบทรัมป์ ที่กลับมารื้อฟื้นกิจการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานฟอสซิล

“ยิ่งทรัมป์ทำมากเท่าไหร่ คะแนนตอบรับยิ่งดีขึ้น แกถึงเชื่อไงว่า แกมาถูกทางแล้ว พวกสมาชิกพรรคริพับลิกัน ทั้งสภาผู้แทนราษฎร ทั้งวุฒิสภา 4 ปี มานี้หงอหมดเลย เพราะไม่ใครมีใครมีบารมีขนาดที่ชาวบ้านรู้สึกยอมตายแทนได้ ยอมเป็นทาสได้ พูดง่ายๆ อเมริกันไม่เคยมีชาวบ้านที่ซูฮกนักการเมือง แบบที่เกิดขึ้นกับทรัมป์... โดยสรุปแล้วแกไม่คิดว่าแกจะแพ้โจ ไบเดน ได้ในระดับนี้” ธเนศ กล่าว


ปฏิเสธความพ่ายแพ้แบบชายที่คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่

หลังจากผลการนับคะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีเริ่มชัดเจน ทรัมป์ปฏิเสธความพ่ายแพ้ของตัวเองโดยการยื่นฟ้องต่อศาลในทุกรัฐที่เขาพ่ายแพ้ แต่ศาลทุกศาลที่ทรัมป์ยื่นฟ้องก็ปัดตกเรื่องนี้ทั้งหมด เพราะไม่มีหลักฐานว่ามีการโกงการเลือกตั้ง แม้เจ้าหน้าที่ที่จัดการเลือกตั้งของสหรัฐฯ จะทำการนับคะแนนใหม่ก็ยังไม่พบหลักฐานที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

“พอสถานการณ์มันเป็นแบบนี้ แกก็ใช้ไม้ตายสุดท้าย ระหว่างที่สภาคองเกรสประชุมร่วมวุฒิสภากับ สภาล่าง เพื่อที่จะรับรองผลคะแนนการเลือกตั้ง และหากการรับรองครั้งนี้โจ ไบเดน ก็จะเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีครบถ้วนเกือบจะ 100 % คือพูดง่ายๆ ว่าหลังจากนี้ทรัมป์จะบิดเบี้ยวอีกไม่ได้ แกรู้อยู่แล้วถ้าผ่านวันนี้ไปได้ก็จบ ไม่มีทางดิ้นได้อีกแล้ว แกก็เลยเริ่มปลุกระดม” ธเนศ กล่าว

ทรัมป์ เลือกตั้ง

นอกจากนี้หลายเดือนหลังจากการเลือกตั้งสิ้นสุดลง ทรัมป์เองก็ไม่ยอมให้โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ยังไม่ได้เข้าดำรงตำแหน่ง เข้าไปนั่งในทำเนียบขาว ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยมีมาของสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งก่อนการเลือกตั้ง เมื่อพ่ายแพ้ก็จะต้องทำการส่งมอบงาน โดยการเอางานทุกอย่างรวมทั้งเอกสารความลับต่างๆ มาให้ประธานาธิบดีคนใหม่ได้ดู และตลอด 200 ปี ไม่เคยมีเรื่องในลักษณะเกิดขึ้น

ขณะเดียวกันก่อนหน้าการประชุมสภาคองเกรส ทรัมป์ พยายามบอกรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ ซึ่งจะเป็นประธานในที่ประชุม ให้ยับยั้งการรับรองประธานาธิบดีคนใหม่ไว้ให้ได้ แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะไมค์ เพนซ์ ไม่เห็นด้วย ทรัมป์จึงทวิตเรียกกลุ่มขวาจัดให้ออกมาชุมนุมที่วอชิงตันดีซี จนที่สุดไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้เกิดการบุกเข้าไปในรัฐสภา มีการเข้าไปทำลายห้องประธานสภา ซึ่งเป็นภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อเมริกา

“200 ปี มันไม่เคยมีอะไรแบบนี้นะ เป็นครั้งแรกที่อเมริกามีผู้ประท้วงคัดค้านการลงมติรับรองผลการเลือกตั้งที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าไม่มีการโกง เพราะถ้ามี ศาลในแต่ละมลรัฐก็สามารถจัดการได้แล้ว และผู้พิพากษาก็เป็นคนของทรัมป์ทั้งนั้น

