ไม่พบผลการค้นหา
ภาคี #SAVEบางกลอย จี้ 3 หน่วยงานรัฐเร่งเยียวยากะเหรี่ยงบางกลอย จ.เพชรบุรี หลังพบชาวบ้าน 13 คนป่วยหนัก คาดเกิดจากภาวะขาดสารอาหาร ‘เฌอเอม-ชญาธนุส’ ชี้ เป็นความรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ มุ่งดันมรดกโลกแต่ทิ้งชีวิตคน ด้าน ‘วราวุธ’ รมว.ทรัพยากรฯ ย้ำแก้ปัญหาบางกลอยต่อเนื่อง เตรียมเดินหน้าชงแก่งกระจานขึ้นมรดกโลก 16 ก.ค.นี้

เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2564 ภาคี #SAVEบางกลอย ออกแถลงการณ์จี้ 3 หน่วยงานรัฐเร่งเยียวยาชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลังได้รับรายงานพบชาวบ้าน 13 คนอาการป่วยหนัก คาดเกิดจากภาวะขาดสารอาหารเนื่องจากไม่มีที่ดินทำกินและไม่สามารถหาของป่าบริโภคในครัวเรือนได้ ภายหลังถูกอพยพโยกย้ายชุมชนจากบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ตั้งแต่ปี 2539 อีกทั้งมีชาวบ้าน 27 คนถูกจับกุมดำเนินคดีด้วยข้อหาหนักเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา

แถลงการณ์ระบุว่า ภาคี #SAVEบางกลอย ได้ติดตามเรื่องราวการต่อสู้สู่เส้นทางกลับบ้านของชาวบางกลอยมาอย่างต่อเนื่อง และได้รับแจ้งข่าวล่าสุดจากชุมชนบ้านบางกลอยว่า ขณะนี้ชาวบ้านกำลังตกอยู่ในสภาวะเจ็บป่วยที่ยังไม่อาจสืบทราบสาเหตุ อย่างไรก็ตาม คาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาวะขาดแคลนอาหารอันเนื่องมาจากการไร้ที่ดินทำกินและขาดรายได้ ประกอบการกับถูกดำเนินคดี และการข่มขู่ไม่ให้ชาวบ้านสามารถเข้าไปในพื้นที่ป่าเพื่อเก็บหาของป่าประทังชีวิต โดยพบว่าอาการเจ็บป่วยของชาวบ้านทั้ง 13 คนมีหลากหลาย อาทิ ต้อกระจก ไมเกรน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ปวดท้อง มีลมในปอดมาก หอบ ไอ และโรคความดัน เป็นต้น อีกทั้งยังมีผู้ป่วยอีกเป็นจำนวนมากที่อาการค่อยๆ หนักขึ้น รวมถึงมารดาที่ไม่สามารถให้นมบุตรได้และทารกแรกเกิดที่พิการจนไม่สามารถบริโภคน้ำนมแม่ได้ตามปรกติ

บางกลอยบางกลอยบางกลอยบางกลอย

ภาคี #SAVEบางกลอย มีข้อเรียกร้องถึง 3 หน่วยงาน โดยให้กระทรวงสาธารณสุขจัดให้มีทีมแพทย์อาสาเข้าไปประเมินอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นของชาวบ้านในพื้นที่โดยเร่งด่วน และให้ความช่วยเหลือในการรักษาพยาบาลในกรณีชาวบ้านที่มีอาการรุนแรง ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ชาวบ้านโดยเร่งด่วน รวมทั้งให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีช่องทางให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารจากทรัพยากรธรรมชาติได้ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถมีอาหารรับประทานในครัวเรือนตามวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงอย่างเพียงพอตามปรกติ

“เรายืนยันว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะนี้ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยมิเพียงได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้และอาหารดังเช่นประชาชนในเมืองเท่านั้น แต่ยังได้รับผลกระทบจากอคติทางชาติพันธุ์และการบังคับใช้กฎหมายโดยไร้มนุษยธรรมจากภาครัฐด้วย เราไม่อาจปล่อยให้เพื่อนร่วมสังคมต้องถูกเลือกปฏิบัติและตกสำรวจจากกระบวนการเยียวยาทุกรูปแบบเช่นนี้ หากยังเชื่อมั่นว่าทุกเลือดเนื้อและชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ใดๆ ก็ล้วนมีคุณค่าความเป็นคนเท่ากัน” แถลงการณ์ระบุ

