ไม่พบผลการค้นหา
วอยซ์ รวบรวมโมเดล Transition team ในประเทศต่างๆ ที่มีรูปแบบแตกต่างกัน พวกเขามีวิธีการอย่างไรในการทำงาน และทีมนี้ สำคัญและจำเป็นอย่างไรต่อรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ

Transition Team หรือ ‘ทีมเปลี่ยนผ่านรัฐบาล’  โดยทั่วไปมักจัดตั้งขึ้นในช่วงการเปลี่ยนแปลงระหว่างรัฐบาลหนึ่ง ไปสู่อีกรัฐบาลหนึ่งหลังการเลือกตั้ง โดยมีภารกิจหลักคือ ช่วยให้การถ่ายโอนอำนาจและภาระงานเป็นไปอย่างราบรื่น เพื่อให้การบริหารประเทศดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ

ทีมเปลี่ยนผ่านรัฐบาลในหลายประเทศ มีบทบาทสำคัญมาก เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลและการเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดีในระยะแรก ต้องเผชิญกับความยากลำบากและความท้าทายหลายประการ เริ่มตั้งแต่ปัญหาซับซ้อนขององค์กร, ระเบียบการของรัฐบาล กระบวนการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ความรับผิดชอบในฐานะผู้นำ การจะเข้าใจและปฏิบัติงานอย่างครบถ้วนรอบด้านถือเป็นเรื่องยากมากหากไม่มีทีมทีคอบสนับสนุนและเป็นที่ปรึกษา และยิ่งยากหากนายกรัฐมนตรี (คนใหม่) แทบจะนับหนึ่งใหม่ หรือไม่เคยดำรงตำแหน่งใดที่ต้องเผชิญบทบาทคล้ายกันมาก่อน 

ความยากต่อมา คือการดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้ช่วงเลือกตั้ง เนื่อจากนายกรัฐมนตรีต้องปฏิบัติงานภายใต้โครงสร้างระบบราชการที่ซับซ้อน ประสานงานกับกระทรวงและกรมต่างๆ ของรัฐบาล และจัดการผลประโยชน์ที่มีผู้มีส่วนใดส่วนเสียจำนวนมาก ดังนั้น รัฐบาลใหม่ต้องรักษาสมดุลระหว่างความเป็นจริงทางการเมือง ความคิดเห็นของประชาชน และความเป็นไปได้ของการดำเนินนโยบายของตนอีกด้วย 

ในสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และอีกหลาายประเทศ มีการจัดตั้ง Transition Team เป็นปกติ โดยวางบทบาทของทีมไว้ต่างแตกกันตามความจำเป็นและบริบทของประเทศ  อย่างไรก็ตาม การมีทีมเปลี่ยนรัฐบาลมีทั้งความจำเป็นและข้อควรระวังหลายประการ เช่น ข้อดีคือ ช่วยให้การบริหารและดำเนินนโยบายมีความต่อเนื่อ ไม่หยุดชะงัก, ช่วยในการถ่ายโอนความรู้จากรัฐบาลเดิม ทั้งกระบวนการทำงาน บริบททางประวัติศาสตร์ ตลอดจนประสบการและความเชี่ยวชาญของรัฐบาลเดิม เพื่อเป็นแนวทางให้กับรัฐบาลใหม่ได้ และช่วยให้รัฐบาลใหม่สามารถแก้ไขปัญหาเร่งด่วนและดำเนินการตามวาระนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ในหลายประเทศ ทีมเปลี่ยนผ่านมีหน้าที่ประสานงานใกล้ชิดกับหน่วยข่าวกรองและกองทัพเพื่อรักษาความต่อเนื่องและหลีกเลี่ยงความเปราะบางในความมั่นคงของประเทศระหว่างถ่ายโอนอำนาจอีกด้วย 

