ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่าย 'พีมูฟ' ร่อนจดหมายเปิดผนึก รัฐไทยต้องลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในการกระจายการถือครองที่ดิน จี้ รัฐบาลตรวจสอบที่ดิน 'ปารีณา' ชี้เลือกปฏิบัติ แตกต่างกับประชาชนที่เป็นเกษตรกรรายย่อย และผู้ที่ถูกขับไล่ออกจากที่ดินทำกิน

18 พ.ย. 2562 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก เพื่อเรียกร้องรัฐบาลไทยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในการกระจายการถือครองที่ดิน โดยเนื้อหาในจดหมายระบุว่า:

นับจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล คสช. ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย กลุ่มที่ไร้ที่ดินที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย เราในนาม “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดังกล่าวที่ส่งผลต่อเกษตรกร ผู้ไร้ที่ดินทำกิน และเกษตรกรที่ทำกินในพื้นที่ซ้อนทับกับเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมถึงมีการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดการที่ดินและทรัพยากรในเชิงนโยบายได้แก่การนำเสนอ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า, พ.ร.บ.โฉนดชุมชน, พ.ร.บ.กองทุนธนาคารที่ดิน, พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เป็นต้น แต่ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้การตอบรับจากทางรัฐบาลที่ผ่านมาแต่อย่างใด

ตรงกันข้าม สถานการณ์ที่ดินกลับทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการเข้ายึดที่ดินเกษตรกร เข้ารื้อถอนอาสินและบ้านเรือน การตัดฟันทำลายพืชผลรวมทั้งจับกุมดำเนินคดีชาวบ้านทั้งคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายและคดีอาญา ในหลายรายถูกคุมขัง ไม่ได้รับการประกันตัว บางพื้นที่ต้องถูกยึดทรัพย์สิน เพื่อชดใช้ค่าเสียหายตามข้ออ้างของรัฐ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการกับเกษตรกรรายย่อยอย่างต่อเนื่องอย่างรวดเร็วและเคร่งครัด และถึงแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศ แต่นโยบายดังกล่าวก็ได้ถูกบรรจุอยู่ใน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และยังคงดำเนินการนโยบายนี้ที่ส่งผลกระทบกับเกษตรกรอย่างต่อเนื่องเช่นดังเดิม

73515761_2928859630499919_5590661128502902784_o.jpg

ภาพจาก ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move

ขณะเดียวกัน ก็ได้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสงสัยของสังคม ตามที่สื่อได้รายงานและติดตามการชี้แจงของนางสาวปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้ออกมากล่าวต่อสื่อมวลชนในเรื่องการถือครองที่ดินบริเวณ หมู่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี จำนวน 58 แปลง รวมกว่า 1,700 ไร่ เป็นที่ดินที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี พ.ศ.2527 และอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2544 เพื่อเป็นการทำธุรกิจฟาร์มเลี้ยงไก่ โดยอ้างว่า ได้ซื้อมาจากชาวบ้านมา ซึ่งในข้อกฎหมายคุณสมบัติผู้ถือครองที่ดิน และการได้มาของที่ดินดังกล่าวเป็นการซื้อที่ดินมาจากเกษตรกรนั้น ไม่สามารถทำได้ทั้งในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ สปก.

รวมทั้งอีกกรณีหนึ่ง คือ การถือครองที่ดินบริเวณพื้นที่ ต.สองพี่น้อง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จำนวน 3 แปลง รวมกว่า 100 ไร่ เป็นที่ดินที่ตั้งในเขตพื้นที่ป่าสงวน โดยถือหนังสือรับรองสิทธิทำกิน (สทก.) ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ที่กำหนดให้กรมป่าไม้ให้สิทธิ์ทำกิน (สทก.) ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มี สภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมแล้ว แก่ชาวบ้านเข้าทำกินและอยู่อาศัยได้ครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่ และทั้ง 3 รายผู้ถือครองที่ดินแปลงดังกล่าว ก็เป็นญาติใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมอุทยาน แต่กลับนำเอาที่ดินมาทำเป็นรีสอร์ทในเชิงธุรกิจของเอกชน ที่สร้างด้วยไม้หายากจำนวนมาก และพื้นที่ที่ครอบครองเกินกว่าที่กำหนดไว้ในหนังสือรับรองอีกด้วย

