ผลวิจัยในอเมริการะบุว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งสมองที่ได้รับการบำบัดด้วยวัคซีนที่เกิดจากการตัดแต่งพันธุกรรมไวรัสโปลิโอ จะมีอายุยืนกว่าผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีปกติราว 17 เปอร์เซ็นต์
วารสารทางการแพทย์ New England Journal of Medicine ตีพิมพ์ผลการศึกษาล่าสุดของนักวิจัยอเมริกันจากสถาบันวิจัยมะเร็งดยุก (Duke Cancer Institute) ในเมืองเดอรัม รัฐนอร์ทแคโรไลนา ซึ่งศึกษาผู้ป่วยโรคมะเร็งสมองชนิดร้ายแรงอย่าง ‘ไกลโอบลาสโตมา (Glioblastoma)’ โดยค้นพบว่า 21 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดด้วยวัคซีนที่ได้จากการตัดแต่งพันธุกรรมไวรัสโปลิโอนั้นมักจะมีชีวิตต่อไปได้อีกสามปี ขณะที่ผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีตามมาตรฐานทั่วไปจะมีชีวิตยาวนานเช่นนี้เพียงสี่เปอร์เซ็นต์
โดยผู้ที่กลับมาป่วยเป็นโรคมะเร็งชนิดไกลโอบลาสโตมาส่วนใหญ่มักจะมีชีวิตต่อไปได้เฉลี่ย 12 เดือน ซึ่งแพทย์ใช้หลากหลายวิธีร่วมกันในการบำบัด ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด เคมีบำบัด การฉายแสง และการใช้ยารักษาแบบเจาะจงจุดมะเร็ง
สำหรับวัคซีนที่ใช้ในการทดลองนี้ได้มาจากการดัดแปลงพันธุกรรมวัคซีนโรคโปลิโอ ที่นำไปฝังไว้ในหลอดสวน เพื่อให้วัคซีนกระจายไปยังบริเวณเนื้องอกสมอง ซึ่งวัคซีนจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ไปกำจัดเซลล์เนื้องอกที่กำหนดไว้
จากการทดลองในขั้นแรกกับผู้ป่วย 61 คนพบว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ใช้วัคซีนนี้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้เฉลี่ย 12.5 เดือน ซึ่งมากกว่าผู้ป่วยทั่วไปที่อยู่ต่อได้เฉลี่ย 11.3 เดือน// โดยผู้ป่วยที่มีชีวิตยืนยาวกว่าสองปี ก็จะเห็นผลลัพธ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เนื่องจากมีผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนนี้ราว 21 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ต่อได้ถึงสองปี ขณะที่ผู้ป่วยทั่วไปมีโอกาสเพียงสี่เปอร์เซ็นต์ที่จะมีชีวิตอยู่ได้ในระยะเวลาเท่ากัน
โดยปัจจุบัน ทีมนักวิจัยกำลังดำเนินการค้นคว้าในขั้นที่สอง