สถาบันศึกษาผลกระทบจากมลพิษทางอากาศเปิดเผยว่าประชากรโลกกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ กำลังเผชิญกับอากาศเสีย โดยประเทศยากจนเป็นกลุ่มที่ได้รับผลเสียมากที่สุด
สถาบันศึกษาผลกระทบมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพ หรือ HEI ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรในสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลล่าสุดที่ระบุว่า ประชากรโลกกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ กำลังเผชิญกับมลพิษทางอากาศ และประเทศยากจนได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะไม่มีแผนรองรับหรือแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศที่มีมลพิษมากที่สุดกับน้อยที่สุดก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
นอกจากมลพิษทางอากาศภายนอกอาคารแล้ว ข้อมูลล่าสุดยังชี้ว่า ในพื้นที่ชนบท ห่างไกลจากเมือง ก็เผชิญปัญหาอากาศเสียเช่นกัน โดยอากาศเสียภายในอาคารมักเกิดจากการใช้เชื้อเพลิงหุงต้ม ซึ่งโดยรวมแล้วจะมีประชากรโลกราว 1 ใน 3 ที่ได้รับอากาศเสียจากทั้งในและนอกอาคาร
การศึกษาดังกล่าวใช้ข้อมูลจากดาวเทียมและการตรวจสอบจำนวนประชากรในพื้นที่ที่มีค่ามลพิษสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ซึ่งปัจจุบัน เมื่อพิจารณาสถิติทั่วโลกแล้ว มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 4 ตามหลังความดันโลหิตสูง โภชนาการ และการสูบบุหรี่ โดยปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิตเพราะอากาศกว่า 6 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งมากกว่าครึ่งอยู่ที่จีนและอินเดีย
สำหรับประเทศไทย มีฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เฉลี่ยอยู่ที่ 23 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในปี 2016 ถือเป็นพื้นที่สีเหลือง ความเข้มข้นระดับ 2 จากทั้งหมด 5 ระดับ โดยระดับ 5 เป็นพื้นที่ที่มีมลพิษมากที่สุด นอกจากนั้น ในปีเดียวกันนี้ยังมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ 25,432 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2010 รวม 3,458 คน โดยผู้เสียชีวิตมีอายุเฉลี่ย 33.6 ปี ซึ่งถือว่ามีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับปี 1990 ที่ผู้เสียชีวิตจะมีอายุประมาณ 51.4 ปี