ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยล ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า ‘อินโทรเวิร์ต (introvert)’ ที่ชอบอยู่คนเดียวในโลกส่วนตัวนั้น มีแนวโน้มที่จะเป็นนักจิตวิทยาที่ดี และเข้าใจพฤติกรรมของผู้คนในสังคมได้มากกว่า ‘เอ็กซ์โทรเวิร์ต (extrovert)’ ที่ชอบเข้าสังคม
วารสารจิตวิทยาสังคม หรือ Social Psychology ตีพิมพ์วิจัยที่สำรวจว่าบุคคลลักษณะใดที่มีแนวโน้มจะทำนายพฤติกรรมของคนในสังคมได้ดี ซึ่งการทดลองนี้นำโดยสองนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเยล คือแอนตัน กอลวิตเซอร์ (Anton Gollwitzer) และจอห์น บาร์จฮ์ (John Bargh)
โดยผู้ร่วมทดสอบจำนวนหนึ่งพันคนต้องตอบคำถามออนไลน์ เพื่อวัดว่าใครสามารถเป็นนักจิตวิทยาที่ดีได้ ซึ่งหลังจากได้คำตอบมา ทีมงานจะแบ่งการศึกษาออกเป็น 6 กลุ่ม เพื่อหาลักษณะเฉพาะของคนแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการประเมินว่าความแตกต่างของแต่ละบุคคลส่งผลต่อจิตวิทยาสังคมหรือไม่ ตัวแปรทางจิตวิทยาใดที่สามารถใช้คาดการณ์ทักษะด้านจิตวิทยาสังคมได้บ้าง
ผลการวิจัยออกมาว่า คนที่มีลักษณะอินโทรเวิร์ตหรือขี้อายนั้นจะตอบคำถามได้ถูกต้องกว่าคนที่เป็นเอ็กซ์โทรเวิร์ต เนื่องจากคนที่มีโลกส่วนตัวสูงมักจะใช้เวลาอยู่กับตนเองและสำรวจผู้อื่น ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้เข้าใจจิตวิทยาของผู้คนตามสภาพสังคมได้ดี นอกจากนั้น ปัจจัยที่ส่งผลให้คนที่เป็นอินโทรเวิร์ตเข้าใจสังคมได้ดียังมาจากเชาวน์ปัญญา ความเต็มใจที่จะเผชิญปัญหาซับซ้อน รวมไปถึงความหดหู่ และการที่รู้สึกว่าตนเองด้อยค่า
โดยกอลวิตเซอร์อธิบายว่า การวิจัยนี้นอกจากจะทำให้รู้ว่าคนที่มีโลกส่วนตัวสูงสามารถเป็นนักจิตวิทยาที่ดีได้แล้ว อินโทรเวิร์ตยังอาจช่วยคาดการณ์กระบวนการทางความคิดของประชาชนต่อประเด็นสำคัญอย่าง การเมือง และวัฒนธรรมได้เช่นกัน ซึ่งกลุ่มผู้ปกครองและผู้มีอำนาจในปัจจุบันยังอาจขาดคนอินโทรเวิร์ตไปร่วมงานอยู่