เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการเผยแพร่ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดมาตรฐานสินค้า : ปลาร้าตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 โดยระบุว่า
ด้วยคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรเห็นสมควรกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องปลาร้าเป็นมาตรฐานทั่วไปตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร 2551 เพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 มาตรา 15 และมาตรา 16 แห่งพ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 ประกอบมติคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ในการประชุมครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2561 รมว.เกษตรและสหกรณ์จึงออกประกาศกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : ปลาร้า มกษ. 7023-2561 ไว้เป็นมาตรฐานทั่วไป
สำหรับเนื้อหาในประกาศเกี่ยวกับปลาร้าระบุตั้งแต่คำอธิบาย กระบวนการผลิต ส่วนประกอบและเกณฑ์คุณภาพ ซึ่งประกอบด้วยคุณลักษณะทางกายภาพที่ต้องคลุกเคล้ากันพอดี ไม่แห้งหรือเละเกินไป เนื้อปลานุ่ม หนังไม่ฉีกขาด มีสีตามลักษณะเฉพาะของเนื้อปลา กลิ่นหอมตามลักษณะเฉพาะของปลาร้า ไม่มีกลิ่นคาว เหม็นอับ เหม็นเปรี้ยว
สำหรับการใส่เกลือ ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 18 โดยน้ำหนัก ไม่พบพยาธิตัวจี๊ดและตัวอ่อนพยาธิใบไม้ในตับ ไม่มีสิ่งแปลกปลอม แมลง ชิ้นส่วนสัตว์ที่ไม่ใช่ปลา และปลาที่ไม่ได้บรรจุในฉลาก ห้ามใช้สีและวัตถุกันเสีย สารปนเปื้อนต้องไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด
ซึ่งหลังมีประกาศดังกล่าวออกมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตปลาร้าในจังหวัดร้อยเอ็ดเผยว่า ปลาร้าที่ดีต้องมีกลิ่นเฉพาะ มีหนอนบนปากโอ่ง ผ่าน อย. ซึ่งสวนทางกับประกาศ สธ. นอกจากนี้ผู้ทำธุระกิจปลาร้ารายย่อยมองว่าการจำกัดมาตรฐานปลาร้า อาจกระทบอาชีพทำปลาร้า ที่จะสู้กับการทำปลาร้าในระบบโรงงานไม่ได้
ด้านนักวิเคราะห์มองว่าการ 'การนิยาม' หรือกำหนดมาตรฐานเช่นนี้ จะกระทบ start up thai และนำไปสู่การผูกขาดทางการค้า และการทำปลาร้าก็เป็นภูมิปัญญาในภูมิภาคนี้ ไม่ได้เป็นของไทย