WHO เตือนอย่าปรับหูฟังเสียงดังเกินไป
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกมาเตือนว่า ปัจจุบันมีคนวัยหนุ่มสาวอายุ 12 - 35 ปี กว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก เสี่ยงจะมีความบกพร่องทางการได้ยินจากการใช้หูฟังที่เปิดเสียงดังเกินไปติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยตอนนี้มีประชากรโลกราว 5 % หรือ 466 ล้านคน ที่สูญเสียการได้ยินไปแล้ว และในกลุ่มนี้เป็นเด็กและเยาวชนมากถึง 34 ล้านราย
WHO ระบุว่า การฟังเสียงดังระดับ 85 เดซิเบล ติดต่อกันเป็นเวลาหลายชั่วโมง เข้าข่ายไม่ปลอดภัย และถ้าฟังเสียงดังถึง 100 เดซิเบล แค่ 15 นาทีก็ถือว่าอันตรายแล้ว ซึ่งหูฟังในท้องตลาดส่วนมากสามารถฟังเสียงได้ดังสูงสุดระหว่าง 100 - 120 เดซิเบล ผู้ใช้งานจึงไม่ควรเปิดหูฟังที่ระดับความดังสูงสุด เนื่องจากจะเป็นอันตรายต่อการได้ยิน
อย่างไรก็ตาม พบว่า วัยรุ่นจำนวนมาก มักฟังเพลงผ่านหูฟังด้วยเสียงที่ดังจนเกินไป เพื่อเป็นการปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอก WHO จึงระบุว่าผู้ปกครองควรช่วยตักเตือนบุตรหลานว่าหากสูญเสียการได้ยินไปแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่จะรักษาให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ ส่วนผู้ผลิตหูฟังก็ควรมีมาตรฐานการตั้งระดับเสียงสูงสุดให้ไม่เป็นอันตรายต่อการได้ยิน
ยอดขายสมาร์ตวอตช์โต 61%
NPD Group บริษัทวิจัยการตลาดในสหรัฐฯ ทำการสำรวจพบว่ายอดขายของสมาร์ตวอตช์ในปีที่แล้ว เติบโตขึ้นถึง 61 % ในแง่จำนวนสินค้า และเติบโตขึ้น 51 % ในแง่จำนวนเงิน โดยผู้ซื้อสมาร์ตวอตช์ส่วนมากเป็นคนหนุ่มสาวอายุราว 18-34 ปี ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างเทรนด์การสวมใส่สมาร์ตวอตช์ แทนการสวมใส่นาฬิการะบบอนาล็อก หรือนาฬิกาดิจิทัลแบบดั้งเดิม ขณะที่ กลุ่มผู้ใหญ่ก็มีแนวโน้มที่จะเลือกสวมใส่สมาร์ตวอตช์มากขึ้น โดยเฉพาะประเภทที่มีฟีเจอร์ดูแลสุขภาพ โดยขณะนี้ มีผู้ใหญ่ชาวอเมริกันสวมใส่สมาร์ตวอตช์แล้วประมาณ 16 %
จากการสำรวจของ NPD พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สมาร์ตวอตช์เติบโตได้สูงมาก คือ เทคโนโลยีของสัญญาณ LTE ที่ทำให้สมาร์ตวอตช์สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนได้ตลอดเวลา รวมถึงราคาที่ถูกลงและความสามารถที่เพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้ผู้บริโภคมองว่าแวเรเบิลประเภทนี้มีความคุ้มค่ามากกว่านาฬิกาประเภทอื่น ๆ โดยมี Apple, Samsung และ Fitbit ที่ครอบครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 88 % ในขณะที่แบรนด์ผู้ผลิตนาฬิกาดั้งเดิมก็พยายามพัฒนาสมาร์ตวอตช์ของตัวเองออกมา เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ฟอร์ดพัฒนา 'เตียงอัจฉริยะ' แก้ปัญหาโดนนอนเบียด
หลายคนที่มีคู่ร่วมนอนเตียงเดียวกัน อาจเจอกับปัญหาที่คู่ของตัวเองเป็นคนนอนกลิ้ง แล้วต้องโดนเบียดที่นอนจนแทบจะตกเตียงทุกคืน ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะจะทำให้ร่างกายเหนื่อยล้าจากการนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ฟอร์ด ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอเมริกัน จึงพัฒนาเตียงอัจฉริยะเพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยเฉพาะ โดยมีการใช้เทคโนโลยีที่ป้องกันรถยนต์ไม่ให้ขับเบี้ยวออกจากเลนตัวเองมาใช้กับเตียงนอน ด้วยการติดเซนเซอร์รับน้ำหนักไว้ที่ใต้เตียง หากน้ำหนักของผู้นอนมีการเคลื่อนย้ายตำแหน่งจากฝั่งของตัวเองไปอีกฝั่งหนึ่ง ฟูกนอนที่ติดมอเตอร์จะสามารถเลื่อนตำแหน่งไปยังฝั่งตรงข้ามได้เพื่อเคลื่อนให้ผู้นอนย้ายกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิม
อย่างไรก็ตาม เตียงอัจฉริยะนี้ไม่ได้ถูกพัฒนาออกมาเพื่อวางจำหน่าย แต่เพื่อแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีที่ใช้ในรถยนต์ก็สามารถนำมาดัดแปลงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทั่วไปได้ ซึ่งผลสำรวจในสหรัฐฯ ชี้ว่าคนที่มีคู่จำนวนมากมีปัญหาการนอนหลับไม่สนิท โดยคนมีคู่ 26 % ยอมรับว่าการนอนคนเดียวจะนอนหลับได้สนิทมากกว่า และ 9 % เลือกที่จะแยกห้องนอนกับคู่ของตัวเอง เพื่อการนอนหลับพักผ่อนที่ดีกว่า