ข้อควรระวัง คือ ทีมเปลี่ยนผ่านในบางประเทศ จะดำเนินงานในกรอบเวลาช่วงเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งก่อนเริ่มต้นรัฐบาลใหม่ ข้อจำกัดด้านเวลานี้ อาจทำให้การประเมินปัญหาที่ซับซ้อนอย่างละเอียดถี่ถ้วนและพัฒนากลยุทธ์ที่ครอบคลุมเป็นเรื่องยาก อีกทั้งทีมเปลี่ยนผ่าน มักประกอบด้วยบุคคลที่สังกัดในรัฐบาลที่เข้ามาใหม่ ซึ่งอาจมีอคติหรือความลำเอียงในกระทำงาน และอาจส่งผลต่อความเป็นกลางของการประเมิน หรือการให้พื้นที่การมีส่วนร่วมขอผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทีมเปลี่ยนผ่านอาจขาดประสบการณ์ และไม่เข้าใจความท้าทาย รวมถึงความซับซ้อนของงานดีพอ หากไม่ได้เตรียมการเผชิญกับความขัดแย้งดีพอ ก็อาจส่งผลต่อการทำงานของภาครัฐ และทำให้การดำเนินนโยบายล่าช้าได้

โดยทั่วไป ทีมเปลี่ยนผ่านของแต่ละประเทศจะได้รับการแต่งตั้งหรือเลือกโดยผู้นำหรือฝ่ายบริหารที่เข้ามา องค์ประกอบเฉพาะของทีมจะมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเทศ อีกทั้งระยะเวลาการทำงานของทีมเปลี่ยนผ่าน ก็อาจมีระยะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ผลของการเลือกตั้ง ความเร็วของกระบวนการเปลี่ยนผ่าน และลำดับความสำคัญของฝ่ายบริหารที่เข้ามา ทีมงานมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการงานที่หลากหลายในช่วงเวลานี้ รวมถึงการพัฒนานโยบาย การคัดเลือกบุคลากร การประสานงานหน่วยงาน และการวางแผนการสื่อสาร ฯลฯ

ส่วนประเทศไทย  Transition Team เริ่มเป็นที่พูดถึงหลัง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล แถลงในวันที่ 30 พ.ค. โดยพิธากล่าวว่า หลักการหารือกับหัวหน้าทั้ง 8 พรรคเพื่อฟอร์มรัฐบาล หนึ่งในเรื่องสำคัญที่ได้มีมติร่วมกันคือ การจัดตั้งคณะทำงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ซึ่งประกอบไปด้วย

  1. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์  ประธานคณะกรรมการการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน
  2. ศิริกัญญา ตันสกุล  ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล
  3. ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล  ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย
  4. ทวี สอดส่อง  ตัวแทนจากพรรคประชาชาติ
  5. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ  ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย
  6. วิรัตน์ วรศสิริน  ตัวแทนจากพรรคเสรีรวมไทย
  7. กัณวีร์ สืบแสง  ตัวแทนจากพรรคเป็นธรรม
  8. วสวรรธน์ พวงพรศรี  ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยรวมพลัง
  9. เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ  ตัวแทนจากพรรคพลังสังคมใหม่

สำหรับพรรคก้าวไกล ความสำคัญของคณะทำงานเปลี่ยนผ่านฯ  ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนอำนาจจากรัฐบาลหนึ่งสู่อีกรัฐบาลหนึ่งดังเช่นในอดีตเท่านั้น แต่ตั้งขึ้นเพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหาและกลั่นกรองวาระการทำงานทั้ง 23 เรื่องใน MOU มีภารกิจทั้งหมด 7 ด้าน คือ 

คณะทำงานที่ 1 ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันดีเซล และพลังงาน

คณะทำงานที่ 2 ปัญหาภัยแล้ง เอลนีโญ

คณะทำงานที่ 3 ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

คณะทำงานที่ 4 แก้ไขรัฐธรรมนูญ

คณะทำงานที่ 5 ปัญหาสิ่งแวดล้อม และ PM2.5

คณะทำงานที่ 6  ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง และเอสเอ็มอี

