ไม่พบผลการค้นหา
ชื่อในโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลเศรษฐา ที่ตื่นเต้น แปลกใจที่สุด หนีไม่พ้น “สุทิน คลังแสง” สส.บัญชีรายชื่อ ผู้ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะได้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม - คุมกองทัพ อาจดูเหมือนตำแหน่งใหญ่เกินตัว

เพราะ “สุทิน” เป็นนักการเมืองใต้ร่มไม้พรรคไทยรักไทย จนถึงพรรคเพื่อไทย มานานกว่า 2 ทศวรรษ เป็น สส.คนหนึ่งที่ “อาวุโส” แต่ยังไม่เคยได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี 

เพียงแค่ตำแหน่งแรกของ “สุทิน” ก็นั่งในเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ทำเอาเซอร์ไพรส์ไปทั้งบาง 

อย่างไรก็ตาม เก้าอี้ รมว.กลาโหม ของ “สุทิน” อาจไม่ได้มาเพราะนามสกุล “คลังแสง” เพราะชื่อของเขาเป็นชื่อที่เดินทางไปหลายกระทรวง มากที่สุด เริ่มจากแคนดิเดต รมว.กลาโหม โยกไปเป็น แคนดิเดต รมว.ศึกษาธิการ และย้ายกลับมาที่ รมว.กลาโหม 

ก่อนที่ชื่อของ รมว.กลาโหม จะลงเอยที่ “สุทิน” นั้น มีชื่อ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก เตรียมทหารรุ่น 20 มีเพื่อนร่วมรุ่นของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์อดีต ผบ.ทบ. นอกจากนี้ ยังทำงานใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ คุมการระบาดของโควิด-19 ในฐานเลขาธิการสภาความมั่นคง 

ดังนั้น มองเผินๆ ก็ดูออกว่า ชื่อของ พล.อ.ณัฐพล มีแบ็คอัพคือใครในพรรครวมไทยสร้างชาติ ทำให้ชื่อของ “สุทิน” กระเด็นไปเก้าอี้ รมว.ศึกษาธิการ แต่ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทย ยอมยกกระทรวงศึกษาธิการให้กับพรรคภูมิใจไทย เช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทย โดยแลกกับกระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงคมนาคม ที่พรรคเพื่อไทยดูแล 

ชื่อของ “สุทิน” จึงกระเด็นอีกรอบไปอยู่ที่กระทรวงวัฒนธรรม แต่ในช่วงที่การฟอร์ม ครม.เข้าด้ายเข้าเข็ม

มนพร พวงเพ็ชร สุชาติ สุทิน  โปรดเกล้านายก เสรีพิศุทธ์ 49.jpeg

มีชื่อของ เกรียง กัลป์ตินันท์ เจ้าของซุ้มการเมืองแห่งอีสานใต้ จ.อุบลราชธานี แทรกเข้ามา โดยขอปักหมุดที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อวัด - คัดง้าง บารมีกับเจ้ากระทรวงมหาดไทยคนใหม่ คือ พรรคภูมิใจไทย ที่มี “บุรีรัมย์” เป็นเมืองหลวง 

สลับกับ “เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” ที่เดิมจะขอคัมแบ็กกลับไปเป็น รมช.มหาดไทย เนื่องจากเคยเป็น “ลูกหม้อ” กระทรวงคลองหลอด ไต่เต้าจนถึงระดับปลัดกระทรวง และเคยเป็น รมช.มหาดไทยมาแล้ว

เมื่อ “เกรียง” ขอมา “เสริมศักดิ์” ก็ถูกขยับไปเป็น รมว.วัฒนธรรม จึงไม่มีที่ว่างให้ “สุทิน” 

แต่บังเอิญว่า เก้าอี้ รมว.กลาโหมนั้น ก็เป็นที่หมายปองของพรรคพลังประชารัฐ ไม่แปลกว่า จะมีชื่อ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา คนสนิทของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลอยมาอยู่เนืองๆ และยังมีชื่อของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตรองนายกฯ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ต้องการคุมด้านความมั่นคง

แต่คนวงในการเมืองย่อมรู้ดีว่า เบื้องหลังของ พล.อ.ประวิตร ที่ตอนนี้มาเล่นหน้าฉากในพรรคพลังประชารัฐ มีความไม่ลงรอยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงกำลังที่อยู่เบื้องหลังรวมไทยสร้างชาติ 

ประวิตร ประยุทธ์ อภิปรายไม่ไว้วางใจ สภา   27_0001.jpg

ชื่อของ “สุทิน” จึงเหมาะสม ที่จะถูกดึงลงมาขัดตาทัพ นั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหม ในยุคที่ การเมืองปรับเปลี่ยนอะไรไม่ได้ในกองทัพ 

