ไม่พบผลการค้นหา
3 นักเศรษฐศาสตร์ชี้ปม ศก.ไทย รวยกระจุก-จนกระจาย
Nov 16, 2017 15:26

นักเศรษฐศาสตร์ย้ำปมเศรษฐกิจไทยแข็งนอก-อ่อนใน แข็งบน-อ่อนล่าง ดีขึ้นแต่เคยดีกว่านี้ ชี้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น ไม่กล้าใช้จ่าย เศรษฐกิจไม่หมุนถึงรากหญ้า ความเหลื่อมล้ำไม่ลดลง ฟากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์เผยผลสำรวจ 48% เชื่อเศรษฐกิจไทยปี 2561 ทรงตัว 

สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์จัดสัมมนาประจำปี ชวน 3 นักเศรษฐศาสตร์ ศิษย์เก่าวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจปี 2561 โดยดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ดร.อมรเทพ จาวะลา ดร.ชนินทร์ มโนภินิเวส 

เศรษฐกิจไทยปี'61 โตเท่าเดิม

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) บอกว่า ปี 2560 เป็นปีแรกที่หลายสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ขึ้นจากต้นปี หลังจากช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ ต้นปีจะมีตัวเลขประมาณการที่สูง แล้วค่อยปรับลงในช่วงปลายปี 

"ต้นปีนี้ แบงก์ชาติและนักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่า จีดีพีไทยจะโตที่ 3.2% แต่ตอนนี้ทุกสำนักมองว่า จะโตที่ 3.7-3.8% ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เราปรับประมาณการขึ้น แสดงว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนปีหน้า (2561) หลายค่ายมองว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็จะใกล้เคียงกับปีนี้" 

การปรับประมาณการจีดีพีที่ขยายตัวมาใกล้ 4% ในตอนนี้ เป็นผลมาจากการส่งออกที่ขยายตัวได้เกือบ 10% จากเมื่อ 3 ปีก่อนติดลบ แต่ปีนี้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และเป็นการฟื้นตัวไปพร้อมๆ กันทั้งโลก ส่งผลให้การค้าโลกไปได้ดี และส่งผลให้ส่งออกไทยขยายตัวด้วย

เพียงแต่ตัวเลขจีดีพีและการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมา กลับไม่ได้ทำให้คนทั่วไปรู้สึกดีขึ้นด้วย นั่นเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยตอนนี้ "แข็งนอก - อ่อนใน" คือ เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวในปีนี้และน่าจะต่อเนื่องถึงปีหน้านั้น เป็นอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ของเศรษฐกิจข้างนอก แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ค่อยเห็นเท่าไร 

Untitled-1.jpg

ตัวต่อมาคือ "แข็งบน-อ่อนล่าง" คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ได้ส่งไปถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น การเติบโตของการท่องเที่ยว ก็มีเพียงไม่กี่จังหวัดที่รับอานิสงส์ หรือการฟื้นตัวของการส่งออกในระยะแรกมาในรูปของยอดขายที่เพิ่มขึ้น แต่การผลิตยังไม่เพิ่มขึ้น จึงไม่ส่งผลไปที่การใช้กำลังแรงงาน การเพิ่มค่าจ้างและโอทีของแรงงาน แต่ถ้าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเดินไปอย่างนี้เรื่อยๆ ก็อาจจะส่งผลต่อการเพิ่มแรงงาน ค่าจ้างค่าโอที ซึ่งต้องใช้เวลา 

