เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นาซาได้ประสบความสำเร็จกับภารกิจครั้งประวัติศาสตร์ในการปล่อยยานอวกาศ 'พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ' มุ่งหน้าสู่ดวงอาทิตย์ เพื่อสำรวจลมสุริยะในระยะที่ใกล้กว่าที่ยานอื่นเคยทำไว้ หลังจากที่การปล่อยยานต้องเลื่อนมา 1 วัน เพราะมีเหตุขัดข้องทางเทคนิค
ยาน ‘พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ’ ของนาซา ถูกปล่อยตัวขึ้นสู่ชั้นอวกาศ จากแหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 12 สิงหาคมเวลา 3:31 น. หรือตรงกับ 14:31 น. ตามเวลาในประเทศไทย หลังจากที่การปล่อยยานถูกเลื่อนมา 1 วัน เพราะพบเหตุขัดข้องบางอย่างในช่วงเตรียมความพร้อมของการปล่อยยาน โดยหลังจากการปล่อยตัวไม่ถึง 1 ชั่วโมง นาซาก็ประกาศยืนยันว่า ยาน ‘พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ’ บินขึ้นสู่ชั้นอวกาศได้สำเร็จและเริ่มการเดินทางมุ่งหน้าสู่ดวงอาทิตย์แล้ว
ยาน ‘พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ’ ลำนี้มีความเร็วอยู่ที่ 190 กิโลเมตรต่อวินาที ถือว่าเป็นวัตถุที่เคลื่อนที่ได้เร็วที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้าง และจะใช้เวลา 7 ปี ในการเดินทางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ที่ระยะห่าง 6 ล้าน 1 แสนกิโลเมตรจากดวงอาทิตย์
หลังจากที่ตัวยาน ‘พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ’ เข้าถึงตำแหน่งดังกล่าวแล้วในอีก 7 ปีข้างหน้า ตัวยานจะทำการโคจรรอบดวงอาทิตย์ทั้งหมด 24 รอบเพื่อสำรวจบริเวณที่เรียกว่า ‘โคโรนา’ ซึ่งเป็นชั้นบรรยากาศแผดเผาของดวงอาทิตย์ ที่เต็มไปด้วยพลาสมาและอนุภาคพลังงานสูงที่ปลดปล่อยพายุสุริยะผ่านอวกาศมายังโลก จากนั้นก็จะส่งข้อมูลกลับมายังโลกที่อยู่ห่างออกไป 140 ล้านกิโลเมตร ถือเป็นการสำรวจที่เข้าใกล้พื้นผิวดวงอาทิตย์มากกว่ายานอวกาศลำอื่นถึง 7 เท่า
ยาน ‘พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ’ มีขนาดเทียบเท่ากับรถยนต์คันเล็ก 1 คัน ถูกออกแบบให้ทนความร้อนได้เป็นอย่างดี โดยจะควบคุมอุณหภูมิภายในยานไว้ที่ 29 องศาเซลเซียส แม้ว่าอุณหภูมิภายนอกจะขึ้นสูงถึง 1,370 องศาเซลเซียสก็ตาม และโครงการสำรวจดวงอาทิตย์ครั้งนี้ ใช้งบประมาณสูงถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 5 หมื่นล้านบาท ถือเป็นภารกิจแรกของโครงการ ‘ลิฟวิง วิธ อะ สตาร์ (Living With a Star)’ ของนาซา ที่หวังศึกษาพื้นผิวของดวงอาทิตย์เพื่อเรียนรู้การเกิดลมสุริยะ ซึ่งจะช่วยในการคาดการณ์สภาพอากาศของโลก รวมถึงจะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารต่อไปด้วย
เดิมทียาน ‘พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ’ มีกำหนดปล่อยยานที่แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา ในวันที่ 11 สิงหาคม แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นหลังจากที่พบเหตุขัดข้องบางอย่างในช่วงเตรียมความพร้อมของการปล่อยยาน จนมีการเลื่อนเวลาปล่อยยานออกไปอีกเกือบ 1 ชั่วโมงในตอนแรก เพื่อเช็กระบบทั้งหมด แต่เมื่อถึงกำหนดแล้วก็ยังพบว่าระบบไม่มีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ ในการปล่อยยาน จึงต้องมีการเลื่อนการปล่อยยานไปเป็นวันที่ 12 สิงหาคมแทน