คณะทำงานที่ 7 การแก้ไขปัญหายาเสพติด

ศิริกัญญาตันสกุล ให้สัมภาษณ์ในกรุงเทพธุรกิจว่า คณะทำงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล คือทีมที่ทำงานต่อเนื่องระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรค หลังการรลงนามใน  MOU ร่วมกัน เพื่อให้พรรคร่วมที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น และจะช่วยให้พรรคร่วมสามารถสร้างบรรยากาศการทำงานที่ให้เกียรติซึ่งกันและกันได้ 

ส่วนในรายละเอียด ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า หลังเดินสายรับฟังความคิดเห็นกับทุกภาคส่วนแล้ว จะนำประเด็นต่างๆ มาเป็นการบ้านให้คณะทำงานเปลี่ยนผ่าน เพื่อนำมาหารือ วางแนวทาง และเป้าหมายว่าจะต้องบรรลุวัตถุประสงค์ใด ตลอดจนจะมีกรอบการทำงาน และองค์ประกอบการทำงานอย่างไรบ้าง

ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ ThaiPBS  มองว่า ปัจจัยที่จะทำให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จมีอยู่ 2 ส่วน คือหนึ่ง - คะแนนเสียงที่จะต้องได้ 376 ขึ้นไปในสภาร่วม และสอง - การกำหนดยุทธศาสตร์ในพรรคร่วมรัฐบาล 

เครื่องมือในการกำหนดยุทธศาสตรในพรรคร่วม 8 พรรคมีหลายรูปแบบ เช่น การจัดทำ MOU ที่สะท้อนให้เห็นการต่อรองในรัฐบาลผสม และความมั่นใจในกติกาและสถาการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอน ดังนั้น การจัดทำ MOU คือเครื่องมือที่พรรคก้าวไกลนำมาใช้เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจหลังจากนี้ 

ส่วนคณะการทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล (Transition Team)  ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ต้องมาคู่กับการทำ MOU เนื่องจากก่อนหน้านี้ประเทศไทยอยู่ในบรรยากาศประชาธิปไตยลูกผสม ที่กำลังพยายามเปลี่ยนผ่านสู่การมีประชาธิปไตยที่มากขึ้น ดังนั้น การมีคณะการทำงานเปลี่ยนผ่าน จึงเป็นสิ่งจำเป็น และเพื่อแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างของรัฐราชการด้วย 

ว๊อยซ์ จึงรวบรวมโมเดล Transition team ในประเทศต่างๆ ที่มีรูปแบบแตกต่างกัน พวกเขามีวิธีการอย่างไรในการทำงาน และทีมนี้ สำคัญและจำเป็นอย่างไรต่อรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ 

สหรัฐอเมริกา

ในสหรัฐอเมริกา มีกระบวนการที่เรียกว่า White House Transition  ซึ่งเป็นการถ่ายโอนอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบจากทีมประชาธิบดีชุดเก่า สู่ประธานาธิบดีชุดที่กำลังเข้ารับตำแหน่ง 

กระบวนการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลในสหรัฐนี้มีมายาวนาน โดยในปี 1963 ได้มีการผ่านกฏหมายเปลี่ยนผ่านประธานาธิบดี (The Presidential Transition Act of 1963) โดยสภาคองเกรสอธิบายว่า “การหยุดชะงักใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการโอนอำนาจบริหาร อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของสหรัฐอเมริกาและประชาชน”

การผ่านกฎหมายฉบับนี้ทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้มีโครงสร้างและแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ตลอดมีองค์ต่างๆ ที่คอยทำหน้าที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านนี้ เช่น เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว เจ้าหน้าที่สำนักงานประธานาธิบดี ที่ปรึกษาทำเนียบขาว ทีมสื่อสารทำเนียบขาว สำนักงานบริหารและงบประมาณ (OMB) สภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) และ สำนักงานสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เป็นต้น 