"ทรัมป์ก็หวังว่าได้รับการช่วยเหลือ แต่ศาลสูงสุดก็ยังช่วยไม่ได้ เพราะไม่รู้จะเอามาตราไหนมาเล่น มันทำไม่ได้ และตอนนี้มันก็จบด้วยการที่ทรัมป์กลายเป็นผู้ก่อให้เกิดการจลาจล ความฝันของเขาก็ดับสิ้นลง และเป็นชัยชนะของประชาธิปไตย ไม่เพียงแค่อเมริกา แต่เป็นชัยชนะของประชาธิปไตยทั่วโลก”


เมื่อสหรัฐอเมริกาไม่ใช่ทรัมป์

ตลอดเวลา 4 ปีที่ทรัมป์ครองอำนาจนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาทำผิดหลักการประชาธิปไตย เพียงแต่ครั้งนี้เป็นครั้งที่รุนแรงที่สุด ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาทรัมป์พยายามเลี่ยงกฎหมาย เพราะนโยบายหลายเรื่องจะต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาเพื่อออกเป็นกฎหมาย เมื่อไม่สามารถผ่านได้ ทรัมป์ก็ใช้อำนาจประธานาธิบดีประกาศเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโก หรือเรื่องอื่นๆ

“การต่อสู้ระหว่างทรัมป์ กับฝ่ายเดโมแครต และฝ่ายที่ต้องการควบคุมทรัมป์ ก็คือการพิสูจน์ว่า ระบบประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาที่มีมา 200 กว่าปี ในทางหลักการ ทฤษฎี และในทางปฏิบัติ มันมั่งคงมากน้อยแค่ไหน และการที่ทรัมป์แพ้วันนี้ มันก็คือการบอกว่า สหรัฐอเมริกาไม่ใช่ทรัมป์ และสิ่งที่ทรัมป์ทำนั้นไม่ใช่จิตวิญญาณ และเจตนารมณ์ของประชาธิปไตยอเมริกัน” ธเนศ กล่าว

เขาบอกว่า การนำทรัมป์ออกจากอำนาจของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนั้น เป็นไปตามเส้นทาง และหลักการประชาธิปไตย พรรคเดโมแครตเองทำงานอย่างหนักเพื่อเปิดให้ประชาชนเห็นว่า การกระทำและแนวทางของทรัมป์ไม่ถูกต้อง แม้ฐานเสียงของทั้งสองพรรคการเมืองนี้จะใกล้เคียงกัน แต่สุดท้ายการตัดสินเรื่องราวทั้งหมดก็ต้องโยนกลับไปให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีผู้ออกมาใช้สิทธิมากเป็นประวัติศาสตร์ และเสียงที่มาช่วยตัดสินในครั้งนี้คือ กลุ่มอิสระของคนที่อยู่กลางๆ ที่ออกมาเบรกทรัมป์

“หลักการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสิน ยังคงเป็นหนทางสุดท้ายที่ใช้ในการรักษาประชาธิปไตย พ้นไปจากนี้คุณจะไปหวังพึ่งศาล หรือสถาบันอื่นๆ มันก็ไม่ใช่ที่พึ่งสุดท้าย เพราะที่พึ่งใหญ่ที่สุดคือประชาชน” ธเนศ กล่าว

นอกจากบทบาทของประชาชนอเมริกันที่ออกมาล้มทรัมป์ผ่านการเลือกตั้งแล้ว สิ่งที่เห็นได้ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาในยุคทรัมป์คือ การยืนหยัดในหลักการของกลุ่มข้าราชการ ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และข้าราชการประจำในทำเนียบขาว ในกระทรวง หน่วยงานต่างๆ หลายคนกล้าออกมาประท้วงและร้องเรียนการกระทำที่ไม่ถูกต้องของทรัมป์ แม้จะถูกไล่ออกก็ตาม ซึ่งนี่อาจจะเป็นบทเรียนให้กับข้าราชการในประเทศอื่น ที่จะต้องนำพาความถูกต้อง ไม่ใช่ทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจเท่านั้น

