รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 19 สิงหาคม 2563
“ประยุทธ์” ส่อน้ำตาตก! เมื่อจู่ ๆ “อนุทิน” ขน 61 ส.ส. ภูมิใจไทย แถลงจุดยืนแก้รัฐธรรมนูญ และพร้อมยุบสภา เลือกตั้งใหม่ทันที ที่มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน “อ.พิชญ์” ยังงงท่าที แต่อดแซวไม่ได้ “เพียงชั่วข้ามคืน” วันก่อนยังเป็น “ลูกป้อม” อยู่เลย ปม “อนุทิน” หนุนความเห็น “ประวิตร” มองม็อบชู 3 นิ้ว เป็นลูกเสือ
งานนี้ห่วง “ศรีนวล” เลือกตั้งใหม่....ไปแน่ ๆ
ที่รัฐสภา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วย ส.ส.ของพรรคทั้ง 61 คน แถลงถึงข้อเสนอของพรรคต่อกรณีข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ว่า
1.พรรคภูมิใจไทย สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ และเสนอให้รัฐสภาพิจารณารับรองตามกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
2.พรรคเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไม่กระทบหมวด 1 และ หมวด 2 อันเป็นลักษณะสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
3.พรรคเสนอให้ ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน มีความเป็นอิสระในการยกร่างรัฐธรรมนูญทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน
4.พรรคภูมิใจไทยพร้อมให้การสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญของส.ส.ร. เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแล้วพรรคเห็นด้วยที่จะให้มีการยุบสภา เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ให้เป็นไป ตามเจตนารมณ์ และข้อเสนอของภาคประชาชน
5.พรรคไม่สนับสนุนการคุกคามผู้เห็นต่างทุกกรณี เพราะการรับฟังความเห็นต่างเป็นลักษณะสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
6.การสนับสนุนข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคภูมิใจไทย เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลเร่งด่วนของรัฐบาล ในข้อ 12 ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อรัฐสภา ว่าสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า พรรคภูมิใจไทยมีความเห็นอย่างไรต่อเรื่องอำนาจและที่มาของส.ว. หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคสนับสนุนให้มี ส.ส.ร.ที่จะทำหน้าที่พิจารณา และกำหนดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะนำเสนอต่อรัฐสภาต่อไป
นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า สำหรับการยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในส่วนของพรรคนั้น ตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่าการยื่นญัตติแก้ไขจะต้องใช้เสียงส.ส.ไม่น้อยกว่า 100 คน ซึ่งพรรคภูมิใจไทยมีส.ส. 61 คน จำเป็นต้องหาสมาชิกจากพรรคการเมืองอื่นที่มีแนวทางเดียวกับเรา คือการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีส.ส.ร.เข้ามาเพิ่ม ดังนั้น หาก ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นที่มีแนวคิดเดียวกับเรา ก็สามารถมาร่วมลงชื่อด้วยได้ ซึ่งคาดว่าจะได้รายชื่อครบตามจำนวนภายในสัปดาห์นี้ และจะยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคภูมิใจไทยต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ภายในสัปดาห์นี้ หรืออย่างช้า คือวันจันทร์ที่ 24 ส.ค. และหากพรรคการเมืองอื่นมีการเสนอร่างแก้ไขของตัวเอง หากมีแนวทางที่ตรงกับพรรคภูมิใจไทย เราก็อาจไปร่วมลงชื่อด้วยได้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้พรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรค เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของตัวเอง ว่า
ในการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้หารือถึงเรื่องนี้ และมีความเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งพรรคมีจุดยืนชัดเจนมาตั้งแต่ต้น ที่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และประเด็นอื่นใด ที่นำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น พรรคยินดีสนับสนุน นอกจากนี้ที่ประชุม ส.ส.พรรคมอบหมายให้ตัวแทนของพรรคที่อยู่ในคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร ไปเร่งการทำงานเพื่อให้ออกข้อสรุปโดยเร็ว
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นอื่นๆ นอกจากกรณีมาตรา 256 ประกอบด้วย
1.การให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
2.สิทธิเสรีภาพของประชาชน
3.การกระจายอำนาจสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น
4.ระบบการเลือกตั้งที่ควรยกเลิกระบบบัตรใบเดียวซึ่งนำไปสู่ผลการเลือกตั้งที่เป็นเบี้ยหัวแตก เปลี่ยนเป็นใช้ระบบบัตรลงคะแนน 2 ใบ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก และสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนได้
5.การแก้ปัญหาการตรวจสอบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีหากมีผู้ร้องเรียนกับการทำงานของ ป.ป.ช. โดยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บัญญัติให้ยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภา ซึ่งเรากังวลเรื่องนี้ เพราะการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานรัฐสภาว่าต้องเป็นส.ส.จากฝ่ายรัฐบาล อาจทำให้เกิดปัญหาได้ เราจึงคิดว่าควรใช้กลไกอื่นๆ ที่มีความเป็นกลางมากกว่า อาทิ ที่ประชุมศาลฎีกา เป็นผู้พิจารณาตรวจสอบป.ป.ช.
6.การแก้ไขบทเฉพาะกาล ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้ตัวแทนของพรรค นำไปหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะแก้ไขในรายละเอียดอย่างไรบ้าง
เมื่อถามว่า การที่นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนแนวทางจากเดิมที่จะให้พรรคร่วมรัฐบาลเสนอร่างร่วมกัน มาเป็นให้แต่ละพรรคเสนอร่างของตัวเอง เป็นเพราะแต่ละพรรคมีความคิดเห็นแตกต่างกันในประเด็นที่ต้องการจะแก้ไข ใช่หรือไม่ / นายจุรินทร์กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้มอบหมายให้ตัวแทนไปหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล ขณะเดียวกัน เราไม่สามารถยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเองได้ เพราะเรามีส.ส. 52 เสียง แต่การยื่นญัตติต้องใช้เสียงส.ส. 98-100 เสียง เราจึงต้องอาศัยเสียง ส.ส.ของพรรคอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคที่ร่วมรัฐบาล