กระบวนการเปลี่ยนผ่านประธานาธิบดีคร่าวๆ มีดังนี้

  1. หลังการเลือกตั้ง ผู้สมัครที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี จะจัดตั้งทีมเปลี่ยนผ่าน หรือคณะกรรมการเปลี่ยนผ่าน ทีมนี้จะประกอบด้วยบุคคลที่จะช่วยเหลือในกระบวนการเปลี่ยนผ่านและเตรียมพร้อมสำหรับการเข้ารับตำแหน่ง
  2. ทีมเปลี่ยนผ่านจะดำเนินการตรวจสอบหน่วยงานและแผนกต่างๆ ของรัฐบาล เช่การประเมินนโยบาย แผนงาน และการดำเนินงาน เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันปัจจุบันของกิจการ และระบุจุดที่ต้องปรับปรุง ตัวอย่างเช่น ในปี 2559 ทีมเปลี่ยนผ่านของประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงาน 328 คนไปเยี่ยมหน่วยงานรัฐบาล 42 แห่ง ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลโอบามา 
  3. ประธานาธิบดีคนใหม่และทีมเปลี่ยนผ่าน จะทำงานเกี่ยวกับการกำหนดข้อเสนอนโยบายและลำดับความสำคัญสำหรับการบริหารใหม่ โดยทีมเปลี่ยนผ่านจะมีส่วนร่วมในการอภิปราย ให้คำปรึกษา และการวิจัยเพื่อพัฒนาวาระนโยบายที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และคำสัญญาในการหาเสียงของประธานาธิบดีที่ได้รับเลือก
  4. ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกและทีมเปลี่ยนผ่าน จะระบุบุคคลเพื่อเข้ามารับตำแหน่งสำคัญภายในฝ่ายบริหารใหม่ ซึ่งรวมถึงการเลือกสมาชิกคณะรัฐมนตรี หัวหน้าหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆ โดยทีมเปลี่ยนผ่านจะทำการตรวจสอบประวัติ ปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานจริยธรรมของรัฐบาลและวุฒิสภา อาจดำเนินการในขั้นตอนนี้
  5. การเปลี่ยนผ่านตำแหน่งประธานาธิบดีจะสิ้นสุดลงในวันเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกจะเข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ และอำนาจจะถูกโอนไปยังประธานาธิบดีคนใหม่ทันที

