อดีตพนักงานฝ่ายตรวจสอบเนื้อหารุนแรงบนเฟซบุ๊ก ยื่นฟ้องบริษัทฐานไม่มีมาตรการปกป้องพนักงาน เมื่อได้รับบาดแผลทางจิตใจ จากการต้องดูภาพและวิดีโอที่มีเนื้อหารุนแรงทุกวันติดต่อกัน
เซเลนา สโกลา อดีตพนักงานตรวจสอบเนื้อหาบนเฟซบุ๊ก ยื่นฟ้องร้องบริษัทเฟซบุ๊กว่า ไม่มีมาตรการป้องกันบาดแผลทางจิตใจของพนักงาน จากการต้องดูภาพและวิดีโอที่มีเนื้อหารุนแรงทุกวัน เพื่อพิจารณาว่าเนื้อหาใดที่ละเมิดเงื่อนไขการใช้เฟซบุ๊ก ทำให้เธอได้รับบาดแผลทางจิตใจ และต้องเผชิญกับความเครียดรุนแรงหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือที่เรียกว่าอาการ PTSD โดยสโกลาระบุว่า เธอต้องทนดูผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์วิดีโอ ภาพ และการถ่ายทอดสดการล่วงละเมิดเด็ก การข่มขืน ทรมาน การมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ การฆ่าตัดคอ การฆ่าตัวตาย และการฆาตกรรมหลายล้านโพสต์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเธออย่างมาก
ปัจจุบัน เฟซบุ๊กมีพนักงานตรวจสอบเนื้อหาในลักษณะนี้อย่างน้อย 7,500 คน และมีมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานสำหรับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาบนเฟซบุ๊กอยู่แล้ว ทั้งการรับคำปรึกษาและการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต ฝึกฝนให้สามารถสังเกตอาการเริ่มต้นของ PTSD ได้ อย่างไรก็ตาม สโกลาระบุว่า เฟซบุ๊กละเลยมาตรการความปลอดภัยในการทำงานของตัวเอง และยังละเมิดกฎหมายของมลรัฐแคลิฟอร์เนียในการให้พนักงานทำงานในสภาพอันตราย ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต อีกทั้งยังระบุว่า เฟซบุ๊กไม่ได้จัดอบรมหรือให้มาตรการความปลอดภัยอย่างเพียงพอ ทำให้พนักงานตรวจสอบเนื้อหาแทบไม่รู้ว่าต้องรับมือกับความเครียดที่ตามมาอย่างไร
ในหนังสือยื่นคำร้องระบุว่า อาการ PTSD ของสโกลาจะถูกกระตุ้นขึ้นมา เมื่อเธอเพียงแค่จับเมาส์คอมพิวเตอร์ หรือเข้าไปในอาคารที่อากาศหนาวเย็น เห็นความรุนแรงในทีวีหรือได้ยินเสียงดัง นึกถึงและพูดคุยเกี่ยวกับภาพที่เธอเห็นบนเฟซบุ๊ก โดยสิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เธอมีอาการ PTSD ขึ้นมาด้วยเช่นกัน ด้านเบอร์ตี ธอมสัน ผู้อำนวยการการสื่อสารองค์กรของเฟซบุ๊ก ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีนี้ว่า เฟซบุ๊กรับรู้ว่างานนี้เป็นงานยาก บริษัทจึงจัดอบรมและมอบสวัสดิการให้กับพนักงานตรวจสอบเนื้อหาบนเฟซบุ๊ก เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนที่ทำหน้าที่นี้ได้รับความช่วยเหลือด้านจิตวิทยาและเข้าถึงทรัพยากรด้านสุขภาพ เช่น มีพื้นที่ผ่อนคลายสำหรับพนักงาน