การมอบหมายให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.มาคุมการแก้วิกฤตพลังงาน-อาหาร ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ทำให้ถูกวิจารณ์จากหลายฝ่ายว่าอาจเป็นการวางโครงสร้างที่ “ผิดฝาผิดตัว” นอกจากจะไม่สามารถช่วยแก้วิกฤตด้านพลังงานได้จริงแล้ว ยังอาจจะเป็นการสร้างปัญหาหลายอย่างตามมาอีกด้วย เพราะ สมช.ถนัดงานความมั่นคงทางทหารไม่ใช่ด้านพลังงานหรือเศรษฐกิจ ที่สำคัญการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องนโยบาย วิสัยทัศน์และประสิทธิภาพของผู้นำ ไม่ใช่แค่เอา “ทหารนำเศรษฐกิจ” ก็จะแก้ไขได้ง่ายๆ
ดังนั้นการมอบให้ สมช.คุมแก้วิกฤตพลังงาน จึงไม่ใช่แค่การวางคน “ผิดฝาผิดตัว” เท่านั้น แต่น่าจะสะท้อนไปถึงการแก้ปัญหาที่ “ผิดทิศผิดทาง”อีกด้วย เพราะเปรียบเสมือนการเอาเลขา สมช. มาทำหน้าที่รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ เป็นการเพิ่มขั้นตอนและความซ้ำซ้อนของการทำงาน ส่วนนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจกลับลอยตัว จนมีการนำไปเปรียบเทียบกับวิธีทำงานของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. ที่เข้าถึงและตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยตัวเอง