ไม่พบผลการค้นหา
'พิมพ์​ภัทรา' รับห่วงหน้าฝนกากสารพิษปนเปื้อนลงน้ำ มองโรงงานไฟไหม้ ไม่ใช่แค่วางเพลิงทั่วไป แต่เป็น 'ภัยความมั่นคง' เผยทำงานเชิงรุก ปูพรมตรวจโรงงานสุ่มเสี่ยง โอดต้องใช้เวลาหา ลั่นคนทำผิดทำง่ายกว่า พร้อมย้ำขนกากแคดเมียมเปลี่ยนเป็นใส่ตู้คอนเทรนเนอร์แล้ว บอกอะไรที่คลายกังวลประชาชนก็จะทำ

วันที่ 7 พ.ค. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล พิมพ์ภัทรา​ วิชัยกุล​ รัฐมนตรี​ว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม​ กล่าวถึงการขนย้ายกากแคดเมียม​ ว่า​ ตนเป็นห่วงเรื่องฝน​ ขณะนี้พยายามขนกากแคดเมียมที่อยู่นอกอาคารเข้าไปเก็บในอาคาร​ และพยายามให้เป็นไปตามแผน​อันไหนที่ปรับเพื่อคลายความกังวลจองประชาชนก็ทำ​ เช่น​ เรื่องรถขนส่ง เปลี่ยนมาใช้ตู้คอนเทนเนอร์​ทั้งหมด​ โดยเมื่อวานนี้ออกจากจังหวัดสมุทรสาครไปแล้ว​ 8 คัน​ ถึงที่หมายจังหวัดตากเป็นที่เรียบร้อยแล้ว​ และตอนนี้กำลังเคลื่อนถุงลงจากรถ​

ส่วนจำนวนรถเพียงพอต่อการขนย้ายหรือไม่​ พิมพ์​ภัทรา​ กล่าวว่า​ เราพยายามทำตามกำหนดการ ถ้ามีรถเพิ่มขึ้นก็จะดีที่สุด​

เมื่อถามถึงกรณีเหตุไฟไหม้โรงงานอุตสาหกรรม​บ่อยครั้ง​ พิมพ์​ภัทรา​ กล่าวว่า​ ส่วนหนึ่งมาจากอากาศ​ ซึ่งตอนนี้มีการเฝ้าระวัง​ ล่าสุดคณะกรรมการ​สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ​ ที่มี พล.ต.อ.พัชรวาท​ วงษ์​สุวรรณ​ รองนายก​รัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​ทรัพยากรธรรมชาติ​และ​สิ่ง​แวดล้อม​ เป็นประธาน​ โดยได้สั่งการให้แต่ละจังหวัด​ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง​ ออกสำรวจพื้นที่​โรงงานที่มีความเสี่ยง​ ภายใน​ 20 วัน​ และนำรายชื่อเข้าคณะกรรมการ​และกระทรวงอุตสาหกรรม​เอง​โดยทางกรมโรงงานได้แบ่งคณะไปตรวจเหมือนกัน​ แต่เรื่องนี้คงต้องระมัดระวัง​ ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่หรือหน่วยงานต้องช่วยกัน​

ส่วนที่กรรมาธิการ​การอุตสาหกรรม​ สภาผู้แทนราษฎร​ วิเคราะห์ว่าเป็นการวางเพลิง​ เพื่อเลี่ยงกฎหมายใหม่ที่จะมาบังคับใช้​ พิมพ์​ภัทรา​ กล่าวว่า​ คิดได้หลายมุม​ อันดับแรกกฎหมายบังคับแล้ว​ว่าจะต้องเคลียร์กากตะกอนสารเคมีออกจากโรงงาน​ ถ้าคิดในมุมไม่ดี​ ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่​ การเผาไม่ต้องเสียค่ากำจัด​ ซึ่งผู้ประกอบการต้องยอมรับด้วยว่าการกระทำแบบนี้มีผลกระทบต่อประชาชน​โดยรอบจำนวนมาก​ เรื่องนี้คงเป็นเรื่องการวางเพลิงไม่ได้​ จะต้องยกระดับความรุนแรง​ ปฏิบัติการแบบนี้หมายถึงความมั่นคงแล้ว​ ตนจึงขอความช่วยเหลือจากฝ่ายความมั่น​คง​ ไม่ว่าตำรวจหรือดีเอสไอ​ เข้าไปดูแลเรื่องนี้ด้วย​

พิมพ์​ภัทรา​ ยังกล่าวอีกว่า​ โรงงานที่ถูกศาลสั่งให้คืนพื้นที่และต้องจัดการกับกากสารเคมีทราบว่ามีกี่เจ้า​ เพียงแต่เวลาทำไม่ดีทำได้ง่ายกว่า​ คนที่ไม่รับผิดชอบทำง่ายกว่าคนที่รับผิดชอบ​ ซึ่งขณะนี้มีโรงงานในลักษณะ​ดังกล่าว​ 6-10 โรงงาน​

ส่วนจะเอาผิดโรงงานเหล่านี้ได้หรือไม่​ พิมพ์​ภัทรา​ กล่าวว่า​ วันนี้ที่ทำควบคู่กันไปคือ​กรมโรงงานอุตสาหกรรม​เสนอแก้กฎหมายเพิ่มโทษ​ พร้อมย้ำว่า​ เรื่องนี้เป็นภัยความมั่นคง​ ที่ชาวบ้านโดยรับได้รับผลกระทบ​ เราไม่ได้มองแค่เรื่องไฟไหม้​ แต่ยังมองไปถึงสภาพอาการที่ชาวบ้านต้องเจอ​ ส่วนที่เริ่มเข้าฤดูฝน​ขณะนี้มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ​และ​สิ่ง​แวดล้อม​มามอนิเตอร์เรื่องสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำ​ ตนเข้าใจว่าประชาชนในพื้นที่เจอปัญหามากที่สุด​ พร้อมระบุว่า ยืนยันได้ลำบากว่าน้ำจะปนเปื้อนสารเคมีจากโรงงานลงสู่แหล่งน้ำหรือไม่​ อย่างที่จังหวัดระยองและพระนครศรีอยุธยา​ ขณะนี้ได้ขอให้กรมป้องกัน​และ​บรรเทา​สาธารณภัย​ หรือ​ ปภ.​สร้างพนังกั้นน้ำ​ แต่ต้องดูว่าจะสามารถทำได้หรือไม่​ พร้อมยอมรับว่ามีความกังวล

พิมพ์​ภัทรา​ กล่าวทิ้งท้ายว่า​ ช่วงนี้ กมธ.การอุตสาหกรรมเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงไปชี้แจงทุกสัปดาห์​ ซึ่งสัปดาห์นี้หาไม่ติดธุระ​ ตนก็จะไป