รำลึก 26 ปี เหตุการณ์พฤษภา 35 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของไทย ในสมัยพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งประชาชนออกมาประท้วงต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ช่วงวันที่ 17-24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 การประท้วงต่อต้านในเหตุการณ์นี้นำไปสู่การราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยพลเอกสุจินดา แถลงว่ามีผู้เสียชีวิต 40 คน บาดเจ็บ 600 คน และเหตุการณ์ก็จบด้วยการที่ พล.อ.สุจินดา ประกาศลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และนายอานันท์ ปันยารชุน ก็ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีชั่วคราวและมีการจัดการเลือกตั้งในเวลาต่อมา
และหนึ่งในบุคคลที่ร่วมเหตุการณ์พฤษภา 35 และเป็นผู้นำของนักศึกษารามคำแหงคือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งใช้พื้นที่รามคำแหงรวบรวมประชาชนออกมาแสดงพลังต่อต้านการสืบทอดอำนาจ และสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยกล้าที่จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เมื่อเทียบกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน หลายคนกังวลว่า เหตุการณ์จะซ้ำรอย
ทั้งนี้ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะเดินทางมาที่ทำเนียบ เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ด้านพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ เชื่อว่า เหตุการณ์วันที่ 22 พ.ค.61 จะไม่มีการเดินทางมาทำเนียบ และจะไม่มีการปะทะกัน โดยใช้กฎหมายปกติรับมือกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ขณะที่เมื่อวันที่ 17 พ.ค.61 พรรคเพื่อไทย ถูกฟ้อง 4 ข้อหา หลังพยายามจัดแถลงข่าวประเมินผลงาน 4 ปี รัฐบาล คสช. ที่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการแสดงพลังเรียกร้องการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ก็ได้แสดงความเห็นว่า คสช. ควรปล่อยให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะความรู้สึกของคนกลุ่มนี้ เป็นความรู้สึกของคนทั้งโลก เมื่อมีรัฐธรรมนูญ ประชาชนก็ควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น