สุดท้าย "ดีขึ้น แต่เคยดีกว่านี้" ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ราคาสินค้าเกษตร เช่น ราคาข้าว ที่ช่วงนี้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เพราะราคาข้าวในตลาดโลกดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว 10% แต่ช่วงปี 2550-2551 มันเคยดีกว่านี้ และราคาปัจจุบันต่ำกว่า 10 ปีก่อนถึง 3 เท่า หรือราคายางในประเทศ มันเคยมีราคาถึงกิโลกรัมละ 100 บาทกว่าๆ ตอนนั้นเศรษฐกิจภาคใต้เฟื่องฟูมาก แต่วันนี้ราคายางกลับต่ำกว่าตอนนั้นถึง 3 เท่า สิ่งเหล่านี้จึงทำให้คนไทยกว่า 30-40% ที่อยู่ในภาคเกษตร จึงรู้สึกว่า เงินในกระเป๋ายังไม่ได้เพิ่มเลย แม้ตัวเลขเศรษฐกิจมันจะเพิ่มขึ้น ก็ตาม

"ก็หวังว่า ถ้าแนวโน้มของเศรษฐกิจดีขึ้นไปเรื่อยอย่างนี้ น่าจะใช้เวลาสักพักหนึ่ง และถ้าไม่มีความเสี่ยงอื่นๆ มากระทบเสียก่อน ถ้ามองโลกในแง่ดี ก็คิดว่า สักระยะหนึ่งอานิสงส์จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้น น่าจะส่งผลให้กว้างขึ้นและลึกลงไปได้" ดร.พิพัฒน์กล่าว

ด้าน ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยที่เติบโตปีนี้ เหมือนทุเรียน ที่ข้างนอกแข็ง แต่ข้างในนิ่ม ละลายในปาก คือเศรษฐกิจขยายตัวดี จากการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง ท่องเที่ยวเติบโตขึ้น แม้ไม่ได้โตทุกจังหวัด แต่กำลังการผลิตยังเหลือ สต็อกก็ยังเหลือ ธุรกิจจึงยังไม่ลงทุน 

000_9L6PN.jpg

"ปีนี้เราอาจดีใจที่ส่งออกโตได้ 8% แต่เรากลับต่ำที่สุดในภูมิภาค อย่าไปดีใจกับตัวเลขนี้ ดูอย่างเวียดนาม 9 เดือนแรกโต 20% แต่การส่งออกไทยโตได้เพราะโชคดี เพราะสินค้าส่งออกเกี่ยวกับโภคภัณฑ์ ซึ่งปีนี้ราคาสูงเมื่อเทียบปีที่แล้ว เป็นโชคที่ราคาขยับ แล้วถามว่า เราเก่งมั้ย เราก็ต้องดูว่า ผลิตอะไร ผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการของห่วงโซ่อุปทานของโลกมั้ย ซึ่งสำหรับประเทศไทย ผมว่า เป็นโชคครึ่ง เก่งครึ่ง และการใช้โชคมันไม่ยั่งยืน" 

ส่วนการคาดการณ์ส่งออกปี 2561 คาดว่า จะไม่โชคดีเหมือนปีนี้ เพราะราคาน้ำมันราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะเริ่มนิ่ง และส่งออกอาจไม่โตระดับ 8-9% แม้ยังเป็นบวก ซึ่งต้องจับตา ว่าการส่งออกที่ดีขึ้น จะส่งผ่านถึงอุปสงค์ในประเทศแค่ไหน ทำให้มีการลงทุน บริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นหรือไม่ หลังจากการลงทุนเอกชนหดตัวมา 3 ปีซ้อน ดังนั้น จึงคาดว่า จะเริ่มเห็นการลงทุนเอกชนขยับขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีนี้ถึงกลางปี 2561 จากการเห็นการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้นมา

"เชื่อว่า จีดีพีปีหน้าจะโตใกล้เคียงกับปีนี้ และอยากให้สนใจไส้ในว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้า ไม่ได้มาจากการส่งออกและท่องเที่ยวเท่านั้น แต่จะขยับที่อุปสงค์ในประเทศ ซึ่งจะทำให้คนทั่วไปจะเริ่มรู้สึกมากขึ้นว่า เศรษฐกิจดีจริง" ดร.อมรเทพกล่าว

