บริษัทในเดนมาร์กสร้างสรรค์แอปพลิเคชันที่จะมาช่วยด้านการแพทย์ โดยแอปฯ นี้จะรวบรวมข้อมูลของผู้ป่วยผ่านโทรศัพท์มือถือ ก่อนจะนำมาวิเคราะห์และให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตได้แบบเรียลไทม์
แอปพลิเคชันสัญชาติเดนมาร์กนี้มีชื่อว่า ‘มอนเซนโซ (Monsenso)’ ที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อช่วยวิเคราะห์การเคลื่อนไหวร่างกาย รูปแบบการใช้ภาษา และข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยรักษาความผิดปกติทางจิตได้ เช่น โรคไบโพลาร์
โดยหากผู้ใช้แอปฯ นี้ไม่ได้ขยับออกจากเตียง ไม่ได้ต่อสายหาใคร และไม่ได้ติดต่อกับอุปกรณ์มือถือใดภายในเวลาหรือวันที่กำหนด ระบบจะต่อสายไปยังคนในครอบครัวหรือโรงพยาบาลทันที ซึ่งจะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ในกรณีที่อาการทรุด หรือส่งสัญญาณเตือนถึงการพยายามฆ่าตัวตายของผู้ป่วยได้เช่นกัน
คนไข้ไบโพอาร์สองคนที่ได้เข้าร่วมการทดลองนี้คือ แมดส์ ทริเออร์-บลอม (Mads Trier-Blom) วัย 42 ปี และปีเตอร์ เฮจแลนด์ (Peter Hegeland) วัย 32 ปี ให้ความเห็นว่า บางครั้งเวลารู้สึกซึมเศร้า อาจเป็นการยากที่จะบอกคนอื่นว่า ‘ฉันต้องการความช่วยเหลือ’ แต่แอปฯ นี้ช่วยให้จิตแพทย์สังเกตถึงความผิดปกติของผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว และถ้าได้รับการรักษาเร็วเท่าไร ยิ่งทำให้อาการดีขึ้นเท่านั้น
ด้านจิตแพทย์คริสโตเฟอร์ โซเดอร์สเตน (Kristoffer Sodersten) เพิ่งเริ่มนำแอปฯ นี้มาใช้กับคนไข้ในคลินิกของเขาที่เมืองโกเธนเบอร์ก ประเทศสวีเดน ซึ่งเขามองว่า แอปฯ นี้ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ของคนไข้และแพทย์ได้ เพราะการเผชิญหน้ากันโดยตรงอาจทำให้เกิดอคติซึ่งเกิดจากเพศ วัฒนธรรม และเคมีระหว่างบุคคล นอกจากนั้น เขายังมองว่าเทคโนโลยีนี้ปฏิวัติอุตสาหกรรมการแพทย์ เพราะข้อมูลคนไข้ที่ได้จากแอปฯ นั้นสามารถนำไปสู่การวินิจฉัยโรคที่ดีขึ้นได้