รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 17 เมษายน 2563
“อ.วิโรจน์” ซัดเปรี้ยง! จะนามสกุลอะไร ถ้าทำงานดี ก็ไม่มีใครด่า! หลัง “ปรีชา จันทร์โอชา” ที่ “ประยุทธ์” พี่ชาย ตั้งให้เป็น ส.ว. มากับมือ โอดถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นเพราะ “นามสกุล” เพราะหลักฐานชี้ชัดเป็น สนช.รับเงินเดือนเรือนแสนไปเต็ม ๆ แต่ปีนึงมาทำงานไม่ถึง 10 วัน จนโลกโซเชียลขนานนาม “บิดาแห่งการเวิร์คฟรอมโฮม”
แถมงานนี้ย้อนถามพวกเกลียดสภาผัว-เมีย ปมตั้งน้องเป็น ส.ว. ทำไมนั่งเงียบ
พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกระแสวิพากวิจารณ์ ภายหลังเข้าไปเป็นกรรมาธิการท่องเที่ยว วุฒิสภา ว่า ไม่มีอะไรเลย เข้าไปทำงานตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ใน 2 คณะ คือ คณะกรรมาธิการสาธารณสุข และ คณะกรรมาธิการท่องเที่ยว และช่วยเหลืองานทั้ง 2 คณะ มาโดยตลอด และยืนยันว่า สมัครใจเข้าไปทำงาน ไม่ได้มีใครแต่งตั้ง อีกทั้ง อยากใช้ประสบการณ์ ความรู้ที่มีให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม สำหรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ออกมานั้น น่าจะเป็นเพราะนามสกุล "จันทร์โอชา"
ขณะที่ พล.อ.บุญธรรม โอริส รองเลขานุการคณะกรรมาธิการท่องเที่ยว ชี้แจงถึงกระแสวิพากวิจารณ์ การแต่งตั้ง พล.อ.ปรีชา ว่า สืบเนื่องจากตำแหน่งในกรรมาธิการว่างลง พล.อ.ปรีชา จึงอาสาเข้ามาทำงานในคณะกรรมการชุดนี้ ยืนยันว่าไม่ได้มีใครตั้งใคร แต่เป็นการสมัครใจเข้ามาทำงาน เนื่องจากวิธีการเลือกคณะกรรมาธิการ คือเอาคนที่สมัครใจและมีทักษะ ในด้านนี้มาแล้ว ซึ่งกรรมาธิการคนหนึ่ง สามารถเลือกทำงานได้ 2 คณะ
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีอดีตนายทหารหลายคนนั่งเป็นคณะกรรมการท่องเที่ยว พล.อ.บุญธรรม กล่าวว่า คณะกรรมชุดนี้ มีทั้งหมด 19 คน 14 คน เป็น สมาชิกวุฒิสภา ( สว.)และ อีก 5 คนเป็นพลเรือน โดยทั้งหมดมีความรู้ความสามารถ
และคณะกรรมาธิการท่องเที่ยว ทำงานกันมานานแล้ว ไม่ใช่พึ่งมี เพียงแต่ว่า พอมี พล.อ.ปรีชา เข้ามาเป็นกรรมธิการ อีกคน ก็กลายเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับ 12 นายพล ที่นั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการท่องเที่ยวด้วย อยากให้ไปดูโปรไฟล์ของแต่ละท่านว่าผ่านงานอะไรมาบ้าง แต่ละท่านเป็นคนเก่งและมีประสบการณ์ส่วนตัวผ่านการทำงานด้านการท่องเที่ยวมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2550 เป็นกรรมาธิการท่องเที่ยวสภาช่วงที่ยังไม่มีรัฐประหารมาด้วยซ้ำ ทุกท่านมีองค์ความรู้ เราทำงานปิดทองหลังพระตลอด
พล.อ.บุญธรรม ยังกล่าวอีกว่า เรามีหน้าที่ติดตามเร่งรัด ตรวจสอบ เสนอแนะรัฐบาล ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 เรื่องเร่งรัดการปฏิรูปประเทศช่วง 5 ปีแรกเพื่อให้สอดคล้องยุทธศาสตร์ 10 ปี ที่รัฐบาลกำหนดไว้ แต่เมื่อเกิดปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เราต้องปรับเปลี่ยนการทำงานใหม่ด้วยการเสนอรัฐบาลว่าควรทำอย่างไร เพื่อให้การท่องเที่ยวสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เราประชุมผ่านระบบคอนเฟอเร้นท์กันทุกวัน โดยที่ผ่านมาเราเสนอแนะไปหลายเรื่อง ทั้งการใช้งบประมาณเพื่อไปดำเนินการแก้ไขปัญหาการ แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 หรือแม้แต่กระทั้งไม่เห็นด้วยในการที่รัฐบาลกู้เงิน 1ล้านล้านบาท เราอยู่เบื้องหลังการทำงานทั้งหมดแต่ไม่เคยไปโปรโมทตนเอง และการทำงานแต่ละครั้งไม่เคยมีเบี้ยเลี้ยง หรือ งบประมาณ เราใช้เงินเดือนของแต่ละคน