‘เฌอเอม’ ชญาธนุส ศรทัตต์ อดีตผู้เข้าประกวดมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2020 และสมาชิกภาคี #SAVEบางกลอย กล่าวว่า กรณีนี้เป็นความรับผิดชอบของอุทยานฯ เป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องเห็นชีวิตมนุษย์สำคัญกว่าเขตแดน ต้นไม้ ป่า เราช่วยกันอนุรักษ์ได้ สามารถใช้ได้ด้วย ตอนนี้ทรัพยากรถูกจำกัดไว้เพื่อคนกลุ่มเดียว เป็นความภูมิใจในการขึ้นมรดกโลก แต่ชาวบ้านกลับล้มป่วยไปที่ละคน ไม่สิทธิ์ใช้ประโยชน์จากป่า

“ตอนนี้มีคนจะตายจากการถูกบังคับไม่ให้ใช้ประโยชน์จากป่า ชีวิตคนมันเอากลับมาไม่ได้ ถ้าคุณไม่ให้เขากลับไป คุณก็ต้องให้อาหารที่กินได้เลยกับเขา ให้หยูกยากับเขา ชาวบ้านเขาไม่ได้อยากอยู่ตรงนี้ คุณอยากให้เขาอยู่ตรงนี้เอง ฉะนั้นเป็นความรับผิดชอบของอุทยานฯ โดยตรง จะเมินแล้วบอกว่าไม่เกี่ยวกับคุณไม่ได้ มันเป็นเรื่องโหดร้าย เราโอเคจริงๆ หรือที่จะให้พื้นที่นี้เป็นมรดกโลกบนชีวิตของคนเหล่านี้ สมมติว่าแก่งกระจานได้เป็นมรดกโลกโดยที่ตอนนี้คุณไม่เหลียวแลเขา วันหนึ่งเขาตายไป คุณจะยอมรับได้ไหมที่มรดกโลกของคุณมันแปดเปื้อนไปด้วยชีวิตคน ทั้งที่มรดกโลกที่อื่นมีทั้งคนกับป่าอยู่ด้วยกันก็ได้” เฌอเอมกล่าว

นอกจากนั้นผู้แทนภาคี #SAVEบางกลอย ยังย้ำว่า ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะผลักดันผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก แต่ผิดที่ออกมาบอกว่าชาวบ้านอยู่ดีกินดี เพราะไม่ได้แก้ปัญหาเลย ชาวบ้านไม่ไหวแล้ว นี่คือดีที่สุดแล้วที่เขาควรได้หรือ ตนเชื่อมั่นว่าคณะกรรมการมรดกโลกคงไม่เชื่อคำว่าดีที่สุดของรัฐมนตรีวราวุธ เขากังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด และตอนนี้เรากำลังล้ำเส้นเขาอย่างร้ายแรง

ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานเพิ่มเติมว่า วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงความคืบหน้าการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ชี้ว่ารัฐบาลเน้นแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการร่วมกันและเป็นขั้นตอน ที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรฯ ได้แก้ปัญหาชุมชนบ้านบางกลอยมาอย่างต่อเนื่อง และมีหน่วยงานของรัฐมากกว่า 20 หน่วยงาน ได้เข้าไปดำเนินโครงการต่างในพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 88 โครงการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ส่งเสริมสุขอนามัย รวมถึงวิธีชีวิตดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง รวมทั้งได้แก้ปัญหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบางกลอย โดยเวทีประชุมทางไกลของคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-31 ก.ค. นี้ ประเทศไทยมีเรื่องกลุ่มป่าแก่งกระจานเรื่องเดียวที่ขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งจะขอเทหมดหน้าตัก เวลานี้มีอย่างน้อย 7-8 ประเทศที่ให้การสนับสนุนแล้ว