หลังจากที่เป็นประเด็นร้อนทั้งในไทยและระดับโลก ต่อเนื่องจากช่วงวันสิ่งแวดล้อมโลก ล่าสุด มีงานวิจัยที่ชี้ว่าขยะพลาสติกสามารถนำมาแปรรูปเป็นพลังงานได้
ผลการศึกษาล่าสุดของศูนย์วิศวกรรมโลก คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยชุมชนแห่งนิวยอร์ก นำเสนอว่า ขยะพลาสติกสามารถนำไปผลิตเชื้อเพลิงและพลังงานได้ ซึ่งจะช่วยลดมลพิษทางดิน ทางน้ำ และทางอากาศลงได้ เนื่องจากพลาสติกมีองค์ประกอบของคาร์บอนและไฮโดรเจนที่สูง จึงควรนำเทคโนโลยี 'แก๊สซิฟิเคชัน' หรือ กระบวนการแปลงวัสดุคาร์บอนพื้นฐานให้กลายเป็นแก๊ส มาใช้แปรรูป
ขั้นตอนการ แก๊สซิฟิเคชัน จะแปรรูปของแข็งและของเหลว เช่น ขยะชุมชนหรือชีวมวลอื่น ๆ ด้วยความร้อนระดับที่ไม่ถึงการเผา และมีการจำกัดปริมาณออกซิเจนที่จะผ่านเข้าไป ซึ่งความร้อนระดับนี้จะทำให้โมเลกุลของสสารแตกตัว ได้ผลลัพธ์ออกมาเรียกว่า 'ซินแก๊ส' หรือ แก๊สเชื้อเพลิงผสม ที่สามารถนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าหรือใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตได้ ไม่ต่างกับเชื้อเพลิงชนิดอื่น
นอกจากนี้ แก๊สซิฟิเคชัน ยังเป็นกระบวนการที่ดีต่อคุณภาพอากาศ เพราะปล่อยซัลเฟอร์และไนโตรเจนออกไซด์ในปริมาณที่น้อยกว่า ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่าการเผาขยะ หรือการฝังกลบจนเกิดผลเสียโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม