นายจาตุรนต์ ฉายแสง แสดงความคิดเห็นหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กว่า นโยบายรัฐบาล ผลพวงของการสืบทอดอำนาจเผด็จการคสช.
ในการอภิปรายนโยบายรัฐบาลที่เพิ่งผ่านไปนี้ ฝ่ายค้านแสดงความไม่เชื่อว่ารัฐบาลนี้จะแก้ปัญหาของประเทศได้ ทั้งด้วยเหตุผลเกี่ยวกับความสามารถของบุคคลที่ปรากฏว่ากำลังหลักของรัฐบาลนี้ก็คือคนเดิมนั่นเอง ในเมื่อทำมา 5 ปีก็ล้มเหลวอย่างที่เห็นกันอยู่ จึงไม่เชื่อว่าที่จะทำต่อไปนี้จะดีขึ้น อีกเหตุผลหนึ่งก็เป็นเรื่องของนโยบายที่ไม่เป็นรูปธรรมไม่ชัดเจนว่าจะทำอะไรอย่างไร เป็นแต่นโยบายกว้างๆ สิ่งที่ฝ่ายค้านทวงถามอยู่บ่อยๆในการอภิปรายก็คือการขาดหายไปของนโยบายพรรคการเมืองต่างๆที่ประกาศไว้ในตอนหาเสียงซึ่งต้องถือว่าเป็นสัญญาประชาคม แต่กลับไม่ปรากฏในนโยบายนี้เอาเสียเลย
ผมอ่านนโยบายรัฐบาลแล้วก็ทำให้นึกถึงนโยบายรัฐบาลสมัยก่อนนานมาแล้วที่เขียนโดยสภาพัฒน์เป็นหลัก เวลาเขียนก็จะอิงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเสียเป็นส่วนใหญ่ และเนื่องจากเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคแต่นายกฯเป็นคนนอก ก็ต้องระวังไม่ให้นโยบายของพรรคใดพรรคหนึ่งเด่นกว่าพรรคอื่น จนไม่เหลือกลิ่นอายนโยบายของพรรคใดเลย การเขียนนโยบายแบบนั้นไม่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาของระบบพรรคการเมือง
นโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระยะหลังเป็นนโยบายแบบที่พรรคการเมืองร่วมกันเขียนตามที่สัญญาไว้กับประชาชนที่จะต้องชัดเจนเป็นรูปธรรม รู้ว่าจะทำอะไรเมื่อไหร่ให้เกิดผลในเวลาเท่าใด ด้วยงบประมาณมากน้อยแค่ไหน สิ่งเหล่านี้ไม่มีปรากฏในคำแถลงนโยบายนี้
การเขียนนโยบายแบบย้อนยุคนี้ไม่ได้บอกว่าปัญหาสำคัญๆของประเทศอยู่ในสภาพอย่างไรและจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นด้วยวิธีการหรือมาตรการอย่างไร จะเน้นเรื่องอะไร อ่านแล้วจะนึกภาพไม่ได้ว่าในเรื่องสำคัญของประเทศจะเกิดอะไรขึ้นใน 1 ปี 2 ปีหรือ 4 ปี ในนโยบายแต่ละด้าน คนเขียนมักจะเอาเรื่องสารพัดที่คิดว่าน่าจะดีหรือคงต้องทำอยู่แล้ว ใส่ๆเข้าไปให้เยอะๆเข้าไว้ อ่านแล้วไม่รู้ว่าแล้วที่จะทำนี้แตกต่างจากที่ทำอยู่และล้มเหลวอยู่อย่างไร
สิ่งที่เป็นกรอบทำให้ไม่สามารถเขียนอะไรได้ชัดเจน อาจจะไม่ใช่แค่กลัวพรรคไหนจะเด่นเกินไป แต่น่าจะเป็นเพราะการต้องทำให้แน่ใจว่านโยบายรัฐบาลจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปทั้งหลาย ซึ่งก็คงจะไม่มีใครรู้ดีกว่าสภาพัฒน์ซึ่งเป็นเลขาฯของคณะต่างๆที่ดูแลเรื่องเหล่านี้อยู่ด้วย
ว่าไปแล้ว ที่นโยบายออกมาอย่างนี้ก็เป็นผลพวงของการสืบทอดอำนาจเผด็จการคสช.นั่นเอง
ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสืบทอดอำนาจ รัฐมนตรีหลักๆหลายคนจริงๆแล้วก็อยู่ต่อในโควต้าพลเอกประยุทธ์ซึ่งมีสว. 250 คนอยู่ในมือ และรัฐมนตรีเหล่านี้ก็บอกเองว่าไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร ซ้ำยังย้ำอยู่เสมอว่าที่ทำมา 5 ปีกว่านั้นดีแล้ว ส่วนการที่รัฐบาลมีเสียงในสภาผู้แทนราษฏรแบบปริ่มน้ำซึ่งทำให้พรรคร่วมรัฐบาลมีอำนาจต่อรองมากก็จริง แต่นโยบายของพรรคการเมืองต่างๆก็ไม่อาจนำมาเขียนไว้ได้ด้วยเหตุผลข้างต้น อำนาจต่อรองก็ไปมีผลต่อการแบ่งเก้าอี้กันเสียมากกว่าจะเป็นการกำหนดนโยบาย
สภาพเงื่อนไขเหล่านี้ทำให้ในนโยบายนี้ ไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใดทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนเลยแม้แต่พรรคเดียว
เมื่อก่อนนี้ประชาชนค่อนประเทศเคยเห็นนโยบายที่พรรคการเมืองสัญญากับประชาชนไว้ปรากฏเป็นนโยบายรัฐบาลแล้วก็ถูกนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นผลขึ้นมา เป็นเรื่องแปลกที่หลังจากการเลือกตั้งผ่านไป 4 เดือน แล้วเราก็พบว่าประชาชนเกือบทุกคนไม่ว่าจะเลือกพรรคไหนมา เลือกพรรครัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน ต่างก็ตกที่นั่งเดียวกันหมดคือหานโยบายที่พรรคการเมืองให้สัญญาไว้ไม่เจอเลย
ยิ่งอ่านนโยบายรัฐบาลและฟังการอภิปรายในสภาโดยเฉพาะการชี้แจงของนายกรัฐมนตรีกับพวกแล้ว ด้วยนโยบายแบบนี้และด้วยกำลังหลักที่ล้มเหลวมาตลอด 5 ปี ยิ่งคาดหวังไม่ได้เลยว่ารัฐบาลนี้จะแก้ปัญหาของประเทศให้ดีขึ้นได้