ภารกิจการทีมเปลี่ยนผ่านฯ หลักๆ มีดังนี้ 

  1. วิเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีศึกษาต่างๆ  และรวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางการบริหารงานของประธานาธิบดี ตลอดจนพัฒนาโปรแกรมในการศึกษาและการฝึกอบรมเพื่อช่วยให้ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีและทีมบริการที่จะเข้ามารับช่วงต่อมีความพร้อมในการบริหารประเทศ
  2. รวบรวมข้อมูลและสรุปนโยบายให้กับประธานาธิบดีที่จะเข้ามารับตำแหน่ง ครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เช่น ความมั่นคงของชาติ ประเด็นทางเศรษฐกิจ นโยบายภายในประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อให้ฝ่ายบริหารที่เข้ามามีความเข้าใจอย่างครอบคลุมเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน และพร้อมที่จะตัดสินใจอย่างรอบคอบ
  3. ให้คำปรึกษาแก่ประธานาธิบดีที่เข้ามารับตำแหน่ง และทีมงาน รวมถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กร การตัดสินใจด้านบุคลากร การดำเนินนโยบาย และการประสานงานระหว่างหน่วยงาน
  4. ช่วยประธานาธิบดีคนใหม่ในการคัดเลือกและแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญภายในฝ่ายบริหาร ดำเนินการสัมภาษณ์ และแนะนำบุคคลสำหรับบทบาทต่างๆ เช่น เลขาธิการคณะรัฐมนตรี หัวหน้าหน่วยงาน และเจ้าหน้าที่อาวุโสอื่นๆ
  5. ช่วยตรวจสอบหน่วยงานของรัฐบาลกลางอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อประเมินการดำเนินงาน โครงการ และนโยบาย การประเมินนี้ช่วยให้ฝ่ายบริหารที่เข้ามาเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละหน่วยงาน และมองเห็นประเด็นที่ต้องเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูป
  6. ทำงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานการจัดการและงบประมาณ (OMB) เพื่อทบทวนงบประมาณปัจจุบัน รวมทั้งพัฒนาลำดับความสำคัญของงบประมาณการบริหารที่เข้ามา รวมทั้งร่วมมือกับที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจเพื่อประเมินสถานะของเศรษฐกิจ กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ และพัฒนากลยุทธ์สำหรับการจัดการการคลัง และการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย 
  7. มีส่วนร่วมในการประสานงานกับฝ่ายบริหารของรัฐบาลเดิม เพื่อให้แน่ใจว่า การส่งมอบความรับผิดชอบเป็นไปอย่างราบรื่น รวมถึงการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ การแบ่งปันข้อมูล และการทำงานร่วมกันในประเด็นสำคัญ
  8. รับผิดชอบในการวางแผนและจัดพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี และรวมถึงกิจกรรมต่างๆ เช่น พิธีสาบานตน คำปราศรัยเข้ารับตำแหน่ง งานเลี้ยงเปิดตัว และมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง
  9. ประสานงานระหว่างฝ่ายบริหารที่เข้ามาใหม่และสาธารณชน เพื่อสื่อสารลำดับความสำคัญนโยบาย เป้าหมาย และแผนของประธานาธิบดีต่อประชาชนชาวอเมริกัน สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการจัดแถลงข่าว การออกแถลงการณ์ และการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ รวมถึงสื่อ กลุ่มผลประโยชน์ และสาธารณชน

จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยเขียนบันทึกถึงโครงการเปลี่ยนผ่านฯ นี้ในปี 2553 ระบุว่า "คุณมีส่วนช่วยอย่างมากต่อสภาในการประสานงานการด้านการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และความพยายามในการเปลี่ยนแปลงโดยรวมทั้งในปี 2544 และ 2551 ขอขอบคุณที่สละเวลามาแบ่งปันความเชี่ยวชาญของคุณ"

เกาหลีใต้

เกาหลีใต้ มีคณะกรรมการที่ชื่อว่า คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านประธานาธิบดี (Presidential Transition Committee) ทำหน้าที่ดูแลการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านฯ ตั้งขึ้นเพื่อรอการเลือกตั้งประธานาธิบดี หรือหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำ

งานของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านฯอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสถานการณ์และลำดับความสำคัญของแต่ละช่วงการเปลี่ยนผ่าน อย่างไรก็ตาม หน้าที่ทั่วไปคือ

  1. การประสานงานและการวางแผน เพื่อช่วยให้การถ่ายโอนอำนาจเป็นไปอย่างราบรื่น พัฒนาแผนการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล กำหนดระยะเวลาทำงานที่ชัดเจน จัดประชุมและปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก
  2. คณะกรรมการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลนโยบายต่างๆ เพื่อสรุปให้กับประธานาธิบดีและทีมที่จะเข้ารับตำแหน่ง ครอบคลุมทั้งด้านความมั่นคงของชาติ เศรษฐกิจ ประเด็นทางสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 
  3. ช่วยคัดเลือกและแต่งตั้งบุคลากรหลักสำหรับการบริหารงานใหม่ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบผู้สมัคร ดำเนินการตรวจสอบประวัติ และแนะนำบุคคลสำหรับตำแหน่งต่างๆ เช่น สมาชิกคณะรัฐมนตรี ที่ปรึกษาอาวุโส และเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นๆ
  4. ดูแลการเปลี่ยนแปลงของหน่วยงานและแผนกของรัฐบาล เพื่อให้มีการส่งมอบความรับผิดชอบที่ราบรื่น รวมถึงการประเมินสถานะปัจจุบันของแต่ละหน่วยงาน ระบุลำดับความสำคัญ และอำนวยความสะดวกในการถ่ายโอนข้อมูลและทรัพยากรไปยังฝ่ายบริหารที่จะเข้ามาใหม่
  5. ทำงานร่วมกับที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจเพื่อทบทวนสถานะของเศรษฐกิจ ประเมินเรื่องงบประมาณ และพัฒนานโยบายและแผนเศรษฐกิจสำหรับรัฐบาลใหม่ นอกจากนี้ยังอาจมีส่วนร่วมในการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่น
  6. สื่อสารกับสาธารณะและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตอบข้อซักถาม และแก้ไขข้อกังวล และรวมถึงการจัดงานต่างๆ เช่น งานแถลงข่าว และเวทีอื่นๆ เพื่อการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส

โครงสร้างและภารกิจเฉพาะของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านฯ ประธานาธิบดีในเกาหลีใต้อาจแตกต่างกันไปเนื่องจากประธานาธิบดีแต่ละคนมีอำนาจในการกำหนดองค์ประกอบและความรับผิดชอบของคณะกรรมการตามความจำเป็น

สิงคโปร์ 

ในสิงคโปร์ มีคณะกรรมการที่เรียกว่า สำนักงานเปลี่ยนผ่านของสำนักนายกรัฐมนตรี Prime Minister's Office Singapore (PMO) มีหน้าที่จัดการการเปลี่ยนผ่านอำนาจระหว่างนายกรัฐมนตรี หรือระหว่างการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้นำสำคัญๆ เพื่อให้การถ่ายโอนงานและความรับผิดชอบราบรื่นและรับประกันความต่อเนื่องของการบริหารแผ่นดิน

โครงสร้างและภารกิจเฉพาะของสำนักงานเปลี่ยนผ่าน PMO ในสิงคโปร์ จะมีความแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ของการเปลี่ยนผ่านและดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรี โดยเป้าหมายหลักของคณะกรรมการคือทำให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ และรักษาเสถียรภาพและความต่อเนื่องในการบริหารงานของรัฐบาล

ภารกิจหลักๆ มีดังนี้ 

  1. จัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพื่อเป็นแนวทางในการถ่ายโอนอำนาจ ประสานงานกับหน่วยงานรัฐบาลต่างๆ ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้ 
  2. จัดเตรียมข้อมูลสรุปและการวิเคราะห์นโยบายให้กับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ รวมถึงสรุปข้อมูลนโยบายที่กำลังริเริ่มหรือดำเนินการอยู่ รวมถึงวิเคราะห์และสรุปสถานกาณ์และความท้าทายที่หน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ของรัฐต้องเผชิญ
  3. ช่วยในการคัดเลือกและแต่งตั้งบุคลากรหลักในการบริหารงานใหม่ อาจดำเนินการค้นหาผู้มีความสามารถ ให้คำแนะนำ และช่วยอำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนผ่านเจ้าหน้าที่ไปสู่บทบาทของตน
  4. ดูแลการเปลี่ยนแปลงของหน่วยงานและแผนกต่างๆ ของรัฐบาล เพื่อให้การส่งมอบงานราบรื่น สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการประเมินสถารการณ์ของแต่ละหน่วยงาน ระบุลำดับความสำคัญ และอำนวยความสะดวกในการถ่ายโอนความรู้ ข้อมูล และทรัพยากร
  5. ทำงานร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทบทวนสถานะของเศรษฐกิจ เรื่องงบประมาณ และการวางแผนทางการเงิน อาจให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับลำดับความสำคัญของงบประมาณและกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจสำหรับการบริหารใหม่
  6. อำนวยความสะดวกในการสื่อสารและการมีส่วนร่วมกับสาธารณะในช่วงเปลี่ยนผ่าน รวมถึงการจัดบรรยายสรุปสาธารณะ ตอบข้อซักถาม และให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านแก่ประชาชน