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวในวงการอวกาศของสหรัฐฯ ที่น่าจับตามองอย่างมากคือการที่นายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ขึ้นกล่าวที่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เปิดเผยแผนการจัดตั้งกองทัพอวกาศของสหรัฐฯ โดยระบุว่าขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเตรียมความพร้อมสู่สนามรบแห่งใหม่ เพื่อปกป้องชาวอเมริกันจากภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดยเพนซ์บอกว่า ขณะนี้ รัสเซียและจีน กำลังลงทุนเป็นเงินจำนวนมหาศาลในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจอวกาศและการส่งดาวเทียมโคจรรอบโลก ซึ่งอาจจะทำให้ดาวเทียมของรัสเซียและจีน มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับดาวเทียมของสหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะเป็นภัยคุกคาม เนื่องจากการยิงขีปนาวุธรุ่นใหม่ ๆ มีการใช้ดาวเทียมเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อช่วยเพิ่มความแม่นยำ
นายเพนซ์ยังได้บอกถึงแผนการจัดตั้งกองทัพอวกาศแห่งสหรัฐฯภายในปี 2020 อย่างคร่าว ๆ โดยจะต้องเริ่มจากการก่อตั้งศูนย์บัญชาการอวกาศ ซึ่งจะเป็นองค์กรใหม่ที่มีฐานะเทียบเท่าศูนย์บัญชาการตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกของสหรัฐฯ เช่น ศูนย์บัญชาการในตะวันออกกลาง หรือศูนย์บัญชาการ อินโด-แปซิฟิก ในเอเชีย และจะใช้บุคลากรที่มีอยู่แล้วจากกระทรวงกลาโหมหรือกองทัพอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงผังโครงสร้างของกองทัพสหรัฐฯ ด้วย โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ได้ส่งรายละเอียดแผนการจัดตั้งกองทัพอวกาศไปให้สภาคองเกรสพิจารณาแล้ว
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าแผนการนี้จะไม่ผ่านการอนุมัติจากสภาพคองเกรสเนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งวุฒิสมาชิกหลายคนก็ได้แสดงจุดยืนแล้วว่าจะคัดค้านแผนการนี้ให้ถึงที่สุด เพราะมองว่าเป็นโครงการที่สิ้นเปลือง อย่าง เบอร์นี แซนเดอร์ วุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์มอนท์ ได้ทวีตข้อความบอกว่า 'เราควรจะเอางบประมาณมาพัฒนาระบบสาธารณสุขและประกันสุขภาพเพื่อช่วยชีวิตชาวอเมริกันที่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล ก่อนที่จะไปจัดตั้งกองทัพอวกาศก่อน ดีกว่าไหม'
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกคำสั่งโดยตรงไปยังกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ให้ดำเนินการโดยทันทีในการจัดตั้ง 'กองทัพอวกาศ' ในฐานะกองทัพที่ 6 ของสหรัฐฯ โดยกองทัพอวกาศนี้จะเป็นกองทัพใหม่ที่มีฐานะเทียบเท่ากองทัพอีก 5 กองทัพ ที่ทำหน้าที่ปกป้องมาตุภูมิของสหรัฐฯ ซึ่งประกอบไปด้วย กองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ นาวิกโยธิน และหน่วยยามฝั่ง ซึ่งตอนนี้ภารกิจสอดส่องและดูแลอวกาศเป็นความรับผิดชอบของกองทัพอากาศ แต่ทรัมป์บอกว่าแผนการของเขาคือการแยกกองทัพอวกาศออกมาเป็นกองทัพใหม่ ซึ่งจะมีฐานะเทียบเท่ากับกองทัพอื่น ๆ
ทรัมป์บอกว่าการปกป้องสหรัฐฯ จากภัยคุกคามต่าง ๆ แค่ส่งคนอเมริกันไปอยู่บนอวกาศยังไม่เพียงพอ แต่สหรัฐฯ ต้องเป็นเจ้าแห่งอวกาศด้วย โดยเขาจะไม่ยอมให้จีนหรือรัสเซียขึ้นมาเป็นผู้นำในเรื่องการสำรวจอวกาศ ซึ่งทรัมป์ยังได้สัญญาว่าเขาจะส่งนักบินอวกาศอเมริกันกลับไปที่ดวงจันทร์ และเดินทางไปยังดาวอังคารอีกด้วย