บริษัทผู้ค้าผลิตภัณฑ์จากไม้และรับเหมาก่อสร้างอาคารรายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น เผยแผนการสร้างตึกลูกผสมระหว่างไม้กับเหล็กที่จะมีความสูงที่สุดในโลก คาดแล้วเสร็จในปี 2041 เนื่องในโอกาศครบรอบ 350 ปีของการทำธุรกิจตั้งแต่ยุคบุกเบิก
ปี 2018 ถือเป็นปีสำคัญของบริษัท ซูมิโตโมะ ฟอร์เรสทรี จำกัด (Sumitomo Forestry) ที่ได้ก่อตั้งบริษัทด้านการรับเหมาก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่และเป็นผู้ค้าผลิตภัณฑ์จากไม้รายใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งได้ก่อตั้งมาครบ 70 ปีเต็มในวันนี้ (20 ก.พ.) และเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จอันยาวนานกว่า 7 ทศวรรษ บริษัท ซูมิโตโมะ ฟอร์เรสทรี ประกาศแผนอภิมหาโปรเจคในการสร้างอาคารไม้ที่สูงที่สุดในโลก ด้วยความสูงทั้งสิ้น 70 ชั้นภายใต้ชื่อW350 มีกำหนดแล้วเสร็จมในปี 2041 ซึ่งจะเป็นปีแห่งการครบรอบปีที่ 350 หลังจากที่ได้เริ่มทำธุรกิจนี้มาตั้งแต่ยุคบุกเบิก
โครงสร้างส่วนใหญ่ของอาคารไม้ระฟ้า W350 แห่งนี้จะประกอบไปด้วยโครงสร้างจากไม้จริงเกือบทั้งหมดเป็นจำนวน 180,000 ลูกบาศก์เมตร และมีเหล็กกล้าเป็นส่วนประกอบของตัวอาคารเพียง 10% เท่านั้นซึ่งจะทำหน้าที่สำคัญบริเวณแกนกลาง มีการวางเหล็กในรูปแบบถักทอกันเป็นเส้นทะแยงมุมตลอดแนวความสูงของตัวตึก เพื่อทำหน้าที่ป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ อาคาร W350 แห่งนี้จะกลายเป็นที่พักอาศัยให้กับครอบครัวกว่า 8,000 ครอบครัว ที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่ใจกลางเมือง และถูกรายล้อมไปด้วยสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติและพื้นที่สีเขียวมากมาย ด้วยการประดับตกแต่งด้วยต้นไม้จริงบริเวณระเบียงของทุกห้องในอาคาร
ทางบริษัทซูมิโตโมะประเมิบงบประมาณในการก่อสร้างอาคารไม้ที่สูงที่สุดในโลกแห่งนี้ไว้ที่ 5,600 ล้านดอลลาร์ หรือราว 176,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าการก่อสร้างอาคารด้วยคอนกรีตแบบทั่วไปถึง 2 เท่าตัว อย่างไรก็ตามบริษัทซูมิโตโมะชี้ว่าราคาต้นทุนในการก่อสร้างมีแนวโน้มที่จะลดลงในอนาคตระหว่างการเริ่มก่อสร้างไปจนถึงปี 2041 ซึ่งเป็นปีที่ทางบริษัทตั้งใจจะสร้างตึกให้เสร็จสมบูรณ์
หนึ่งข้อกังขาที่หลายฝ่ายกังวลก็คือเรื่องของกรณีการเกิดอัคคีภัย ทางบริษัทยืนยันว่าไม้ทุกชิ้นที่ใช้จะผ่านกระบวนการที่ทำให้ไม่ติดไฟหากเกิดเพลิงไหม้ และในอุณหภูมิที่สูงก็จะคงสภาพได้ดีกว่าคอนกรีตหรือเหล็กกล้าที่จะยืดขยายตัวมากกว่าไม้ และประโยชน์หลักอีกอย่างหนึ่งของอาคารไม้ก็คือการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แทนการปล่อยก๊าซดังกล่าวออกมา ตรงกันข้ามกับอาคารคอนกรีตและเหล็กกล้าที่จะทิ้งคาร์บอนฟุตพริ้นท์สู่สิ่งแวดล้อมและปล่อยก็าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศราว 5-8%
แนวคิดของการก่อสร้างอาคารแห่งนี้สอดคล้องกับการที่ญี่ปุ่นได้ผ่านกฎหมายเมื่อปี 2010 กำหนดให้บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างจำเป็นจะต้องใช้ไม้เป็นส่วนประกอบของอาคารสาธารณะที่มีความสูงไม่เกิน 3 ชั้น จึงทำให้แนวคิดการสร้างอาคารด้วยไม้ไม่ใช่ไอเดียใหม่แต่อย่างใด ที่สำคัญอาคารสูงที่สร้างด้วยไม้ถูกสร้างขึ้นมาแล้วหลายแห่งทั่วโลก เช่น อาคารสำนักงานไม้ในมินนิอาโปลิส มลรัฐมินนิโซตา ของสหรัฐฯ และอาหารที่พักนักศึกษาสูง 53 ชั้นในนครแวนคูเวอร์ของแคนาดา ซึ่งขณะนี้ครองตำแหน่งอาคารไม้ที่สูงที่สุดในโลก