ไม่พบผลการค้นหา
'ชินวรณ์' ยันประชาธิปัตย์ เดินหน้าเสนอญัตติแก้ รธน. ม.256 เปิดทางแก้ไขทั้งฉบับ ด้าน ส.ส.ฝั่งฝ่ายค้านหนุนแก้ ม.256 และเชื่อ ส.ว.จะไม่ขัดขวาง

ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า พรรคประชาธิปัตย์มีมติเห็นชอบให้มีการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้นตามข้อสรุปของคณะกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสอดคล้องกับจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ที่บรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วนของพรรค ส่วนจะเสนอเป็นญัตติเมื่อใดนั้น เบื้องต้นได้นำเรื่องหารือกับที่ประชุมวิปรัฐบาลแล้ว และจะหารือเป็นการภายในพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งในวันที่ 5 ส.ค. นี้ 

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลและเป็น 1 ใน 3 เงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจร่วมรัฐบาล หากผิดเงื่อนไขจะถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ ชินวรณ์กล่าวว่า คงไม่ได้มองเรื่องการขีดเส้นตาย เพราะคณะกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ทำงานอยู่ในกรอบเวลาไม่ได้ล่าช้า และขณะนี้กระบวนการกำลังเดินหน้าไป โดยจะมีข้อสรุปรายงานเสร็จสิ้นและส่งต่อสภาในวันที่ 8 ก.ย.นี้ 

ชินวรณ์ ย้ำว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้ง ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว. จึงเห็นว่า 3 ฝ่าย ควรจะต้องหารือกันเพื่อให้เกิดความชัดเจน

"ชวลิต" เชื่อ ส.ว.รักชาติ ไม่ขวางแก้ รธน. ชี้ตั้ง ส.ส.ร.เป็น รธน.ของประชาชน

ด้านชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ในขณะนี้ว่า เท่าที่ได้พูดคุยกับ ส.ว.หลายท่าน ล้วนเข้าใจประเด็นการเรียกร้องแก้ รธน.ของประชาชน และพรรคการเมืองโดยเฉพาะนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่เคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้เป็นอย่างดีว่า เพื่อให้การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศได้รับความเชื่อมั่น จึงพร้อมให้การสนับสนุนการแก้ไขตามช่องทาง รธน.

ชวลิต กล่าวว่า มีความเห็นสอดคล้องกับการแถลงข่าวของกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ที่มีพีรพันธ์ สาลีรัฐวิภาคเป็นประธาน ที่มีความเห็นให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่าง รธน. ความจริงแล้ว ส.ส.ร.ที่จะจัดตั้งขึ้น มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแต่ละจังหวัด สามารถตอบโจทย์ได้ว่า นี่คือ รธน.ของประชาชน

นอกจากนี้ ทั้งกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ส.ร.และกระบวนการร่าง รธน.อย่างเร็วใช้เวลาประมาณ 1 ปีไม่กระทบสิทธิหน้าที่ของ ส.ว.แต่อย่างใดเรา ส.ส และ ส.ว.ต่างเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยตาม รธน.ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ทางออกจากวิกฤตของบ้านเมืองจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องฟังเสียงประชาชน ฟังกระแสสังคม การปฏิเสธการร่าง รธน.โดย ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชนจะทำให้สังคมเคลือบแคลงความจริงใจว่าจะแก้ รธน.ให้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ส่วนการอ้างว่า แก้ รธน.รายมาตรา รวดเร็ว และไม่สิ้นเปลืองงบประมาณนั้น จากการศึกษาพบว่า การแก้รายมาตราจะกระทบกับมาตราอื่นๆ และกฎหมายระดับรอง ยุ่งเป็นวัวพันหลัก ยุ่งยากอย่างมาก เปรียบประดุจลิงแก้แห ยิ่งแก้ ยิ่งยุ่ง การให้ ส.ส.ร.ยกร่างใหม่จะสมบูรณ์กว่า

"ส่วนงบประมาณในการสร้างกติกาที่เป็นธรรมให้กับบ้านเมือง สร้างความสงบสุข เป็นทางออกของประเทศในการพ้นจากวิกฤต ประชาชนคงไม่ขัดข้องที่จะได้รัฐธรรมนูญของประชาชนจากงบประมาณของประชาชน" ชวลิต กล่าว

ชวลิต กล่าวว่า กรณีที่พรรคเพื่อไทยเสนอญัตติแก้ไข รธน.นั้น เป็นการดำเนินการตาม รธน. เพราะ กมธ.ไม่อาจเสนอญัตติขอแก้ไข รธน.ได้ ประการสำคัญของการเสนอญัตติเป็นการเสนอโรดแมปทั้งกระบวนการให้ประชาชนเห็นว่าการแก้ รธน.เพื่อประชาชนได้เริ่มต้นกระบวนการแล้วและดำเนินการตามมติ กมธ.ที่ศึกษาไว้ ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองล้วนต้องขอความเห็นชอบจาก ส.ส.ของพรรค แล้วนำไปร่วมกันพิจารณาในสภาฯ โดยยึดหลักการที่ กมธ.ได้ศึกษาและมีมติไว้ มั่นใจว่าในท้ายที่สุด ส.ส., ส.ว., และรัฐบาลจะร่วมกันหาทางออกให้กับบ้านเมืองในการให้ได้มาซึ่ง รธน.ของประชาชนได้


พท. เตรียมยื่นญัตติให้ที่ประชุมสภาฯ แก้ไข ม.256 

สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้พรรคเพื่อไทยจะยื่นญัตติเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ส่วนที่กฎหมายกำหนดให้การแก้นั้นจะต้องผ่านการทำประชามติ แม้จะเป็นเรื่องยากเสียเวลาและเสียเงินก็ต้องดำเนินการ โดยมองมุมบวกว่าการใช้งบประมาณก็จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปในคราวเดียวกัน

สุทิน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไม่เชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภาจะสนับสนุนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่มาในขณะนี้ก็มีความมั่นใจว่าสมาชิกวุฒิสภาจะเสียสละ เพื่อบ้านเมือง มากกว่าการรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง แล้วเห็นว่าอาจเป็นไปได้ที่จะมีเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

โดยเชื่อว่าการเนินการจะไม่ช้าหลังจากญัตติผ่านก็จะใช้ระยะเวลาในการแก้มาตรา 256 ราว 5 เดือนจากนั้นก็จะเป็นการตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่มีประเด็นชี้นำ ปล่อยให้คณะกรรมการดำเนินงานเป็นอิสระแต่ฝ่ายการเมืองก็สามารถเสนอข้อคิดเห็นได้ พร้อมแนะว่ากระบวนการต้องมีการปรับ การทำงานในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่แต่อาจหยิบยกฉบับเก่ามา ทำประชามติ เช่น รัฐธรรมนูญปี 2540 โดยเห็นว่าการในการแก้ไขหากจะทำให้เร็วก็เร็วหากจะทำให้ช้าก็ช้า

สำหรับข้อเรียกร้องของนักเรียน นักศึกษาที่ขอให้ยุบสภา ในช่วงที่มีการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินการ สุทิน ย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนยังอีกยาว ส่วนการดำเนินการของนักศึกษาที่มีข้อเรียกร้องก็ดำเนินการต่อไปอย่างอิสระ ซึ่งฝ่ายการเมืองจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือชี้นำ 

นอกจากนี้ สุทิน เปิดเผยว่า ในวันนี้จะมีการประชุม 3 ฝ่าย ประกอบไปด้วย ตัวแทนฝ่ายค้าน ตัวแทนไปรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภาหารือเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการหารือร่วมกันเรื่องนี้