แต่อย่างน้อย “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” ก็ไม่ปล่อยให้ “สุทิน” โดดเดี่ยว เพราะเขาบอกว่า

“ท่านสุทินเป็นผู้มีอาวุโส และเป็น สส.หลายสมัย เท่าที่รู้จักท่านเป็นคนให้เกียรติคน ผมเชื่อว่าการประสานงานกับกองทัพก็หวังว่าจะเป็นไปได้ด้วยดี”

“ตัวผมเองจะไปช่วยดูตรงนี้ด้วย ก็ต้องให้แน่ใจว่าทุกๆ สถาบันจะได้รับการดูแลเอาใจใส่ ได้รับการพูดคุยอย่างเหมาะสม และสมฐานะ”

ทว่า บทหนักที่จะทดสอบ “สุทิน” นอกจากคนในกองทัพ แต่ยังมีพรรคก้าวไกล ที่ “จับตา” การนั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหมของ “สุทิน” และพรรคเพื่อไทย

โดยเฉพาะการผลักดันนโยบายปฏิรูปกองทัพที่พรรคเพื่อไทย หาเสียงไว้ตอนเลือกตั้ง จะถูกหยิบมาตั้งคำถามว่า “ปฏิบัติ” ได้จริง - มากน้อยแค่ไหน

สุทิน คลังแสง VoicePolitics  _Logo_005.jpg

แกะนโยบายปฏิรูปกองทัพเป็นทหารอาชีพ ของของพรรคเพื่อไทย มี 3 ส่วน

1. ป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินให้มีความเป็นทหารอาชีพ 

2. เสนอกฎหมายป้องกันและต่อต้านการรัฐประหาร

3. แก้ไขกฎหมายยกเลิการเกณฑ์ทหารให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ 

เศรษฐา พักตร์พิไล  นายกรัฐมนตรี โปรดเกล้านายก MG_1278.jpeg

นอกจากนี้ 28 ส.ค. 2566 “เศรษฐา” ให้สัมภาษณ์เรื่องการปฏิรูปกองทัพว่า ตนได้ให้คำยืนยันมาตลอดช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยจะพัฒนาไปร่วมกันกับกองทัพ โดยจะต้องดูกันตามความเหมาะสม และต้องพูดคุยกับผู้นำเหล่าทัพทั้งหมด ซึ่งทุกอย่างอยู่ในแผนการเจรจา

ก่อนหน้านี้ 12 พ.ค. 2566 เศรษฐา ทวิตข้อความถึงนโยบายพรรคเพื่อไทย ว่า เพื่อไทย ไม่มีนโยบายสุดโต่งเรื่องการเกณฑ์ทหารและปฏิรูปกองทัพ แต่มีความฝันที่จะเห็นบุคลากรในกองทัพของมีศักยภาพ มีเกียรติ มีความภาคภูมิใจ เทียบเท่ากับประเทศชั้นนำ ความมั่นคงของชาติ (National Security) เป็นเรื่องสำคัญที่ฝ่ายบริหารและกองทัพต้องทำงานร่วมกันให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ 

นโยบายพรรคเพื่อไทย เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครใจ มีแนวทางที่จะพูดคุยกับกองทัพถึงความจำเป็น มีการชี้แจงเหตุผล และบริหารให้ไม่ให้เกิดผลลบต่อความมั่นคงของประเทศ ในขณะที่จะไม่ทำอย่างสุดโต่งจนเกินไป อย่างที่มีหลายคนนำไปปล่อยข่าวอย่างผิดๆ 

“การปรับเปลี่ยนโครงสร้างนี้ จะทำให้สามารถนำงบบางส่วนไปพัฒนาการศึกษาสำหรับพี่น้องทหารให้มีวุฒิปริญญาที่หางานได้จริง ลงทุนสร้างการฝึกอาชีพ พัฒนาการฝึกและจัดหาจัดสรรยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ ที่ทันกับโลกในปัจจุบัน หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล มั่นใจว่าเราจะสามารถทำงานร่วมกับสถาบันทหาร กองทัพ เพื่อมุ่งสู่การเป็นทหารมืออาชีพ มีเกียรติ และประชาชนคนไทยจะภูมิใจและให้เกียรติทหารไทยทุกคน”

 นี่คือภารกิจ “คลังแสง” กองทัพ

 ของคนที่ชื่อ สุทิน คลังแสง ว่าที่ รมว.กลาโหม พรรคเพื่อไทย 

 ข่าวที่เกี่ยวข้อง