AFP - ทรัมป์ ถอดถอน

ร่วมกันหยุดยั้งการล้มกติกา

การเข้ายุติสถานการณ์บุกเข้าไปในรัฐสภาของกลุ่มขวาจัดนั้น ไม่ได้มีเพียงหน่วยงานภาครัฐ หรือกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิเท่านั้นที่เข้ามายุติสถานการณ์ แต่ยังมีการร่วมยุติสถานการณ์จากเอกชน อย่าง ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊กด้วย

“ในกรณีของทวิตเตอร์ก็ปิดกั้นการสื่อสารของทรัมป์ทันที ตัวอย่างนี้มันเห็นได้ชัดว่า บทบาทของเอกชนมีความสำคัญมากในการรักษาประชาธิปไตย จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ ตาสีตาสา ชาวไล่ชาวนา หรือนักศึกษาอย่างเดียวไม่ได้ มันไม่พอ เพราะถ้าเอกชนไม่ช่วยกันรักษาประชาธิปไตยมันก็ยาก ฉะนั้นพวกนายทุน นายธนาคาร นักธุรกิจใหญ่ๆ รวมทั้งสื่อมวลชน คุณต้องกล้าพูดความจริง และทำสิ่งที่ถูกต้อง”

ธเนศ กล่าวต่อว่า การเข้ายุติสถานการณ์การจลาจล อาจต้องยกเครดิตให้กับที่ประชุมร่วมของรัฐสภา เพราะแทนที่จะขวัญเสีย ยอมลงให้ทรัมป์ แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะหลังจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงพาตัวสมาชิกทั้งสองสภาไปซ่อนตัว น่าจะมีการพูดคุยกันระหว่างสมาชิกเสียงข้างมาก และเสียงข้างน้อยในสภา จนได้ตกลงกันว่า ครั้งนี้จะต้องยืนหยัด จะปล่อยให้ม็อบมาปกครองไม่ได้ จนไมค์ เพนซ์ ยกหูโทรศัพท์ติดต่อไปยังตึกเพนตากอน อาคารที่ทำการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา รวมทั้งติดต่อไปยังรัฐมนตรียุติธรรม เพื่อขอให้กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิเข้ามาระงับสถานการณ์ หลังจากควบคุมสถานการณ์ได้ ไมค์ เพนซ์ ออกมาประกาศชัดเจนว่า ความรุนแรงไม่อาจเอาชนะได้ ต้องสันติเท่านั้น

“สิ่งนี้ก็คือ ไมค์ เพนซ์ประกาศตัดเชือกทรัมป์แล้ว และจากนั้น ส.ว. ทั้งหมดที่เตรียมจะมาประท้วงในที่ประชุมสภาก็เงียบกันหมด ไม่มีใครออกมา เหลือเพียงแค่ ส.ส. อีก 4-5 คน ที่ยังพยายามคัดค้านการรับรองอยู่ แต่ระหว่างนั้นสื่อก็รายงานทำให้คนทั่วโลกเห็น และคนก็สะท้อนกลับไปที่ ส.ส. ของเขาว่า รับไม่ได้กับภาพที่เห็นว่า สหรัฐอเมริกากำลังตกต่ำขนาดนี้ ซึ่งที่สุดแล้วก็ทำให้นักการเมืองกลับมายึดหลักความถูกต้องชอบธรรม ไม่อย่างนั้นมันคงกลายเป็นการเมืองโลกที่ 3 แบบไทยไปแล้ว” ธเนศ กล่าว

ขณะเดียวกันสิ่งที่ช่วยค้ำยันประชาธิปไตยอเมริกาไว้ในอีกทางหนึ่งคือ ความเป็นมืออาชีพของกองทัพสหรัฐอเมริกา หลักการอย่างหนึ่งของกองทัพสหรัฐฯ ที่แน่นอน และชัดเจนมานานคือ อำนาจทางการทหารจะต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ฉะนั้นกองทัพจึงไม่มีโอกาสที่จะเข้ามาแทรกแซงฝ่ายการเมืองได้

“รูปแบบที่ว่า กองทัพเข้ามาแทรกแซงการเมืองพลเรือน เข้ามาจัดการทุกอย่าง เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำอย่างบ้านเรา ยิ่งพูดถึงการเข้ามายึดอำนาจนี่เลิกฝันเลย ไม่มีทาง เพราะกองทัพเขา กับกองทัพเรามันห่างกันแบบไม่เห็นเหว” ธเนศ กล่าวทิ้งทาย