บริษัทสตาร์ตอัปในประเทศศูนย์กลางเทคโนโลยีอย่างอินเดียแทบจะไม่มีผู้ก่อตั้งเป็นผู้หญิงเลย ซึ่งรัฐบาลกำลังหามาตรการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ดังกล่าว ควบคู่ไปกับการสร้างงานอีกหลายล้านตำแหน่ง ขณะที่ไทยก็มีปัญหาที่คล้ายกันโดยผู้หญิงในวงการไอทียังมีความรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียม
ข้อมูลจากบริษัทซอฟต์แวร์รายใหญ่ของอินเดียอย่าง NASSCOM ระบุว่า ปัจจุบันในอินเดียมีจำนวนผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิงอยู่ประมาณ 8-10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับสถานการณ์ในประเทศคู่แข่งด้านเทคโนโลยีอย่างสหรัฐฯ โดยรายงานของ American Express ระบุว่า เมื่อปีที่ผ่านมาบรรดาบริษัทเอกชนต่างมีผู้ก่อตั้งและเจ้าของเป็นผู้หญิงมากถึง 39 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของทั้งโอกาสและความเท่าเทียมในการสร้างรายได้ในฐานะการเป็นนักธุรกิจหญิงในประเทศที่เทคโนโลยีกำลังเติบโตอย่างมากอย่างอินเดีย ซึ่งนายเคเอส วิชวนาทาน รองประธานฝ่ายโครงการของบริษัทแนสคอม ได้ขึ้นกล่าวในงานประชุมที่จัดขึ้นโดยบริษัทเฟซบุ๊กในกรุงนิวเดลี ซึ่งเป็นงานที่ต้องการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการมีบทบาทของผู้หญิง โดยเขาระบุว่า เขามีความคาดหวังว่าภายในระยะเวลาอีกประมาณ 4-5 ปีข้างหน้า ผู้หญิงในอินเดียจะสามารถขึ้นมามีบทบาทในลักษณะของการเป็นเจ้าของธุรกิจและผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ตอัปในวงการเทคโนโลยีกันมากขึ้น
ขณะที่นายซัทยาจีต ซิงห์ หัวหน้าด้านแพลตฟอร์มพาร์ตเนอร์ชิปของบริษัทเฟซบุ๊ก ได้ขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้เช่นกัน โดยกล่าวว่าทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนให้ผู้หญิงในอินเดียกล้าที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และสร้างธุรกิจทางเทคโนโลยีขึ้นมาเอง แทนที่จะรอเข้าไปเป็นลูกจ้างของบริษัทอื่น ๆ อย่างเดียว ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เขากำลังตั้งใจทำอยู่ก็คือการจัดงานพบปะให้กับผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจหญิงราว 170 คนใน 24 เมืองใหญ่ของอินเดียอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา เพื่อสร้างแรงผลักดันและบ่มเพาะทักษะให้กับคนกลุ่มนี้
นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลการสำรวจจากเฟซบุ๊กเมื่อปีที่แล้วออกมายืนยันอีกด้วยว่า ผู้หญิงอินเดียกว่า 4 ใน 5 คน มีความต้องการที่จะเป็นเจ้าของบริษัทด้านเทคโนโลยีของตัวเอง แต่ในโลกแห่งความจริงกลับมีคนที่ทำเช่นนั้นได้น้อยมากเพราะมีหลายปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวย จนทำให้ประเทศไม่สามารถดึงศักยภาพของประชาชนออกมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากคิดเป็นจำนวนเงินที่อินเดียต้องสูญเสียไป ก็ถือว่าเป็นการขาดทุนมูลค่ามหาศาลจากการที่รัฐบาลยังไม่สนับสนุนผู้หญิงเท่าที่ควร
ปัจจุบันภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการผลักดันเทรนด์การออกมาสร้างธุรกิจเองของผู้หญิงอินเดีย โดยบริษัทกูเกิลซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทเทคโนโลยีคู่แข่งของอินเดีย ได้มีมาตรการสนับสนุนมากมายที่เอื้อให้กับผู้หญิงอินเดียที่มีไอเดียอยากเปิดตัวธุรกิจสตาร์ตอัปของตัวเอง ขณะที่บริษัทแนสคอมของอินเดียเองก็จัดตั้งโปรแกรมการฝึกทักษะสำหรับผู้หญิงที่สนใจงานด้านไอที ซึ่งหลังจากที่บริษัทแนสคอมเปิดตัวโปรแกรมดังกล่าวไปก็ได้ผลตอบรับดีเกินคาด ด้วยยอดสมัครเข้าร่วมโครงการเกือบ 5,000 คนแล้ว
