ผลสํารวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปีล่าสุด จากเอ็ดด้า ไทยแลนด์ พบสถิติที่น่าสนใจหลายเรื่อง
ใน "รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2561 ที่จัดทำโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็ดด้า พบว่า ปีที่ผ่านมา คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตวันละ 10 ชั่วโมง 5 นาที เพิ่มจากปี 2560 ถึง 3 ชั่วโมง 30 นาที โดยการใช้งานอินเทอร์เน็ตในช่วงวันหยุดจะเพิ่มเกือบถึง 11 ชั่วโมงต่อวัน
สำหรับกิจกรรมยอดนิยม 5 อันดับแรก คือการใช้สื่อสังคมออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ ยูทูป ไลน์ อินสตาแกรม และเฟซบุ๊ก ซึ่งเฟซบุ๊กเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่คนไทยใช้มากติดอันดับโลก ซึ่งก่อนหน้านี้เฟซบุ๊ก รายงานว่า กรุงเทพ เป็นเมืองหลวงที่มีการใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดในโลกคือกว่า 22 ล้านบัญชี ส่วนยอดรวมในประเทศไทย มีการใช้เฟซบุ๊กมากเป็นอันดับ 8 ของโลก หรือมากกว่า 51 ล้านบัญชี ขณะที่คนไทยใช้ไลน์ ก็ติดอันดับ 1 ใน 4 ประเทศหลักที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลกเช่นกัน
กิจกรรมยอดนิยมบนอินเทอร์เน็ตอันดับต่อมาคือ การรับส่งอีเมล ค้นหาข้อมูล ดูโทรทัศน์ คลิปและฟังเพลงออนไลน์ ส่วนอันดับสุดท้ายคือการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ในรายงานฉบับนี้ ระบุว่า คนไทยทุกเจนเนอเรชั่น ต่างมีความเสี่ยงในการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งนั้น เช่นคนยุคเบบี้บูม จะละลายการดูแลข้อมูลส่วนตัวมากที่สุด เช่น ไม่ลบประวัติรหัสผ่าน ประวัติการใช้งานออกจากเครื่องคอมพิวเตอร์สาธารณะ ไม่ลงชื่อออกจากระบบต่าง ๆ เมื่อใช้งานเสร็จ
ส่วนคนเจน Y มักอัปโหลดรูปภาพ เช่นตั๋วเครื่องบินก่อนการเดินทาง การอัปคลิปวิดีโอและตั้งค่าเป็นสาธารณะ การบอกรหัสผ่านต่างๆ กับเพื่อนสนิท หรือแม้แต่การแชร์ตำแหน่งการใช้งานแบบเรียลไทม์
ขณะที่คนเจน Z มักบอกวันเดือนปีเกิดที่แท้จริงและตั้งค่าเป็นสาธารณะ เปิดอีเมลหรือคลิกลิ้งก์ที่ไม่รู้จัก และการตั้งค่าให้คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือจดจำรหัสผ่านต่าง ๆ