"ทั้งสองกรณีหลังจากที่สื่อสารมวลชนได้นำเสนอข้อมูลมาอย่างใกล้ชิดหลายวันแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างจริงจัง แต่กลับมีผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาลและในระดับกระทรวงที่ออกมาให้ข้อมูลกับสื่อสาธารณะ ในลักษณะอ้างถึงสิทธิความชอบธรรมในการเข้าไปบุกรุกใช้ประโยชน์ในที่ดินเขตป่า ซึ่งแตกต่างกับการดำเนินการกับประชาชนที่เป็นเกษตรกรรายย่อย และเป็นผู้ไร้ที่ดินโดยสิ้นเชิง"

ปารีณา รัฐสภา

เราไม่เห็นด้วยกับท่าทีของรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในเชิงสร้างความชอบธรรมและปกป้องความผิดของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ซึ่งเป็น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ทั้งยังไม่มีการเร่งรัดให้มีตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบคุณสมบัติ การถือครองพื้นที่ และการใช้ประโยชน์ พื้นที่ป่าสงวน และพื้นที่สปก.จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ไปแจกเอกสารสิทธิ สปก.4-01 ให้กับอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคหนึ่งจำนวน 16 ไร่ จากที่กล่าวข้างต้นแสดงถึงการเลือกปฏิบัติของหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน ในขณะที่การแก้ไขปัญหาที่ดินให้กับเกษตรกร กลับมีความล่าช้าแล้วยังต้องพบอุปสรรคทางด้านกฎหมายมากมายหลายฉบับ ที่ไม่ให้เกษตรกรเหล่านั้นได้รับการแก้ไขปัญหาและจัดสรรที่ดินอย่างเป็นธรรม เช่น กรณีพื้นที่ชุมชนคลองไทร จ.สุราษฎรธานี ที่เกษตรกรต้องต่อสู้เพื่อให้รัฐบาลนำที่ดินหมดสัญญาเช่า ตั้งแต่ปี 2546 เพื่อนำมาจัดสรรให้กับเกษตรกรที่จัดที่อยู่อาศัย 1 ไร่ที่ทำกิน เพียง 5 ไร่ มีการคุกคามลอบสั่งหารเสียชีวิตไม่น้อยกว่า 4 ราย กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทองจังหวัดชัยภูมิ พื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จังหวัดลำปาง ที่ราษฎรต้องถูกยึดพื้นที่และถูกดำเนินคดีตามนโยบายทวงคืนผืนป่า พื้นที่สวนป่าคอนสารจังหวัดชัยภูมิหรือสวนป่านาน้อยจังหวัดน่านที่ยึดพื้นที่ทำกินของราษฎรและนำมาปลูกยูคาลิปตัส และเมื่อราษฎรมาเรียกร้องกับรัฐบาลกลับโดยคดีที่ฟ้องร้องโดยหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ เป็นต้น

เนื่องในการจัดงานมหกรรรมที่ดินคือชีวิต ครั้งที่ 2 ที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ร่วมกับเครือข่ายภาคีองค์กรต่าง ๆ หลายภาคส่วน ขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้ดำเนินการตรวจสอบกรณีสถานะของที่ดินแปลงดังกล่าวและคุณสมบัติของบุคคลที่ได้รับเอกสารสิทธิ์ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้ หากได้มามิชอบให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้ที่ดินอันควรเป็นของเกษตรกรตกอยู่ในมือของนายทุนและผู้มีอิทธิพล และเราขอเรียกร้องต่อรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ได้ให้ความสำคัญกับข้อเสนอของภาคประชาชนในด้านกระจายการถือครองที่ดิน การจัดการที่ดินโดยสิทธิชุมชน โดยการนำข้อเสนอภาคประชาชนไปพิจารณาทั้ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ร.บ.การจัดการทรัพยากรที่ดินโดยสิทธิชุมชน ซึ่งนโยบายทั้ง 3 นี้จะเป็นเงื่อนไขในการกระจายการถือครองที่ดินได้อย่างเป็นธรรม โดยเราจะร่วมกับเครือข่ายภาคีต่าง ๆ ในการติดตามและผลักดัน ให้นโยบายดังกล่าวได้รับปฏิบัติในที่สุด