World Economic Forum เคยเปิดเผยข้อมูลไว้เกี่ยวกับประเด็นนี้ด้วยว่า สาเหตุที่มีผู้หญิงทำงานในสาขาเทคโนโลยีและสาขาที่เกี่ยวข้องค่อนข้างน้อยกว่าผู้ชายอย่างเห็นได้ชัดในทุกสังคม มีสาเหตุหลักมาจากการที่พวกเธอขาดการสนับสนุนอย่างจริงจัง ซึ่งผู้หญิงมีความท้อใจอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้วและยังอาจขาดคนต้นแบบที่จะเดินรอยตาม ประกอบกับการมีแรงกดดันในเชิงลบจากเพื่อนร่วมงานและมีการล่วงละเมิดหรือการข่มขู่ ทำให้บ่อยครั้งที่กลุ่มผู้หญิงที่มีจำนวนไม่มากเหล่านี้ยังถูกตัดสินล่วงหน้าจากความเป็นเพศหญิง รวมทั้งมีปัญหาด้านเชื้อชาติอีกด้วย จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถดึงดูดใจผู้หญิงให้เข้ามาสู่อาชีพเทคโนโลยีได้มากเท่าที่ควร
ขณะที่ในประเทศไทย ผู้หญิงเริ่มก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นอย่างมากในวงการสตาร์ตอัปและเทคโนโลยี นักพัฒนาแอปพลิเคชันมากมายเริ่มมีความหลากหลายทางเพศยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีที่ความเท่าเทียมกันในวงการเทคโนโลยีจะกลายเป็นสิ่งที่ดูไปห่างไกลจากความเป็นจริงอีกต่อไป โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ด้านเทคโนโลยีชื่อดังของไทยอย่าง Techsauce ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นผู้หญิงไอทีของไทยเกี่ยวกับประเด็นนี้ภายใต้ชื่อ Woman in Tech Survey เพื่อค้นหาคำตอบว่าผู้หญิงในวงการเทคโนโลยียังคงมีจำนวนน้อยอยู่จริงหรือไม่ และมีส่วนใดที่ต้องการสนับสนุน
ผลสำรวจปรากฏว่า 71 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามเป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในองค์กรใหญ่ ส่วนที่เหลือนั้นเป็นผู้หญิงที่ทำงานอยู่ในวงการสตาร์ตอัป และมีการแยกย่อยลงไปอีกว่าในบรรดาผู้หญิงในวงการไอทีเหล่านั้นมี 29 เปอร์เซ็นต์ที่ทำงานอยู่ในสาย Business และ Marketing ขณะที่อีกประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์ทำงานในตำแหน่ง Developer และ Programmer ซึ่งมีผู้ที่เป็นระดับ C-Level หรือตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง อยู่เพียง 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จะเห็นได้ว่า มีผู้หญิงที่ทำงานด้าน Developer มีจำนวนอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
นอกจากตัวเลขที่เป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว ผลการสำรวจจากเว็บไซต์ Techsauce ยังชี้ด้วยว่า ในสายงานเทคโนโลยียังคงมีความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง และยังต้องการการส่งเสริมและสนับสนุนด้านความเท่าเทียมในการทำงานมากขึ้น เช่นต้องการให้มีการส่งเสริมในเรื่องของตำแหน่งงาน เพราะการเลื่อนตำแหน่ง มักจะพิจารณาผู้ชายก่อนเสมอ หรือแม้กระทั่งโอกาสในการแสดงความคิดเห็น และการตัดสินใจ แจกแจงหน้าที่ การเป็นผู้นำ ก็ยังคงเป็นผู้ชาย รวมถึงอยากให้มีผู้หญิงที่เป็น CEO และ CTO เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องการให้มีการส่งเสริมให้ผู้หญิงสามารถทำงานหลัก ๆ ได้ ไม่ใช่ทำเป็นแค่งานสายสนับสนุน พร้อมกับการมองว่าผู้หญิงสามารถทำงานได้เยอะ ส่งเสริมให้ผู้หญิงสามารถเป็นผู้นำได้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าบางองค์กรอาจยังมีอคติเช่นนี้อยู่
นอกจากนี้ ความเห็นส่วนใหญ่จากการสำรวจยังพบว่า ผู้หญิงมักมีปัญหาด้านการทำงานร่วมกับผู้ชาย เช่น บางบทสนทนาที่ผู้หญิงไม่สามารถพูดคุยกับกลุ่มผู้ชายได้ ซึ่งคาดว่าปัญหานี้น่าจะมีอยู่ในทุกวงการ และยังรวมไปถึงเรื่องของความน่าเชื่อ การไม่ได้รับการยอมรับ ถูกดูถูกว่าไม่สามารถทำงานได้เก่งเท่าผู้ชาย และทำให้ได้รับค่าตอบแทนหรือโอกาสน้อยกว่า ทั้งนี้ บางคนมีปัญหาอุปสรรค์ด้านทักษะของการสร้าง Connection ที่ยังไม่เก่งเท่าผู้ชาย อีกทั้งด้านความคิดที่บางคนไม่ค่อยมั่นใจ ว่าผู้หญิงจะมีความสามารถในการคิดเชิงซับซ้อนมากกว่าผู้ชาย เพราะถูกมองว่าเป็นเพศที่ใช้อารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผลอีกด้วย