ทั้งนี้ ในระหว่างการเสวนา ได้มีการสำรวจความเห็นของผู้เข้าร่วมงาน ถามว่า คิดว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะเป็นอย่างไร มีผู้ตอบแบบสำรวจ 173 คน โดย 48% บอกว่า เศรษฐกิจปีหน้าโตเท่ากับปีนี้ 41% บอกว่า โตมากกว่าปีนี้ และ11% บอกโตต่ำกว่าปีนี้


000_I22MX.jpg

จีดีพียิ่งโต ช่องว่างเหลื่อมล้ำยิ่งกว้าง

คำถามต่อมา ปัญหาเรื่องรวยกระจุก จนกระจายในปี 2561 จะยังมีอยู่หรือไม่ และเศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังเติบโตบนความเหลื่อมล้ำหรือไม่

ฟาก ดร.ชนินทร์ มโนภินิเวส นักเศรษฐศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน ธนาคารโลก ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา มีการเจริญเติบโตและความยากจนลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่��วามเหลื่อมล้ำไม่ได้เปลี่ยนแปลงนัก ซึ่งเป็นความท้าทายของไทยและอีกหลายประเทศ 

สำหรับประเทศไทยแล้ว มีการเติบโตในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นหลัก หรือดูจากการทดสอบความสามารถในการแข่งขัน จาก PISA Score พบว่า นักเรียนในกรุงเทพทำได้ดีเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วในยุโรปด้วยซ้ำ แต่ถ้าดูนักเรียนนอกกรุงเทพออกไปคะแนนก็ตกลง  

"เศรษฐกิจไทยโดน 2 หมัด คือ หนึ่งเศรษฐกิจโต แต่ไม่กระจาย โดยโครงสร้าง สอง ปัญหาโลกกระทบซ้ำ จากราคาสินค้าเกษตรที่ตกลงมา ซึ่งเป็นความท้าทายของเศรษฐกิจไทย และมีผลต่อผู้ประกอบการรายย่อยด้วย ไม่ใช่กับคนจนเท่านั้นด้วย ดังนั้นเวลามีการขยับของเศรษฐกิจคนที่อยู่เหนือเส้นความยากจนไม่มาก ก็อาจได้รับผลกระทบได้" ดร.ชนินทร์กล่าว

ส่วนดร.อมรเทพ บอกว่า เศรษฐกิจไทยปี 2560 มีลักษณะที่เรียกว่า "ทฤษฎีถั่วต้ม" คือ ถั่วต้มราคา 20 บาทบนท้องถนน ขายไม่ได้ ขายไม่ดี ทั้งที่อยู่บนเส้นทางผ่านของผู้ซื้อที่เป็นมนุษย์เงินเดือน มีรายได้ประจำ แต่ไม่ซื้อของราคาเท่านี้ กลายเป็นของถูกขายยาก ต่างจากของแพงกลับขายได้ ประเด็นจึงอยู่ที่ความเชื่อมั่น เมื่อไม่มี คนจึงไม่ใช้เงิน แล้วกลายเป็นว่า คนออม 1 คน ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าคนทุกคนทั้งประเทศ ออมกันหมด กลายเป็นเงินไม่หมุน คนไม่ใช้จ่าย คนยิ่งประหยัด ประเทศยิ่งจน 

"พอคนไม่มั่นใจ ไม่ยอมใช้จ่าย มีเงินก็เอาไปใช้หนี้หรือเก็บเงินไว้ เงินไม่หมุนในระดับล่าง ขึ้นมาถึงเอสเอ็มอกลางและบน ภาพจึงบ่งชี้ว่า ความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่ ดังนั้นเอสเอ็มอีที่เชื่อมโยงกับภาคต่างจังหวัด ภาคบริการในเมือง จึงได้รับผลกระทบแรงกว่าภาคธุรกิจรายใหญ่" ดร.อมรเทพกล่าว


รายงานโดย : อังศุมาลิน บุรุษ