นอกจากนี้ หลายประเทศที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ เช่น  หลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง การเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการเป็นประชาธิปไตย การจัดตั้งรัฐบาลหลังการรัฐบาล หรือวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่  ก็ได้ตั้ง ‘คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล’ เช่นกัน แต่ ชื่อและโครงสร้างเฉพาะของคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านนี้ อาจแตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปแล้วจุดประสงค์ของคณะกรรมการฯ คือการชี้นำประเทศให้ผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหรือวิกฤตการณ์ เช่น 

  1. อิรัก: ในปี 2546 หลังจากการโค่นล้มระบอบการปกครองของซัดดัม ฮุสเซนโดยกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐอเมริกา รัฐบาลเฉพาะกาลที่รู้จักกันในชื่อ Coalition Provisional Authority (CPA) ได้ถูกจัดตั้งขึ้น โดย CPA มีหน้าที่ดูแลความมั่นคงและกระบวนการประชาธิปไตย ก่อนจะส่งมอบอำนาจอธิปไตยคืนให้แก่รัฐบาลชั่วคราวของอิรัก Iraqi Interim Government เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2547 
  2. อียิปต์: ในปี 2554 หลังจากการโค่นล้มประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค รัฐบาลเฉพาะกาลที่รู้จักกันในชื่อ Supreme Council of the Armed Forces (SCAF) มีบทบาทคือ ดูแลการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รักษาเสถียรภาพ และปกป้องผลประโยชน์ของกองทัพ มีอำนาจบริหารและมีอำนาจออกกฎหมาย พระราชกฤษฎีกา โดย SCAF ถือว่ามีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจทางการเมืองในอียิปต์
  3. ซูดาน: ในปี 2562 หลังจากการลุกฮือของประชาชนที่นำไปสู่การถอดถอนประธานาธิบดี โอมาร์ อัลบาชีร์ (Omar al-Bashir) ซูดานได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว ชื่อว่า ‘Sovereign Council’ ประกอบด้วยตัวแทนทั้งทหารและพลเรือน มีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการถ่ายโอนอำนาจไปยังรัฐบาลที่นำโดยพลเรือน และนำพาประเทศผ่านช่วงเปลี่ยนผ่านและดำเนินการปฏิรูปการเมือง 
  4. เมียนมา: หลังการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่เรียกว่า สภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council) เพื่อควบคุมการปกครองประเทศ โดยอ้างว่าได้จัดทำแผนงานสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปกครองของรัฐบาลพลเรือน แต่รายละเอียดของการเปลี่ยนผ่านนี้กลับไม่มีความชัดเจน โดยสภานี้เผชิญกับการประท้วงอย่างกว้างขวางและการประณามจากนานาชาติจนถึงปัจจุบัน 
  5. ไทย: มีการจัดตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านในช่วงของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือหลังการรัฐประหารโดยกองทัพ เพื่อดูแลการเปลี่ยนผ่านอำนาจและอำนวยความสะดวกในการฟื้นฟูรัฐบาลพลเรือน ชื่อและโครงสร้างเฉพาะของคณะกรรมการอาจแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างหนึ่งที่โดดเด่นคือ ‘คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)’ ซึ่งทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการเปลี่ยนแปลงภายหลังการรัฐประหารในปี 2557


ที่มา:

https://whitehousetransitionproject.org/   

https://presidentialtransition.org/transition-teams/ 

https://govinfo.library.unt.edu/cpa-iraq/bremerbio.html 

https://www.pmo.gov.sg/ 

https://fanack.com/egypt/history-of-egypt/the-scafs-egypt-2011-2012/ 

https://myanmar.gov.mm/state-administration-council 

What is the presidential transition process? 

Looking Back: The Center for Presidential Transition’s Pivotal Role in the 2020–21 Trump to Biden Transfer of Power