ไม่พบผลการค้นหา
ศึกเลือกตั้ง ปี 2566 ใกล้เข้ามาทุกขณะ จุดโฟกัสหนีไม่พ้นพรรคการเมืองที่ทยอยเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พร้อมนโยบาย ทว่า 250 สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลากตั้ง ยังต้องติดตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลยุบสภา ซึ่งไม่เพียงจะยังได้รับเงิน 113,560 บาทต่อเดือนเหมือนปกติแล้ว

แต่ ส.ว. ยังมีอำนาจนิติบัญญัติบางประการที่น่าสนใจและติดตาม ดังนี้ 

  • คงสิทธิเลือกตุลาการศาล รธน. กรรมการองค์กรอิสระ แม้ไร้ ส.ส.

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ ส.ว. ไม่สามารถเปิดประชุมเพื่อตั้งกระทู้ถาม หรือพิจารณาญัตติและกฎหมายได้ ยกเว้นเป็นการเปิดประชุมวุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบตุลาการและองค์กรอิสระ 7 แห่ง ได้แก่ 1) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 3) ผู้ตรวจการแผ่นดิน 4) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 5) คตง. และผู้ว่า สตง. 6) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

ทั้งนี้ แม้การยุบสภาจะทำให้ไม่มีประธานสภาฯ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรร่วมเป็นกรรมการสรรหา แต่คณะกรรมการสรรหาตุลาการ กรรมการองค์กรอิสระก็ยังสามารถเดินหน้าต่อได้โดยให้ใช้องค์ประชุมเท่าที่มีอยู่ (มาตรา 203/217) ก็สะท้อนชัดว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ไม่ได้ให้ความสนใจว่า บรรดาฝ่ายตรวจสอบนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง จะต้องมีส่วนยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด 

  • อำนาจตามหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ขณะเดียวกัน ส.ว. ยังสามารถทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภาได้โดยที่ไม่ต้องมี ส.ส. สำหรับ 5 กรณีเฉพาะได้แก่ 1) ทำหน้าที่รัฐสภาประกาศตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพพระองค์ กรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงแต่งตั้ง (มาตรา 17) 2) ทำหน้าที่รัฐสภาให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปฏิญาณตน (มาตรา 19) 3) ทำหน้าที่รัฐสภาเพื่อรับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 (มาตรา 20 4) ทำหน้าที่รัฐสภาเพื่อรับทราบแต่งตั้งองค์พระรัชทายาทหรือให้ความเห็นชอบผู้สืบราชสันตติวงศ์เพื่อขึ้นทรงราชเป็นพระมหากษัตริย์ (มาตรา 21) 5) ทำหน้าที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบประกาศสงคราม (มาตรา 177) 

  • ยุบสภาห้ามถกกฎหมาย

อำนาจนิติบัญญัติของ ส.ว. ดูเหมือนจะถูกจำกัด โดยเฉพาะการพิจารณากฎหมาย แต่ในทางการเมืองมีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม เริ่มจากเงื่อนไขภายหลังการเลือกตั้งตามมาตรา 147 วรรคสอง กำหนดว่า หากคณะรัฐมนตรีร้องขอให้รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา ภายใน 60 วัน ให้พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือร่างกฎหมายอื่น ๆ ต่อไป และรัฐสภาเห็นชอบด้วยก็สามารถหยิบขึ้นมาพิจารณาได้ 

จะเห็นได้ว่า ร่างกฎหมายกัญชา ที่กำลังเป็นประเด็นปัญหาทางสังคม กำลังเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมืองที่พรรคร่วมรัฐบาลหยิบยกขึ้นเป็นเกมต่อรองซึ่งเกี่ยวพันกับการตัดสินใจยุบสภาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เนื่องจากหากกฎหมายฉบับดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจาก ส.ส. และมีการยุบสภาเมื่อมาถึงชั้น ส.ว. หมายความว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นอันตกไป ซึ่งอาจส่งผลต่อการพลิกโฉมหน้านายกรัฐมนตรีหรือสัดส่วนคณะรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลได้ทันที 

  • จับตาไม้เด็ดดึง ‘กัญชา’ ต่อรองตั้งรัฐบาล-นายกฯ 

ต้องไม่ลืมว่า เสียงที่ใช้ในการพิจารณากฎหมายต่อเนื่องของรัฐบาลใหม่จากช่วงยุบสภาคือเสียงของรัฐสภา ซึ่งมี 250 ส.ว. ลากตั้งรวมอยู่ด้วย และ 250 เสียง ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนนี้ ยังมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้ง ก็แน่นอนว่า พรรคกัญชาที่ตกปลาในบ่อเพื่อนและสร้างฟาร์มงูเห่า ประกาศกร้าวเป็นพรรคขนาดใหญ่ ก็ยังเป็นรองรัฐบาลในปัจจุบันด้วยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญที่ติดดาบ 250 ส.ว.สภาสูง ชนิดขี่คอสภาล่างที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 

  • กมธ.ทางสะดวกลงพื้นที่จัดแถวราชการส่วนภูมิภาค 

ไม่เพียงเท่านั้นวุฒิสภาที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนยังมีอำนาจเต็มพิกัดที่อาจเป็นคุณ ให้โทษแก่พรรคการเมืองในช่วงหาเสียงเลือกตั้งจากกลไกกรรมาธิการ ที่ ส.ว. ยังได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 1,500 บาท พร้อมสิทธิประโยชน์ และยังสามารถเดินหน้าทำงานทางการเมืองได้ผ่านการเรียกตัวแทนหน่วยงานราชการเข้ามาปรับทัศนคติ หรือการลงพื้นที่ดูงานในต่างจังหวัดที่ทรงอิทธิพลต่อราชการส่วนภูมิภาคที่หลายฝ่ายจับตามองว่าจะเป็นอีกตัวแปรสำคัญในการชักใยกลไกรัฐจนกลายเป็นเอื้อให้พรรคการเมืองบางพรรคได้ประโยชน์ใช่หรือไม่ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "โครงการ ส.ว. พบประชาชน" ที่มี สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เพื่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำ ได้มีการแบ่งพื้นที่การไปเยือน 7 ส่วน ให้ ส.ว. สลับหน้าปูพรมลงพื้นที่ตั้งแต่ปี 2562 โดยมีเป้าหมายเจาะจงที่การจัดแถวฝ่ายปกครองและความมั่นคงให้จัดตั้งประชาชนเพื่อเดินตามรัฐบาลเป็นสำคัญ 

ศึกเลือกตั้งในปี 2566 สื่อมวลชนและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องติดตามการเคลื่อนไหวของ 250 ส.ว. ลากตั้งชนิดตาไม่กระพริบเช่นเดียวกับสนามดีเบตหาเสียงของว่าที่ ส.ส.แต่ละพรรคการเมือง